นิทานอีสปสั้นๆ

10 นิทานอีสปสั้นๆ เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน พร้อมคติสอนใจ

Alternative Textaccount_circle
event
นิทานอีสปสั้นๆ
นิทานอีสปสั้นๆ

นิทานอีสปสั้นๆ เล่าให้ลูกฟัง สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน แต่ละเรื่องก็จะสอดแทรกข้อคิด คติสอนใจ ช่วยสอน และขัดเกลาจิตใจเด็ก ให้เติบโตเป็นเด็กดี

10 นิทานอีสปสั้นๆ เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน พร้อมคติสอนใจ

อีสป เป็นชื่อนักเล่านิทานหรือนักเล่าเรื่องชาวกรีกโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของนิทานจำนวนหนึ่งซึ่งปัจจุบันรู้จักกันรวม ๆ ว่า นิทานอีสป ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวม นิทานอีสปสั้นๆ สนุกๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านให้ลูกฟัง เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการด้านการฟัง การพูด และจินตนาการของลูกน้อย

นิทานอีสปสั้นๆ
นิทานอีสปสั้นๆ

10 นิทานอีสปสั้นๆ เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน พร้อมคติสอนใจ

เรื่องสุนัขจิ้งจอกกับผลองุ่น

วันหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ขณะที่สุนัขจิ้งจอกกำลังเดินเล่น…ผ่านเข้าไปยังสวนผลไม้
จนกระทั่งมาถึงพวงองุ่นช่อหนึ่งเพิ่งสุกเต็มที่ ซึ่งอยู่สูงตระง่าน
“มันจะช่วยดับกระหายของข้าได้” สุนัขจิ้งจอกกล่าว

มันถอยหลังไป 2-3 ก้าวแล้ววิ่งกลับมา…และกระโดด
แต่มันก็พลาด ไม่สามารถเก็บองุ่นช่อนั้นได้
มันทำเช่นเดิมอีกแต่ก็ยังไม่สำเร็จ

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มันพยายามอยู่เช่นนั้นหลังจากที่ได้เห็นอาหารล่อใจชิ้นนั้น
แต่สุดท้ายมันก็ต้องยอมแพ้ และเดินกลับออกมา
พร้อมเอ๋ยออกมาว่า “ฉันมั่นใจว่า…มันต้องเป็นองุ่นเปรี้ยวแน่ๆ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่ทำสิ่งใดไม่สำเร็จ…มักหาเรื่องตำหนิว่าสิ่งนั้นด้อยค่า”

 

เรื่องห่านกับไข่ทองคำ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…ชาวนาคนหนึ่งได้ไปยังรังห่านของเขา
แล้วพบไข่ฟองหนึ่งเป็นสีเหลืองส่องแสงแวววาว
เมื่อเขาหยิบมันขึ้นมา…
ก็รู้สึกว่ามันหนักพอๆ กับตะกั่ว
เขานำมันกลับบ้าน…
และทันใดก็พบว่ามันเป็นไข่ทองคำบริสุทธิ์

ทุกเช้าเหตุกาลเดียวกันก็เกิดขึ้น
และในไม่ช้าเขาก็กลายเป็นคนมั่งมี…
จากการขายไข่ทองคำ

เมื่อเขายิ่งร่ำรวยขึ้น…เขาก็ยิ่งโลภมากขึ้น
และคิดหาทางที่จะได้ขายไข่ทั้งหมด…
ที่ห่านสามารถให้ได้ในคราวเดียว
เขาจึงฆ่ามัน…ผ่าทองมัน
แล้วเขาก็พบแต่ความว่างเปล่า…!

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความโลภ…ไม่เคยให้ความมั่งมีแก่ใคร”
ดั่งคำสุภาษิตไทยที่ว่า “โลภมาก ลาภหาย” นั่นเอง

 

เรื่องชาวนากับงูเห่า

ณ ท้องทุ่งนาแห่งหนึ่งของประเทศสยาม มีต้นข้าวสีทอง
เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง พร้อมที่จะทำการเก็บเกี่ยว
เช้าวันหนึ่งท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ
ลุงบุญชาวนาและเพื่อนบ้าน ได้พากันออกไปทำนาอย่างเช่นเคยทุกวัน

ขณะที่ลุงบุญกำลังเดินสำรวจแปลงนาว่าแปลงใดควรจะได้รับการเก็บเกี่ยวก่อน
พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นงูเห่าตัวหนึ่งนอนขดตัวแข็งอยู่
เพราะความหนาวมันไม่กระดุกกระดิกเลย
ชาวนาเฝ้ามองดูมันอยู่นานด้วยความรู้สึกสงสารอย่างจับใจ
ด้วยความเป็นคนมีใจเมตตา
จึงได้ก้มลงอุ้มเอาเจ้างูเห่าตัวนั้นมาไว้ใน อ้อมกอด เพื่อให้คลายหนาว
แล้วก็เดินดูนาข้าวต่อไป ต่อไป และต่อไป

ในที่สุด เมื่อเจ้างูเห่าพอได้รับไออุ่น มันรู้สึกตัวขึ้นมา
มันก็ฉกกัดเข้าที่แขนของลุงบุญทันที
ชาวนาผู้นั้นร้องขึ้นด้วยความเจ็บปวดและล้มลงสิ้นใจตายอยู่ตรงนั้นเอง
ก่อนตายชาวนาผู้นั้นได้ร้องรำพันออกมาว่า
“ทำคุณแก่สัตว์ร้าย…มักจะให้โทษแก่เราอย่างนี้แหละหนอ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความเมตตานั้นเป็นบารมีที่พึงปฏิบัติ…แต่ก่อนจะเมตตาใคร…ให้พิจารณาให้ดีก่อน”
1) ความใจดีควรใช้กับคนที่ดี…
2) ควรรู้จักคิดพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งใดดี…หรือไม่ดี…หรือมีอันตรายอย่างไร…“

 

เรื่องกบกับวัว

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง กบสองตัวกำลังคุยกัน
“โอ้…พ่อจ๋า” กบตัวน้อยพูดกับกบตัวใหญ่ที่นั่งอยู่ข้างสระน้ำ
“ฉันได้เห็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่เบ้อเร่อทีเดียว ตัวมันใหญ่โตเหมือนภูเขา
มีเขาอยู่บนหัว มีหางยาว กีบเท้าของมันยาวออกมาเป็นสองซีก”

“โธ่… ลูกเอ๋ย” กบตัวพ่อพูด “นั่นคือเจ้าวัว…ของชาวนาเท่านั้นเอง
มันก็ไม่ใช่ว่าจะใหญ่โตเท่าใดนัก มันอาจสูงกว่าพ่อเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
แต่พ่อสามารถทำให้ตัวพ่อเองกว้างใหญ่เท่ากับมันได้ไม่ยากเลย…คอยดูนะ”

แล้วมันก็เบ่งตัวเองออกมา เบ่งออกมา เบ่งออกมา
“มันใหญ่แค่นี้ได้ไหม…” พ่อกบถามลูกของมัน
“โอ้…พ่อจ๋า…ยังใหญ่กว่านั้นอีกเยอะ” ลูกกบตัวน้อยบอก
กบตัวพ่อก็เบ่งตัวใหญ่ขึ้นอีก แล้วก็ถามตัวลูกวัวว่า “ตัวนั้นใหญ่เท่านี้ใช่ใหม”
“ใหญ่กว่านั้นอีกจ้ะพ่อ…มันใหญ่กว่านั้น” นี่คือคำตอบจากลูกกบน้อย

ดังนั้นพ่อกบจึงสูดหายใจลึก เบ่ง เบ่ง แล้วก็เบ่ง
ตัวมันก็พองขึ้น พองขึ้น และพองขึ้น แล้วมันก็พูดขึ้นว่า
“พ่อมั่นใจเหลือเกินว่า วัวตัวนั้นคงไม่ใหญ่เท่า…”
พูดถึงแค่นี้ตัวมันก็แตกระเบิดออกมา (ดังโป๊ะ)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การทำสิ่งใดแล้วไม่รู้จักประมาณตนให้เหมาะสม…ย่อมนำมาซึ่งความพินาศแห่งตน”

 

เรื่องสิงโตกับหมูป่า

อากาศที่ร้อนจัดของวันหนึ่งในฤดูร้อน
ทำให้สัตว์ทั้งหลายรู้สึกกระหายน้ำไปตามๆกัน
สิงโตตัวนี้ก็เช่นกัน มันกำลังเดินออกไปหาน้ำดื่ม
สิงโตเดินตรงไปยังบ่อน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลนัก

เวลานั้นมีหมูป่าที่กำลังหิวน้ำตัวหนึ่งเดินตรงมาที่บ่อน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
สิงโตและหมูป่าจึงประจันหน้ากันที่ข้างบ่อน้ำนั้น
ทั้งคู่ต่างต้องการที่จะเป็นผู้ที่ได้ดื่มน้ำก่อน จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น
สัตว์ตัวอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ต่างพากันวิ่งหนีอย่างอลหม่าน

สิงโตและหมูป่า ต่างก็ต่อสู้กันอย่างไม่ลดละ
จนหมดเรี่ยวแรงด้วยกันทั้งคู่

ก่อนที่พวกมันจะลงมือต่อสู้กันอีกครั้ง…
ทั้งสองก็เหลือบไปเห็นนกแร้งกลุ่มหนึ่งกำลังเกาะอยู่บนกิ่งไม้
และพากันจ้องมองมายังพวกมันอยู่

สิงโตจึงหันมาพูดกับหมูป่าว่า “ข้าว่าเราเลิกต่อสู้กันเถอะ”
“เพราะไม่เช่นนั้น เราทั้งสองอาจกลายเป็นอาหารของเจ้าแร้งพวกนั้นได้”
หมูป่าเห็นด้วยจึงตอบตกลงในทันที
จากนั้นสิงโตก็บอกให้หมูป่าดื่มน้ำก่อน
และเมื่อทั้งคู่ดื่มน้ำจนพอใจแล้ว จึงเดินแยกจากกันไปด้วยดี

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การประนีประนอม…ช่วยให้ปลอดภัยจากอันตราย”

นิทานก่อนนอน
นิทานก่อนนอน

เรื่องม้ากับลา

มีชายพ่อค้าคนหนึ่งนำของไปขายต่างเมือง คิดจะถนอมม้าไว้ใช้
เมื่อถึงคราวจำเป็น จึงเอาสินค้าทั้งหมดใส่หลังลา
ส่วนม้า นั้นปล่อยให้เดินตัวเปล่า
ลาถูกบรรทุกของหนัก ๆก็ล้มเจ็บลง

มันพูดกับม้าว่า “ช่วยแบ่งของไปจากหลังข้าบ้างเถิด ข้าไปไม่ ไหวแล้ว
ถ้าท่านช่วยแบ่งเบาภาระไปบ้าง ข้าคงจะหายเจ็บกลับมามีแรงขึ้นบ้าง
แล้วข้าจะเอาของกลับมาใส่หลังข้าดังเดิม ถ้าท่านไม่ช่วยข้า ข้าคงต้องตาย เป็นแน่”
แต่ม้าก็ไม่ฟังเสียงขอร้อง กลับบอกกับลาว่า ให้ทนไปก่อนเถิด
ลาก็เลยไม่พูดอะไรอีก อุตส่าห์เดินต่อไปไม่ช้าก็หมดแรงล้มลงตาย

เจ้าของก็แก้เอาสินค้าบนหลังลา เอามาใส่หลังม้า
แถมยังเอาศพลาบรรทุกเพิ่มเข้าไปอีกด้วย ม้าครางว่า
“พุทโธ่เอ๋ย เรานี่ช่างชั่วเสียจริงๆ ไม่เห็นใจผู้อื่น เดี๋ยวนี้ถูกบรรทุกของหนักแล้ว
มิหนำซ้ำ…ยังมีศพลาเพิ่มขึ้นอีกเสียด้วย”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจมีความเมตตาให้กับคนอื่นนั้น…ส่วนมากทุกข์นั้น…ก็จะมาตกกับตัวเองดังนี้แล”

 

เรื่องกากับเหยือกน้ำ

วันหนึ่งในฤดูร้อน…ที่มีอากาศร้อนจัด
พระอาทิตย์ได้ส่องแสงแผดเผา…ไปทั่วทุกแห่งหน
น้ำในห้วย หนอง คลอง บึงแห้งผาก…จนไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย

มีกาตัวหนึ่ง…พยายามบินหาน้ำดื่มด้วยความหิวกระหาย
จนกระทั่งมันบินไปพบเหยือกน้ำขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งอยู่
ที่ก้นของเหยือกน้ำมีน้ำขังอยู่…
เจ้ากาดีใจมาก…มันอยากดื่มน้ำในเหยือกนี้ให้ได้

แต่มีน้ำเหลืออยู่ในเหยือกน้อยเกินไป
จนใช้ปากจุ่มลงไม่ถึง
มันพยายามผลักเหยือกให้เอียง
แต่เหยือกก็หนักเกินไป
และไม่ว่าจะทำอย่างไร…
เจ้ากาก็ไม่สามารถที่จะเอาปากยื่นลงไปกินน้ำได้ซะที…

จนในที่สุด…เจ้ากาก็คิดขึ้นได้…มันใช้ปากคาบก้อนหินเล็กๆ
ใส่ลงไปในเหยือกทีละก้อนๆๆ…
และสังเกตเห็นว่าน้ำในเหยือกเอ่อขึ้นมา
ดังนั้น…มันจึงพยายามคาบก้อนหินทีละก้อนใส่ในเหยือกน้ำ
จนน้ำสูงขึ้นมาถึงปากคอเหยือก…
จนสามารถใช้จะงอยปากดื่มกินน้ำได้
ด้วยเหตุนี้…กาตัวนั้นจึงได้กินน้ำจนอิ่ม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การกระทำบางอย่างใช้กำลังอย่างเดียว…ไม่สำเร็จ…ต้องใช้ปัญญาความฉลาดเข้าช่วยด้วย”

 

เรื่องมดแดงยอดกตัญญู

มดแดงตัวหนึ่งหิวน้ำมากจึงไต่ลงไปกินน้ำริมตลิ่ง ลื่นตกลงไปในน้ำ ได้ร้องตะโกนให้นกเขาช่วย  นกเขาจึงคาบกิ่งไม้โยนลงไปให้  มดแดงไต่ขึ้นกิ่งไม้ ลมพัดพากิ่งไม้ไปริมตลิ่ง  มดแดงไต่ขึ้นฝั่งได้รอดตาย วันหนึ่ง  นกเขาออกไปหากินกำลังจิกหนอนอยู่ มีนายพรานเห็นนกเขาหยิบธนูจะยิงนกเขา มดเห็นเหตุการณ์จึงรีบวิ่งไปกัดข้อเท้านายพราน   นายพรานเจ็บข้อเท้าจึงเอามือปัดมดกระเด็นไป  ลูกธนูจึงพลาดไม่ถูกนกเขา  มดแดงได้แทนคุณนกเขาแล้ว

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1). “ความกตัญญูกตเวที…เป็นเครื่องหมายของคนดี”
2). “ผู้ที่ทำความดีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่…สักวันย่อมได้รับสิ่งดีดี…ผลดีตอบสนองเสมอ”

 

เรื่องลิงกับชาวประมง

เจ้าลิงตัวหนึ่งเกาะอยู่บนกิ่งไม้สูงของต้นไม้ มันเห็นชาวประมงคนหนึ่งกำลังเหวี่ยงแหลงไปในแม่น้ำ มันเลยขยับเข้ามาใกล้เพื่อดูวิธีการจับปลาของชาวประมง

เมื่อชาวประมงหยุดทำการจับปลาช่วงขณะหนึ่ง และกลับบ้านไปทานมื้อเย็น แต่ได้ทิ้งแหไว้ที่ริมตลิ่ง

เจ้าลิง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบเลียนแบบคนมากที่สุดชนิดหนึ่ง มันรีบลงมาจากยอดไม้และพยายามทำเหมือนชาวประมง มันจับแหและเหวี่ยงลงไปในแม่น้ำ แต่แหได้พัลวันห่อหุ้มตัวมันและลากเอามันตกน้ำไปด้วย

ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายของเจ้าลิงจะหมดลง มันได้พูดกับตัวเองว่า “มันก็สมควรแล้วละ สำหรับข้าที่ธุระก็ไม่ใช่ที่จะต้องมาเหวี่ยงแหหาจับปลา”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่พยายามทำในสิ่งที่ตนเองไม่มีความถนัด ในไม่ช้าก็จะได้รับผลของความล้มเหลว”

 

เรื่องนกนางแอ่นเตือนภัย

นกนางแอ่นตัวหนึ่งอาศัยอยู่กับฝูงนกอื่นๆที่หมู่บ้านริมทุ่ง
วันหนึ่งนกนางแอ่นเห็นชาวไร่กำลังหว่านเมล็ดป่าน
ก็รีบบินกลับมาเตือนเพื่อนนกทั้งหลาย
เพราะเมล็ดป่านเหล่านี้ จะเติบโตเป็นต้นป่าน…
ให้ชาวไร่นำมาถักเป็นตาข่ายและบ่วงดักนก

“พวกเจ้ารีบไปจิกกินเมล็ดป่านให้หมดเถอะ ก่อนที่มันจะงอกเป็นต้นอ่อน”
แต่พวกนกกลับไม่สนคำเตือนของนกนางแอ่น
จนกระทั้งเมล็ดป่านงอก นกนางแอ่นก็เตือนขึ้นอีกว่า
“พวกเจ้ารีบจิกกินต้นอ่อน ตอนนี้ก็ยังไม่สายจนเกินไปนะ”
พวกนกทำท่ารำคาญตวาดกลับไปว่า
“นี้เจ้านกนางแอ่น…ถ้ากลัวมากก็ไปหากินที่อื่นเสียสิ”

นกนางแอ่นจึงบินจากไป
เมื่อต้นป่านโตเต็มที่ ชาวไร่ก็นำมาทำเป็นตาข่ายดักนก
พวกนกทั้งหลายต่างพลาดท่าบินไปติดตาข่าย
นกตัวหนึ่งสำนึกถึงคำเตือนของนกนางแอ่นจึงรำพันขึ้นว่า
“นี้ถ้าเราเชื่อนางแอ่นตั้งแต่แรก…ก็คงไม่ถูกจับอย่างนี้หรอก”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อย่าเฝ้ารอให้ภัยมาถึงก่อน…จึงจะคิดแก้ไข”
การไม่สนใจคำเตือนเกี่ยวกับปัญหาหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ปล่อยให้ยืดเยื้อเรื้อรัง…สุดท้ายเมื่อสำนึกได้…ย่อมไม่อาจแก้ไขอย่างทันท่วงที…

นิทานอีสปสั้นๆ ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากนี้ นอกจากการเล่าให้ลูกฟัง เพื่อความสนุกสนานแล้ว ในขณะที่ลูกตั้งใจฟังนิทานที่เล่านั้น ก็เป็นการฝึกให้เกิดสมาธิด้วย หากเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ ก็ฝึกความจำในเด็ก ทำให้เด็กจำเรื่องราวต่างๆในนิทานได้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://nitanstory.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up