สร้างวินัยเชิงบวก

เทคนิค สร้างวินัยเชิงบวก และ ทักษะชีวิตให้ลูก โดย ครูหม่อม – ปนัดดา ธนเศรษฐกร

Alternative Textaccount_circle
event
สร้างวินัยเชิงบวก
สร้างวินัยเชิงบวก

ครูหม่อม – ปนัดดา ธนเศรษฐกร แนะนำเทคนิค สร้างวินัยเชิงบวก ทั้งเรื่องการกิน นอน เล่น ตั้งแต่ยังเล็กๆ เพื่อเป็นทักษะชีวิตที่ดีให้ลูก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ พ่อแม่ควรทำอย่างไร ฝึกตัวเอง หรือ สอนลูกแบบไหน ตามดูกันค่ะ

ครูหม่อม แนะเทคนิค! สร้างวินัยเชิงบวก และ ทักษะชีวิตให้ลูก
เชื่อฟังพ่อแม่
เติบโตเป็นคนดี

คุณพ่อคุณแม่หลายคน น่าจะเคยเผชิญกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์น่าปวดหัว ที่ลูกรักสรรหามาให้ในแต่ละวัน จนบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ผู้แสนใจดี ก็ต้องแปลงร่างกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาลูกบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แสนเหน็ดเหนื่อย อย่างเวลาที่กินข้าว เวลาที่ลูกเล่นของเล่น เวลาที่เก็บของเล่น และเวลาที่ลูกนอน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา คุณพอ่คุณแม่ต้องเคยเจออย่างแน่นอน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีอย่างไร ในการสอนลูกให้เชื่อฟัง ให้ลูกยอมทำตาม ให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กดี โดยที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของลูกและไม่ทำลายความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ครูหม่อม – ปนัดดา ธนเศรษฐกร มีเทคนิคการสร้างวินัยและ ทักษะชีวิตให้ลูก มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

สร้างวินัยเชิงบวก
ครูหม่อม – ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้าน EF และการเลี้ยงลูกเชิงบวกสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

สร้างวินัยเชิงบวก กิน เล่น นอน: ช่วงเวลาปวดหัวที่พ่อแม่ต้องเจอ

เมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่จะต้องรบกับลูกเป็นประจำ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนจะต้องนึกถึงช่วงเวลา “การกิน” “การเล่น” และ “การนอน” อย่างแน่นอน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกมักจะดื้อ และงอแงที่สุด ครูหม่อมแนะนำว่า สื่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ ไม่ใช่การอดทน ไม่ใช่การพยายามใจเย็น แต่ต้องรู้จัก “ทำใจให้เป็น”

วิธีการทำใจให้เป็น เริ่มต้นจากการมองย้อนไปที่ตัวเรา สมัยที่ยังเป็นเด็ก ว่าเราเคยดื้อเวลากินข้าว เล่น และนอนบ้างหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต้องเคยเป็นแบบนี้มาก่อน ในวันนี้ที่เราเป็นพ่อแม่เสียเอง เราก็กำลังเผชิญกับเหตุการณ์เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ของเราเคยเจอเราแผลงฤทธิ์มาก่อน เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อเราทำใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เราจะสามารถก้าวไปยังสเต็ปต่อไปได้

ครูหม่อมเล่าว่า เด็กไทย 80% ต้องเคยกินข้าวพร้อมน้ำตามาก่อน เพราะพ่อแม่มักจะบังคับให้ลูกกินข้าว ซึ่งปัญหาที่เจอบ่อยที่สุดคือ ลูกมักจะกินข้าวแค่นิดเดียว แล้วก็ไม่ยอมกินต่อแล้ว เมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกให้ลูกกินต่อ บางครั้งลูกก็อาจงอแงไม่ยอมกินแล้ว หรืออาจบอกว่า อิ่มแล้ว ไม่อยากกิน ไม่ชอบกิน

การสอนลูกให้มีวินัย สร้างวินัยเชิงบวก ในการกินจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนลูก เมื่อลูกทำได้ ลูกก็จะมี “ทักษะการตัดสินใจ” ซึ่งทักษะนี้สามารถนำไปใช้ได้ ทั้งกับการกิน การซื้อของเล่น การเก็บของเล่น และการนอน โดยการเปิดโอกาสให้ลูกได้มีทางเลือก และรู้จักการตัดสินใจด้วยตัวเอง เมื่อคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ลูกตัดสินใจ ก็จะทำให้ลูกมีวินัยในการกิน การซื้อของเล่น การเล่นของเล่น และการนอนที่ดีขึ้น เพราะลูกได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้

 

กลไกปกป้องตัวเองของเด็ก

เวลาที่ลูกดื้อ งอแงไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมเก็บของเล่น ไม่ยอมนอน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บางคนมักจะทำ คือการดุลูก บังคับลูก ให้ลูกต้องทำตามความต้องการของตนเอง

ตัวอย่างเหตุการณ์:

เมื่อลูกกินข้าวไปแค่ไม่กี่คำแล้วหยุดกิน แม้ว่าพ่อกับแม่จะพยายามอธิบายว่า ถ้าไม่กินข้าวให้หมดเดี๋ยวจะหิวนะ แต่ลูกก็ยังยืนยันที่จะไม่กินข้าว พอเวลาผ่านไปสักพัก ลูกก็รู้สึกหิวก่อนจะถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป บทสนทนาที่มักเกิดขึ้น มี 2 รูปแบบ ดังนี้

  • ตำหนิลูก ด้วยคำพูดว่า “แม่บอกแล้วใช่ไหม ทำไมไม่ฟัง” การพูดแบบนี้ทำให้ลูกเสียใจ ร้องไห้ เพราะรู้สึกว่าแม่ไม่เป็นพวกเดียวกับตัวเอง แม่ไม่เข้าข้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคต ลูกก็จะไม่อยากเล่าให้แม่ฟัง เพราะกลัวว่าจะถูกตำหนิ กลัวว่าแม่จะไม่เป็นพวกเดียวกัน
  • ตามใจลูก ด้วยการหาอาหารให้ลูกกินทันที การทำเช่นนี้ จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เดี๋ยวแม่ก็หาอาหารมาให้ ไม่จำเป็นต้องกินให้อิ่มก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลามื้อต่อไป ยังไงก็ได้กินอยู่ดี ลูกก็จะยิ่งดื้อมากขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป

ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกบังคับ รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไม่ทางเลือก ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ จนเกิดกลไกการปกป้องตัวเองขึ้นใน 2 ลักษณะ ได้แก่

  • ปกป้องตัวเองด้วยการสู้ เถียง เอาชนะ พยายามแสดงอำนาจเหนือผู้ใหญ่
  • ปกป้องตัวเองด้วยการถอยหนี ไม่สู้ ไม่เถียง ไม่ทำ ไม่ฟัง ไม่หืออือ หรือแอบทำอะไรบางอย่าง โกหก และโทษคนอื่น

ซึ่งการที่เด็กต้องปกป้องตัวเอง เป็นเพราะเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย วินัยจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และคุณพ่อคุณแม่จะไม่ใช่เซฟโซนของลูกอีกต่อไป

 

วิธีแก้ไข สร้างวินัยเชิงบวก ไม่ให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ

แก้ได้ด้วยการแสดงความเข้าใจ เชื่อใจ แสดงให้ลูกเห็นและรู้สึก ว่าลูกเป็นคนที่มีความสามารถ ตัดสินใจในเลือกต่างๆ เองได้ และมีทางเลือกให้เลือก

ทุกการตัดสินใจมีผลตามมาเสมอ ผลที่ตามมาคือการเรียนรู้ ในกรณีที่ลูกไม่ยอมกินข้าว หรือกินข้าวไปแค่นิดเดียว ถ้าคุณพ่อคุณแม่บอกลูกว่า ถ้าไม่กินข้าว เดี๋ยวจะหิวนะ ลูกจะนึกไม่ออกว่าความหิวเป็นอย่างไร ทำไมต้องกังวลเรื่องความหิวด้วย เพราะลูกยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ จึงเริ่มเกิดการทะเลาะ และเกิดภาพจำของอารมณ์ที่ไม่ดี ทำให้รู้สึกไม่อยากกินข้าวกับพ่อแม่อีก ทั้ง ๆ ที่ช่วงเวลากินข้าวควรจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และได้รับความสำคัญ

เมื่อลูกกินข้าวไปนิดเดียว แล้วบอกว่าอิ่มแล้ว ไม่อยากกินแล้ว ถามลูกให้แน่ใจอีกครั้งว่า อิ่มจริงหรือไม่ ถ้าลูกยืนยันว่าอิ่มแล้ว สิ่งที่ตามมา ลูกต้องรับผิดชอบ เมื่อลูกรู้สึกหิวก่อนเวลา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูก และไม่ควรตามใจลูก แต่ใช้วิธี “แสดงความเข้าใจ” ให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และจะอยู่ข้างลูก ด้วยการบอกลูกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูหิว แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาอาหาร ไม่เป็นไรลูก ครั้งนี้เราตัดสินใจพลาด เอาไว้เดี๋ยวลองใหม่ครั้งหน้านะ ถ้าหนูหิว เดี๋ยวแม่จะนั่งเป็นเพื่อนหนูจนกว่าจะถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป”

การทำแบบนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่กำลังเข้าใจเขา และพ่อแม่พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขาเมื่อเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ขึ้น ลูกจะกล้าที่จะผิดพลาด และเมื่อเจอปัญหาในชีวิต ลูกก็กล้าที่จะมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง เพราะรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่ข้างเขา

 

การแสดงออกของลูก

ในทุกสถานการณ์ เมื่อลูกงอแง จะเกิดการแสดงออกพร้อมกัน 2 อย่าง คือ

  • อารมณ์
  • พฤติกรรม

คุณพ่อคุณแม่มักจะมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมของลูก เช่น ลูกร้องไห้ ลูกกรีดร้อง ลูกลงไปนอนดิ้นบนพื้น แต่ที่จริงแล้ว พ่อแม่ควรมุ่งความสนใจไปที่อารมณ์ของลูกมากกว่าพฤติกรรม และแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่เข้าใจ และพร้อมจะรับฟัง วันหนึ่งที่ลูกออกไปเผชิญโลกภายนอก แล้วโดนบูลลี่ ลูกก็รู้ว่าสามารถกลับมาเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ พ่อแม่จะเข้าใจและอยู่ข้างลูก วิธีการนี้ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังอายุหลักหลักเดือน สื่อสารกับลูกด้วย อวจนภาษา (non vobal) เพื่อทำให้ลูกเข้าใจภาษาเหล่านี้ได้ ต่อให้เริ่มสอนเมื่อลูกโตมาแล้ว ก็ยังสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลาให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับวิธีการสื่อสารของพ่อแม่

พฤติกรรมเป็นผลของอารมณ์ มุ่งเน้นการปรับอารมณ์ เมื่อลูกไว้ใจพ่อแม่ พฤติกรรมของลูกก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

ถ้าลูกอารมณ์ไม่ปกติควรปรับอารมณ์ลูกก่อน รอจนลูกและพ่อแม่อารมณ์ปกติ จึงค่อยสอนด้วยขั้นตอนดังนี้

  1. ตั้งเป้าหมาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้
  2. ตั้งเป็นคำถาม ถ้าครั้งหน้าลูกโกรธ โมโหอีก จะทำยังไงได้บ้างที่ไม่ใช่ตีเพื่อน ให้ลูกคิดเอง เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้

สร้างวินัยเชิงบวก

♥ หัวใจของการเลี้ยงลูกเชิงบวก

หากพ่อแม่อยาก สร้างวินัยเชิงบวก ให้ลูก การทำให้ลูกรู้สึกว่า

  • มีตัวตน
  • เป็นคนสำคัญ
  • มีความสามารถ

 

ทักษะในการรู้ใจตัวเอง เห็นใจผู้อื่น

การที่ลูกบอกว่าตัวเองต้องการหรือไม่ต้องการทำอะไรนั้น ถือเป็นพัฒนาการของเด็กในการสร้างตัวตนของตัวเอง ทำให้ลูกมีตัวตน เป็นการสร้างทักษะอารมณ์และสังคม เมื่อพ่อแม่แสดงความเข้าใจลูก ทำให้ลูกสร้างทักษะในการ “รู้ใจตัวเอง เห็นใจผู้อื่น” และสามารถที่จะสร้าง “คำศัพท์ทางอารมณ์” ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งคำศัพท์ทางอารมณ์นี้เกิดจาก “ความรู้สึก” บวกกับ “สถานการณ์ที่เป็นนามธรรม” จนกลายเป็น “รูปธรรม” ออกมา ซึ่งคำศัพท์ทางอารมณ์นี้คือสิ่งที่ทำให้ลูกรู้จักและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น รู้ว่านี่แหละคือความหิว นี่แหละคือความเสียใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นในอนาคต ลูกจะรู้วิธีในการสื่อสารกับคนรอบข้าง ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร

พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางจิตใจของลูก อย่าซ้ำเติมและทับถม แต่ต้องเข้าใจ และอยู่เคียงข้างลูก

 

ทักษะการให้ลูกทำด้วยตัวเอง

การให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองเป็นการช่วยเสริมทักษะให้ลูก เช่น ให้ลูกตักอาหารกินเอง เด็กที่กินน้อยจะกินเยอะขึ้นเมื่อลูกรู้จักการทำด้วยตัวเอง รู้จักการพึ่งพาตัวเอง และตระหนักรู้ในตัวตน ว่าตอนนี้กำลังหิวหรือกำลังอิ่ม ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ บริหารจัดการตัวเองได้ ถ้าผลออกมาไม่ดีอย่างที่คิด คุณพ่อคุณแม่ก็แสดงความเห็นใจ ถ้าผลออกมาดี คุณพ่อคุณแม่ก็ชื่นชม

 

อ่านต่อ.. เทคนิคการสร้างวินัยและ ทักษะชีวิตให้ลูก
โดยครูหม่อม – ปนัดดา ธนเศรษฐกร ..ที่หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up