Kid Safety – พิชิตปัญหาลูกติดเกม

Alternative Textaccount_circle
event

องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้ง สมาคมจิตแพทย์สหรัฐอเมริกาถือว่า “เด็กติดเกม” เป็น “ปัญหาระดับโลก” เลยทีเดียว

แม้แต่ประเทศจีน หรือ เกาหลีใต้ ซึ่งส่งออกเกมเป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล ก็พากันยกปัญหานี้เป็นประเด็นร้อน ที่ระดมสรรพกำลังเร่งแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น ในจีน พาเด็กติดเกมเข้าค่ายทหาร เพื่อฝึกวินัย ออกกำลังกาย เรียนรู้สังคม และการทำงานเป็นทีม

เกาหลีใต้ ก่อตั้งศูนย์บำบัดเด็กติดเกมโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางรัฐบาลก็ได้ฝึกบุคลากรนับพันคน เพื่อให้รักษาผู้เสพติดเกม โดยส่งไปประจำโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 190 แห่ง นอกนั้นยังส่งเสริม กีฬา ดนตรีและศิลปะกันอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้เด็กๆหันมาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์แทนการเอาแต่เล่นเกม

จะช่วยลูกๆหลานๆของเราให้รอดพ้นจาก ภัยเกม  ได้อย่างไร ?
1…สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกๆ

โดยรู้จักเปิดใจรับฟังลูกๆ ด้วยความเข้าใจ ไม่เอาแต่จ้องจะตำหนิติบ่น หรือก่นด่า ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่า”อบอุ่นและปลอดภัย” เมื่ออยู่ใกล้พ่อแม่ ให้พวกเขามั่นใจในความรักของเรา ให้พวกเขาเห็นว่าเราเป็นเสมือน”เพื่อนรุ่นพี่”ที่ทั้งน่าศรัทธาและเป็นกันเอง ไม่ใช่เป็นปีศาจร้ายที่อยากหนีไปไกลๆ

2… ไม่ถึงกับห้ามเล่นเกมอย่างเด็ดขาด เพราะหากหักดิบเช่นนั้น ในขณะที่ลูกกำลังติดเกม ก็เสี่ยงต่อการเกิดบาดหมางใจตามมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเห็นใจ ให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก ช่วยลูกเลือกเกม เช่น เกมที่เพิ่มทักษะทางด้านภาษา และ งดเกมประเภทไล่ล่าฆ่าฟัน หยาบคาย หรือความรุนแรงอื่นๆ

อย่างไรเสีย ข้อตกลงเพื่อจำกัดเวลาในการเล่น เป็นเรื่องจำเป็น เช่น ให้เล่นได้เฉพาะในวันหยุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง และมีเวลาพักระหว่างเล่นทุก 20 นาที เป็นต้น

 

3…ชักชวนลูกๆ ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อมาแทนที่การติดเกม
กิจกรรมที่อยากแนะนำคือ การท่องเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันทั้งครอบครัว  หรือที่ผู้ใหญ่ในยุคนี้มักจะหลงลืม  แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า เด็กๆ กลับตื่นเต้นและให้ความสนอกสนใจมากยิ่งกว่าที่เราคาดคิดไว้เสียอีก
เช่น  ไปหอสมุดแห่งชาติ…ท้องฟ้าจำลอง…พิพิธภัณฑ์…หอศิลป์…สวนสัตว์เขาดิน…วัดพระแก้ว  ฯลฯ

4…ค้นหาสิ่งที่ลูกของเราสนใจเป็นพิเศษ แล้วส่งเสริมสนับสนุนให้เหมาะสม

แล้วคุณจะแปลกใจ ปลื้มใจ และสนุกสนานไปกับกิจกรรมที่ลูกๆ ชอบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำอาหารเป็นพ่อครัวหัวป่าก์…เป็นนักกีฬาตัวน้อย…ดีเจวิทยุ…พิธีกรคนเก่ง…นักถ่ายรูปมือโปร ฯลฯ

 

5…จากการวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ระบุไว้ชัดเจนว่า  วิธีฝึกสมองที่ดีที่สุดคือ “การอ่านหนังสือ ”

ดังนั้น  ชวนลูกเข้าร้านหนังสือซิครับ! ให้เขาเลือกเล่มที่เขาชอบแล้วซื้อให้ ลงทุนเรื่องหนังสือนั้นคุ้มค่ากว่าอะไรอื่น โดยเฉพาะดีกว่าสะสมแผ่นเกมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย…


 

อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่า เล่นเกมจนเข้าขั้น “เสพติดเกม”

1… ใช้เวลาในการเล่นเกมอย่างหมกมุ่น เกินกว่าวันละ 2 -3 ชั่วโมง ทุกวัน

จากการสำรวจของศูนย์ป้องกันและแก้ไขเด็กติดเกม พบว่าบ้านเรานั้นมีเด็กกว่า 2 แสนคน ที่เล่นเกมติดต่อกันนานถึง 15 ชั่วโมง

2… ไม่ใช้เวลาว่างไปทำกิจกรรมอื่นๆ เลย นอกจากการเล่นเกม

3… การเรียนตกลงอย่างชัดเจน ไม่สนใจการเรียน ไม่มีสมาธิ บ่นว่าเรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง การบ้านค้างตลอด

ขาดเรียนบ่อย และ ถึงกับหนีเรียนไปเล่นเกม

4… จากที่เคยช่วยงานบ้าน กลับไม่ยอมทำอีกแล้ว พ่อแม่เคยใช้ไปทำอะไรช่วยซื้ออะไรก็ไม่ยอมไป ไม่ยอม

รับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ที่เคยทำ

5.. พ่อแม่ชวนไปไหนก็ไม่ยอมไป ชอบหลบๆเลี่ยงๆ ชอบเก็บตัว และหมกมุ่นอยู่แต่การเล่นเกม

6… กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่แปรงฟัน ไม่กินอาหาร นอนดึก หรือไม่ได้นอนตลอดคืน

กระทั่งอั้นถ่ายเบาถ่ายหนัก

7… มีความอยากเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่มีเงินก็จะใช้วิธีต่างๆเพื่อเอาเงินไปเล่นเกม เช่น ขอยืมเพื่อน

กระทั่ง “ขโมยเงิน” ทางบ้านหรือผู้อื่น เพื่อไปเล่นเกม

8… เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและร่างกาย เช่น ระบบประสาทส่วนกลางจะโดนกระตุ้นตลอดเวลา สารโดปามีนในสมองมีการเปลี่ยนแปลง เด็กๆจึงรู้สึกว่ายิ่งเล่นยิ่งสนุก ยิ่งเล่นยิ่งหยุดไม่ได้  และเกิดอาการโหยหางุ่นง่านหากไม่ได้เล่น

มีโอกาสเป็นโรคลมชักจากแสงที่วูบๆวาบๆ เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อเกร็ง โดยมักเริ่มจากนิ้วกลางและนิ้วชี้ที่มีอาการชา  แล้วลามมาถึงข้อมือ และมีอาการปวดเมื่อยที่หัวไหล่  และคอ

บทความโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพ Beeclassic

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up