งูออกมาจากส้วม

สยอง!! งูพุ่งออกมาจากโถส้วม โอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน

Alternative Textaccount_circle
event
งูออกมาจากส้วม
งูออกมาจากส้วม

จากข่าวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีชายหนุ่มโพสต์เหตุการณ์สุดระทึกภายในห้องน้ำ เมื่อชายหนุ่มได้โพสต์ภาพงูเหลือมตัวหนึ่ง กับรูปท่อนขาที่มีเลือดไหลอาบ เล่าว่าขณะกำลังทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำ ก็เจองูเหลือมตัวหนึ่งโผล่จากชักโครกมาฉกกัดบริเวณท่อนขาจนเลือดไหล

งูออกมาจากส้วม
งูออกจากส้วม โอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน

ทำไมงูถึงโผล่ขึ้นมาจากส้วม?

1.ตามกลิ่นเหยื่อเข้ามา เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง และหนู เพื่อจับเหยื่อกินเป็นอาหาร

2.หาแหล่งกบดาน ซ่อนตัว หลบหนีภัยจากศัตรูผู้ล่า หรือหาความอบอุ่น

3.หลงทางตาทมเส้นทางบังคับ เช่น เมื่อเห็นท่อระบายน้ำเป็นโพรง อุโมงค์พอดีตัว จึงเลื้อยเข้ามาในห้องน้ำ

4.หาสถานที่ทำรัง วางไข่ เมื่อเห็นช่องทางที่เหมาะสม เช่น ท่อ หรือรางน้ำ มีความสงบเงียบ ปลอดภัย

ชมคลิปเหตุการณ์จำลองว่าสิ่งมีชีวิตสามารถโผล่ขึ้นมาจากโถส้วมได้หรือไม่

เสียงจากนักจับงู “ยิ่งเมืองขยาย ยิ่งพบเพิ่มขึ้น”

เทวัญ กันหานินทร์ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญงาน ที่ผ่านประสบการณ์การจับงูในเมืองมากว่า 10 ปี ระบุว่า ปัจจุบันงูเพิ่มจำนวนให้จับถี่ขึ้นกว่าอดีต เนื่องจากที่อยู่ของคนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเข้าไปรุกล้ำที่อยู่อาศัยของงู

“นิสัยของงู ชอบอยู่ใกล้ๆ อาหาร พอบ้านคนมีหนู งูก็ชอบมาซุกอยู่ตามซอกบ้าน มาวางไข่บ้าง มาโผล่ทางชักโครกบ้าง เพราะมันอาจเข้ามาทางท่อระบายน้ำ แล้วเผอิญไปเจอรูทางเข้าเล็กๆ หรือรอบรั่ว รอยแตก มันก็เลื้อยไปเรื่อยๆ จนมาโผล่ทางชักโครก บางตัวก็เลื้อยมาจากทางอื่นแต่เข้าไปแอบในชักโครกก็มี อาจจะเพราะธรรมชาติของงูอยู่กับน้ำ

บ้านทั่วๆ ไป สามารถเป็นพื้นที่เสี่ยงได้ทั้งหมด ขอให้เป็นแหล่งชุมชน พื้นที่มีความชื้น หรือมีหญ้าขึ้นรกข้างบ้าน บ้านแบบนี้จะใช้บริการเรียกไปจับงูบ่อยๆ”

จากประสบการณ์การจับงูพบว่า 3 อันดับงูที่ชอบเข้าคนบ้านคนมากที่สุด คือ 1.งูเห่า 2.งูเหลือม 3. งูหลาม ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่จับได้ก็จะนำไปปล่อยในธรรมชาติห่างไกลจากบ้านคน

“เคยมีครั้งหนึ่งชาวบ้านแจ้งเข้ามาว่าพอใช้ชักโครกเสร็จแล้วกดน้ำลง ปรากฏว่างูไหลออกมา เขาตกใจมาก เลยทุบชักโครกดู ก็เจอลูกงูอีกเพียบ จนต้องเรียกกู้ภัยไปช่วย”เทวัญเล่าประสบการณ์

งูออกจากส้วม
งูออกจากโถส้วม

ด้าน อุกฤษฎ์ อินทรพักตร์ อดีตอาสาสมัครหน่วยแพทย์กู้ชีพ วชิระพยาบาลที่ผันตัวเองไปอยู่มูลนิธิกู้ภัยเอกชน เล่าถึงประสบการณ์การจับงูในส้วมและบ้านเรือนของคนว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทุกบ้าน โดยเฉพาะแหล่งชุมชนที่แออัด

“งูที่มีมากในย่านกลางเมืองจะเป็นประเภทไม่มีพิษ เช่น งูเหลือม และงูหลาม ส่วนงูพิษอย่าง งูเห่า งูจงอาง มักไม่ค่อยอยู่ในตัวเมืองมากนัก จึงจะเห็นข่าวว่าเจอบ่อยๆ แถบชานเมือง หรือต่างจังหวัด”อุกฤษฎ์ บอก

กู้ภัยหนุ่มยังเล่าอีกว่า ส่วนใหญ่งูที่เขาจับได้จะนำไปส่งที่สวนสัตว์เขาดิน พอถึงสิ้นปีก็เอาไปปล่อยพร้อมกันในป่า แต่บางหน่วยก็อาจจะขายให้คนที่มารับซื้อไปเป็นกิโล ๆ ซึ่งเราก็พอจะรู้ชะตากรรมของมัน

พื้นที่เสี่ยงงูโผล่ในบ้าน-ป้องกันอย่างไร?

นายสัตวแพทย์สุรศักดิ์ ปัดภัย สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์สวนหลวง (สาขาสวนหลวงร.9) กล่าวว่า พื้นที่ควรเฝ้าระวังงู มากที่สุดก็คือบ้านที่มีบริเวณใกล้เคียงเป็นป่า มีบึง หรือแหล่งน้ำ เพราะมักเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของหนูและนก

“ปัจจุบันงูสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองได้ดี จึงอยู่ได้ทุกที่ อาจจะมาทางช่องระบายน้ำเสียที่เชื่อมกับแหล่งน้ำ และเข้าไปอยู่ในห้องน้ำเพราะเงียบและเย็น คนจึงเจองูในนี้บ่อยๆ เขาอาจจะอาศัยหลบซ่อนชั่วคราว ในส่วนเว้าโค้งของชักโครกที่พอหลบได้ และส่วนใหญ่ก็เป็นงูเห่า เพราะงูชนิดนี้ปรับตัวเก่งและตัวเล็กกว่า งูเหลือม งูหลาม แต่ธรรมชาติเองของงูเห่าไม่ชอบน้ำเท่าไหร่  ดังนั้นเขาจะไม่ได้อยู่ถาวร แต่ต้องการแค่อาหารเท่านั้น”นายสัตวแพทย์สุรศักดิ์กล่าว

สัตวแพทย์ให้คำแนะนำอีกว่า จากการทดลอง พบว่ายังไม่เจอสารเคมีตัวไหนที่ป้องกันงูได้จริงๆ แต่ธรรมชาติงูมักไม่เข้ามาทางเดิมบ่อยๆ ดังนั้นถ้าจัดบ้านให้ไม่รก สะอาดแล้วงูรู้สึกไม่ปลอดภัยก็จะไม่กล้าเข้ามา

งูออกจากส้วม
วิธีป้องกันงูในชักโครก

“การป้องกันงูที่ดีเบื้องต้นคือความสะอาด และลดปริมาณหนู ถ้างูไม่มีแรงจูงใจก็จะไม่มา เพราะปกติมันไม่ชอบสุงสิงกับมนุษย์อยู่แล้ว”สัตวแพทย์หนุ่มกล่าว

ขณะที่ เทวัญ ให้คำแนะนำว่า บางพื้นที่ เช่นในต่างจังหวัด อาจมีบริเวณตัวบ้านติดอยู่กับ สวน ไร่ นา สามารถเลี่ยงการเผชิญหน้ากับงูได้ โดยการนำปูนขาวมาโรย หรือ น้ำมันเครื่องมาราดบริเวณที่งูชอบเลื้อยผ่านบ่อยๆ

1.ใส่ตะแกรง หรือช่องตาข่ายตะแกรงทีปลายท่อน้ำทิ้งด้านนอกอาคาร ท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำและห้องส้วม

2.ก่อนเข้าห้องน้ำ ให้เปิดไฟให้สว่างก่อน และส่งเสียงเพื่อเตือนงูให้หลบหนี

3.ก่อนที่จะใช้โถส้วมให้เคาะส่งเสียง และเปิดช้าๆ โดยสังเกตสิ่งผิดปกติภายในไปด้วย

4.เนื่องจากงูมีอวัยวะรับกลิ่นไว และไม่ชอบกลิ่นระคายเคือง เช่นน้ำยาดับกลิ่น เทลงในโถส้วม ป้องกันงูได้

5.ก่อนใช้ชักโครก ควรกดน้ำทิ้งก่อน 1 ครั้ง เพื่อความแน่ใจว่าจะไม่มีสัตว์มีพิษอยู่ในโถส้วม

ตั้งสติ-แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบผู้มาเยือน

หากพบงูในบ้านหรือโผล่ขึ้นในส้วมแล้วล่ะก็ “สติ” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ เทวัญ อยากให้คนเจอเหตุการณ์มี

“หนึ่งเราต้องตั้งสติ เพราะงูก็กลัวคน แต่ถ้าเรากลัวเราจะหลั่งสารออกมา งูรู้สึกได้และมันอาจเลือกทำร้ายเราเข้า ถ้าเมื่อไหร่คิดจะจับมันเอง ต้องมีความมั่นใจแล้วงูจะกลัวเราเอง แต่ผมก็ไม่แนะนำ ให้ทำเอง ถ้าไม่แน่ใจ แต่ควรพยายามดูว่าเป็นงูประเภทไหน ถ้าเป็นงูที่ไม่มีพิษ เช่นงูเหลือม สามารถเชือกมาคล้องที่หัวแล้วจับมันไปปล่อยได้ เว้นแต่งูพิษ ที่ควรให้คนมีความรู้เข้ามาจับดีกว่า

“หากพบว่าเราถูกงูกัดไปแล้ว ก็ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจและดิ้นรน เพราะจะทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม พยายามถอดเครื่องตกแต่งที่อยู่ใกล้แผลออกให้หมด ถ้าพบว่าบริเวณแผลมีเลือดไหล ก็ปล่อยให้ไหลไป เพื่อให้พิษออกมา พร้อมทั้งจัดท่านั่งให้ส่วนที่ถูกกัดต่ำกว่าหัวใจ ถ้างูกัดบริเวณแขน ขา สามารถนำผ้ามารัดเหนือแผลได้ แต่ต้องหมั่นคลายทุกๆ 15 นาที เพื่อป้องกันเซลล์ตาย และควรรีบไปโรงพยาบาล รวมทั้งควรถ่ายภาพหรือจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อแจ้งกับแพทย์ด้วย”เทวัญอธิบาย

สายด่วนช่วยเหลือเมื่องูเข้าบ้าน

งูออกจากส้วม
เรียกสายด่วนช่วยเหลือเมื่องูเข้าบ้าน

หน่วยงานที่รับเรื่องโดยตรงเกี่ยวกับจับสัตว์ร้ายที่เข้าบ้านคือสำนักบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ซึ่งหน่วยที่อยู่ใกล้บ้านของผู้แจ้งมากที่สุดจะมาถึงภายใน10 นาที โดยหมายเลขที่สามารถโทรติดต่อเมื่อสัตว์ร้ายเข้าบ้าน มีดังนี้

1.สายด่วน 199 สำนักบรรเทาและป้องกันภัยสาธารณะ หรือศูนย์ดับเพลิงกรุงเทพฯ

2.ส่วนด่วน 191 ศูนย์รับแจ้งเหตุมูลนิธิ

3.ร่วมกตัญญู 02-751-0951-3

4.มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง24 ชม. 02-226-4444-8 และมูลนิธิท้องถิ่น หรือกู้ภัยเทศบาลในท้องที่ต่างๆ

เครดิต: posttoday.com, Youtube TheMandros9, komchadluek.net

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up