Kid Safety ระวังภัย…ในพื้นที่เล่น

Alternative Textaccount_circle
event

            เมื่อลูกผ่านพ้นวัยเด็กน้อย กำลังจะก้าวสู่วัยเรียนรู้โลก ( 6 – 9 ขวบ) “โลก” สำหรับพวกเขาจึงไม่ใช่แค่ในรั้วบ้านแล้วละครับ แต่มันคือ ทุกพื้นที่ที่พบล้วนตื่นตาตื่นใจ น่าลองน่ารู้อย่างสนุกสนาน

ระวังภัย…ในพื้นที่เล่น

สนามเด็กเล่น คือพื้นที่เรียนรู้โลกกว้างของเด็กอีกแห่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

พื้นสนามต้องเป็นแบบที่สามารถดูดซับพลังงาน ป้องกันการกระแทกของศีรษะ และลดภาวะเลือดออกในสมองได้ เครื่องเล่นต้องยึดติดฐานรากไม่ล้มทับเด็ก และต้องจำกัดความสูงของเครื่องเล่น ไม่เกิน 1.8 เมตร

พื้นสนามที่ดีต้องประกอบด้วยวัสดุอ่อนนิ่มดูดซับพลังงานได้ เช่น ทราย ขี้เลื่อย ที่หนาอย่างน้อย 30

เซนติเมตร หรือพื้นสนามสังเคราะห์ที่ทำจากยาง หรือวัสดุอื่นที่มีการทดสอบแล้ว

ขณะที่พื้นสนามที่เป็นพื้นแข็ง เช่นซีเมนต์ อิฐสนาม ก้อนกรวด ยางมะตอย ทรายอัดแข็ง พื้นหญ้าธรรมดา มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บศีรษะรุนแรง

 

ข้อสังเกตเพื่อพ่อแม่

เลือกพื้นที่เล่นให้ลูกปลอดภัย

  • พื้นที่เดินและพื้นที่เล่นของเด็กในชุมชนต้องแยกออกจากถนนที่มียานพาหนะสัญจร

ในต่างประเทศการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรที่มีสถานที่พักผ่อน เช่น สวนหย่อม สนามเด็กเล่น หรือสระว่ายน้ำ มักมีทางเดินเท้า หรือทางจักรยานที่เด็กและผู้ใหญ่มาถึงได้โดยไม่ต้องข้ามถนนเลย

ขณะที่ในชุมชนเรามักอำนวยความสะดวกกับผู้ใหญ่มากกว่า เช่น ถนนในหมู่บ้านกว้างขวาง ขับรถได้สะดวกรวดเร็ว เด็กไม่สามารถเดินออกจากบ้าน หรือขี่จักรยานได้เองอย่างปลอดภัย

  • การลดความเร็วการขับขี่รถในเขตชุมชนและละแวกบ้าน จากการเก็บข้อมูลพบว่า การลดความเร็วของ

รถลงมาเหลือไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง อุบัติเหตุจากการถูกรถชน และบาดเจ็บของคนเดินถนนจะลดลงร้อยละ 24 และ45 ตามลำดับ

วิธีช่วยลดความเร็วในการขับขี่ ทำได้ตั้งแต่ ทำป้ายบอก แต่วิธีการนี้มักได้ผลไม่ดี ชุมชนต้องดัดแปลงถนนในเขตชุมชน หรือละแวกบ้าน ให้รถยนต์ไม่สามารถใช้ความเร็วได้ (traffic calming) ซึ่งมีหลายรูปแบบเช่น การทำให้ถนนแคบลง ช่วยลดความเร็วได้ประมาณ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือลดความเร็วได้ร้อยละ 28 การใช้สันชะลอความเร็ว (road hump)­­ หรือแถบลดความเร็ว (road strip) ช่วยลดความเร็วลงได้ประมาณ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อทุกความสูง 1 เซนติเมตรที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดความเร็วได้ประมาณร้อยละ 40

            “ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ จะต้องร่วมกันเอาใจใส่ทั้งการป้องกันและแก้ไขโดยเฉพาะในชุมชน เพื่อให้ลูกหลานของพวกเราสามารถสำรวจโลกนอกบ้านในสิ่งแวดล้อมที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัย ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ยังต้องสอนจุดเสี่ยงให้เด็กวัยนี้ด้วย และยังคงต้องตรวจสอบเด็กทุก 1-2 ชั่วโมงนะครับ”

 

 

บทความโดย : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพประกอบ : beeclassic

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up