Crossing the Midline สอนลูกให้ข้ามเส้น

Alternative Textaccount_circle
event

จั่วหัวเรื่องไว้อย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจนะคะว่าจะมาชวนกันสอนให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว “เส้น” ที่ว่านี้ไม่ใช่เส้นกำหนดความเหมาะสมด้านมารยาทหรือความรู้จักเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ แต่หมายถึงเส้นสมมติกึ่งกลางลำตัวที่ลากจากกระหม่อมลงไปถึงก้นกบ แบ่งร่างกายออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวา หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Midline ต่างหากล่ะคะ

ผู้เขียนได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรกตอนไปเรียนนวดทารกกับลูกสาววัย 3 เดือน ตอนนั้นมีท่าหนึ่งที่คุณแม่ต้องจับมือสองข้างของลูกไว้ แล้วสลับไขว้ไปมาพลางพูดว่า ‘cross, cross, open!’ ลูกสาวผู้เขียนดูจะชอบท่านี้เป็นพิเศษ ทำทีไรก็หัวเราะคิกคัก (และยังคงหัวเราะอยู่แม้ตอนนี้อายุสองขวบกว่าแล้วก็ตาม) ครูสอนบอกว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกรู้จักข้ามเส้นมิดไลน์ ก่อนที่เขาจะเริ่มหัดทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

ถ้าหากเคยลองสังเกต จะพบว่าเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ถนัดใช้มือข้างใดข้างหนึ่งโดยเฉพาะนั้น จะเริ่มต้นจากการใช้มือทั้งสองข้างหยิบจับอะไรพร้อมๆ กัน จากนั้นจึงจะเริ่มใช้มือแต่ละข้างทำสิ่งที่อยู่ข้างเดียวกับลำตัว เช่น ถ้าลูกบอลอยู่ข้างซ้ายก็หยิบด้วยมือซ้าย แต่ถ้าจะเปลี่ยนไปเล่นทางขวา ก็จะส่งต่อให้มือขวาเอาไปเล่นอีกข้างหนึ่ง เป็นต้น การใช้ร่างกายทั้งสองข้างอย่างสอดคล้องประสานงานกัน (ที่เรียกว่า bilateral coordination) นั้นจะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อสมองทั้งสองข้างของคนเรา (ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมร่างกายคนละด้าน และทำหน้าที่ต่างกัน ) สามารถสื่อสารกันผ่านเส้นใยประสาทที่เชื่อมอยู่ตรงกลาง ซึ่งเรียกว่า corpus callosum ด้วยการที่เด็กเริ่มใช้มือข้ามไปมาระหว่างลำตัวทั้งสองข้างนี่เอง

การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสมองสองข้างนี้จะเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงสองสามปีแรกของชีวิต เมื่อเด็กอายุได้ 3-4 ปี และมีโอกาสได้ฝึกฝนข้ามเส้นมิดไลน์อย่างสม่ำเสมอ สมองทั้งสองข้างก็จะสื่อสารกันได้ดี มีความสามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ร่างกายอย่างสอดคล้องกัน และเริ่มมี “มือที่ถนัด” ซึ่งจะคอยทำกิจกรรมหลัก และมีมืออีกข้างคอยสนับสนุน เช่น หากจะวาดรูป ก็ใช้มือข้างที่ถนัดจับดินสอสี และมืออีกข้างหนึ่งกดกระดาษไว้ไม่ให้เคลื่อน หรือเตะลูกบอลด้วยเท้าข้างหนึ่ง แต่ร่างกายที่เหลือก็เหวี่ยงไปอีกทางเพื่อช่วยในการทรงตัวและเพิ่มแรงเหวี่ยง เป็นต้น

ถ้าเด็กไม่ได้หัดข้ามเส้นมิดไลน์ เช่น ยังใช้มือข้างซ้ายสำหรับเขียนหนังสือ พอถึงมือขวาก็ย้ายปากกาไปอีกด้านแล้วใช้มือขวาเขียนต่อ (ซึ่งดูเหมือนกับถนัดทั้งสองข้าง แต่อันที่จริงแล้วไม่ถนัดจริงๆ สักข้าง) จะมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่นๆ ตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน (เพราะพออ่านจากด้านซ้ายมาถึงตรงกึ่งกลางลำตัว ต้องกะพริบตาปรับให้สมองอีกด้านหนึ่งทำงาน เพื่อจะอ่านด้านขวาต่อไป แต่ก็จะลืมเสียแล้วว่าอ่านมาจากบรรทัดไหนหรือข้อความว่าอะไร  ความคิดไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้อ่านหนังสือไม่เก่ง จนพาลหงุดหงิดไม่อยากอ่าน ) หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างสวมถุงเท้าข้างขวาด้วยมือทั้งสองข้าง (ซึ่งหมายถึงเอื้อมมือซ้ายมาอีกด้านหนึ่งด้วย) ไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นอย่างเช่นการเต้นรำ หรือเล่นกีฬา

เล่ามาเสียยืดยาว ตอนนี้คุณผู้อ่านคงจะสงสัยเต็มทีว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมการข้ามเส้นที่ว่านี้ให้ลูกน้อยได้คำตอบก็คือต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนค่ะ ช่วง 6 เดือนแรกนั้น เด็กยังเพิ่งเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง

กิจกรรมที่มีการสัมผัส อย่างเช่น การนวด จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรับรู้ถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น (และจะเพิ่มท่าไขว้มือไปมาอย่างที่ครูของผู้เขียนแนะนำด้วยก็ได้ เพราะเด็กวัยนี้ยังทำเองไม่ได้) จากนั้นเมื่อเด็กเริ่มคว่ำ ก็จะเริ่มสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง และแขนขา เตรียมพร้อมสำหรับทักษะที่สำคัญมากๆ อย่างการคลาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหัดให้ร่างกายสองด้านทำงานประสานกันได้อย่างดี และ เป็นช่วงเวลาที่ต้องปล่อยให้เด็กได้ฝึกฝนเรียนรู้ให้นานที่สุด โดยไม่ใช้อุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาแทรกแซง อย่างเช่น เครื่องช่วยหัดเดิน เก้าอี้นั่ง, bouncer หรือแม้แต่การใช้สองมือจับให้ลูกเดิน ซึ่งเป็นการทำให้เด็กอยู่ในท่าที่ร่างกายไม่พร้อม และไม่ได้ฝึกการใช้ร่างกายตามธรรมชาติ

 

มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า เด็กที่ไม่ได้หัดคลาน จะมีปัญหาในการใช้มือ เช่น จับดินสอไม่ถนัดจึงทำให้เขียนหนังสือไม่เก่ง หรือลายมือไม่สวย และมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

 

เมื่อเด็กเริ่มนั่งได้เอง ก็จะเริ่มมีมือที่ว่าง สามารถส่งของไปมาระหว่างกันได้ เมื่อเริ่มใช้มือได้เก่ง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถหากิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการข้ามเส้นกลางตัวที่สนุกสนานสำหรับลูกๆ ได้ อย่างเช่น เป่าลูกโป่งฟองสบู่ให้เด็กได้เอื้อมมือข้ามไปแตะ กลิ้งลูกบอลให้ไปข้างใดข้างหนึ่งที่เด็กต้องเอื้อมไปรับ ให้ละเลงสีหรือโฟมโกนหนวดที่กระเบื้องผนังห้องน้ำ เปิดเพลงแล้วให้เต้นตามโดยแกว่งแขนเตะขาไปในด้านตรงกันข้าม เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะได้ผลที่สุดก็ต่อเมื่อเด็กยังอายุไม่เกิน 6 ปี และถ้าทำด้วยความเพลิดเพลิน ไม่เครียด เหมือนเป็นการเล่นสนุกกันมากกว่า ก็จะยิ่งทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้นถึงแม้บางครั้งทักษะบางอย่างอาจจะต้องอาศัยการฝึกฝนและทำให้ลูกน้อยหงุดหงิดไปบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อดทนและคอยเป็นกำลังใจให้โดยไม่ผลักดันลูกจนเกินไป ลูกก็จะผ่านพ้นแต่ละช่วงของพัฒนาการไปได้อย่างเป็นธรรมชาติและเติบโตขึ้นอย่างคนที่ทั้งร่างกายและจิตใจมีความสอดคล้องสมดุลจะมีอะไรดีไปกว่าได้เห็นลูกน้อยยิ้มแย้มร่าเริงและมีความเชื่อมั่นในตนเอง จริงไหมล่ะคะ

 

 1 ฝรั่งเรียกเส้นสมมติกึ่งกลางลำตัวที่ลากจากกระหม่อมลงไปถึงก้นกบ แบ่งร่างกายออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวาว่า Midline

 

2 ถ้าเด็กไม่ได้หัดข้ามเส้นมิดไลน์ เช่น ยังใช้มือข้างซ้ายสำหรับเขียนหนังสือ พอถึงมือขวาก็ย้ายปากกาไปอีกด้านแล้วใช้มือขวาเขียนต่อ จะมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่นๆ ตามมาอีกมาก

 

3 การคลาน เป็นจุดเริ่มต้นของการหัดให้ร่างกายสองด้านทำงานประสานกันได้อย่างดี และ เป็นช่วงเวลาที่ต้องปล่อยให้เด็กได้ฝึกฝนเรียนรู้ให้นานที่สุด โดยไม่ใช้อุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาแทรกแซง

 

 

เรื่อง : สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท
ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up