เรียนรู้ผ่านการเล่น

เรียนรู้ผ่านการเล่น ดีกว่า อัดวิชาการเข้าหัวเด็ก โดยพ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
เรียนรู้ผ่านการเล่น
เรียนรู้ผ่านการเล่น

‘เด็ก เรียนรู้ผ่านการเล่น’ เป็นประโยคที่ผ่านหูผ่านตากันมาบ่อยๆ แต่ผมเชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยคิดแย้งในใจว่าลูกเขาก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเวลาเรียนกับคุณครู ขนาดส่งติวพิเศษ ก็ไม่เห็นลูกจะมีปัญหาอะไร ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เชาวน์ ไปจนถึงศิลปะ ซึ่งนั่นก็จริงอยู่ ถ้าวัดกันตามที่ตามองเห็น

งั้นผมขอเติมประโยคแรกให้ยาวขึ้นอีกนิดเป็น

‘เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่าผ่านการเล่น’

เด็กโตๆ การเรียนในห้องเรียนคงเป็นเรื่องปกติ แต่เด็กระดับอนุบาลระดับประถมต้น การปล่อยเขาได้ เรียนรู้ผ่านการเล่น เขาจะมีความสุขกับการเรียนรู้ เขาจะรักการเรียนรู้ในระยะยาว การอัดวิชาการเข้าหัวเด็กเล็กๆ ผ่านการติวในห้อง ระยะสั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะดีใจ แต่ในระยะยาวคุณตามแก้ปัญหายากกว่า (เด็กล้า เด็กเครียด) ผมจึงแปลกใจที่เห็นคุณพ่อคุณแม่แข่งกันโชว์ผลการเรียนระดับอนุบาลระดับประถมกัน ซึ่งผมเกรงว่ามันจะไปกดดันครอบครัวที่ลูกได้เกรดน้อยกว่า แล้วพาลพาลูกไปติวกันใหญ่ ผมอยากจะบอกว่า เกรดเด็กเล็กระดับนั้น มันไม่สามารถวัดอะไรได้เลยว่า เด็กเกรด 4.00 ฉลาดกว่า เด็กที่ได้เกรดน้อยกว่านั้น

ผมอยากเล่าเรื่องการปั่นจักรยานกับลูกให้ฟัง (ช่วงโควิด-19 ผมกลับถึงบ้านเร็วขึ้นจึงได้ปั่นจักรยานกับลูกเกือบทุกวัน)

พาลูกปั่นจักรยาน เรียนรู้ผ่านการเล่น ได้อย่างไร?

มีวันหนึ่งปูนปั้นถามขึ้นว่า “ป๊าครับ ทำไมปั่นในทรายแล้วมันไม่ค่อยไป เหมือนปั่นบนถนน”

ผมบอกให้เขาสังเกตดูเวลาล้อหมุนบนพื้นคอนกรีต – แล้วสอนเขาเรื่องแรงเสียดทานจากพื้นคอนกรีตที่ทำให้ล้อหมุนไปข้างหน้าได้ จากนั้นให้เขาไปสังเกตดูเวลาล้อหมุนบนทรายที่เม็ดทรายเคลื่อนที่ไปด้วยมันจึงปั่นยากกว่า

เขาได้เรียนรู้เรื่องแรงเสียดทาน

จากนั้นปูนปั้นก็คิดต่อไปถึง “อ๋อแบบเดียวกับที่รถตกโคลน (เขาคงเห็นจากไหนสักที่)”

ผมบอกว่า “ใช่” แล้วผมก็บอกว่า เราเรียกว่า “รถตกหล่ม”

แล้วถามปูนปั้นต่อว่า “คิดว่าจะช่วยรถตกหล่มอย่างไร”

เขาก็ตอบมาทั้ง ใช้เชือกดึง หารถยก และอื่นๆ

ผมตั้งโจทย์เพิ่มว่า “ถ้าไม่มีใครช่วย จะทำยังไงดี”

แล้วก็ใบ้ให้เพิ่มว่า “ในเมื่อเราเห็นว่าล้อวิ่งในโคลนไม่ได้ ทำไงให้ล้อวิ่งได้ ควรมีอะไรให้ล้อไต่แบบล้อจักรยานมั้ย”

ก็จะเริ่มมีคำตอบอย่าง “เอาหินโยนลงไป”

ผมก็อธิบายว่านั่นเป็นวิธีนึง หากหินก้อนใหญ่ให้ล้อปีนได้ หรือ ลองแผ่นอะไรแข็งๆมารองให้ล้อรถไต่อย่างเช่นแผ่นเหล็ก แผ่นไม้ ก็เป็นอีกวิธีนึง เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงช่วยให้รถขึ้นจากหล่มได้

ปูนปั้นก็ตอบมาว่า “เพราะแผ่นเหล็ก มันเป็นเหมือนพื้น”

 

อีกตัวอย่างการ เรียนรู้ผ่านการเล่น ของเด็ก ระหว่างขี่จักรยาน

“ปะป๊าครับ ทำไมปูนปั้นไม่ได้ปั่นแล้วจักรยานมันยังไปต่อ”

มันคือแรงเฉื่อยลูก มันพยายามรักษาการเคลื่อนที่เดิม”

ถ้าคุณคิดว่าลูกจะงง ใช่ครั้งแรกอาจจะงง เราก็ให้เขาทดลองทำอีก 2-3 ครั้ง เขาก็จะเริ่มเข้าใจ

วันต่อๆ มา ระหว่างทางขี่จักรยานมันก็จะมีการพูดคุยเรียนรู้กันเรื่อยๆ มีคำถามมา เราก็ให้ทดลองจริงให้เขาดู

“แล้วเบรกทำงานยังไง” … แรงเสียดทานก็กลับมาอีกครั้ง

เราให้เขาก้มมองดูที่ตัวหนีบล้อ ขณะที่ล้อหมุนแล้วกดเบรก พอตัวหนีบล้อทำงาน เขารู้จักแรงเสียดทานมากขึ้นอีกนิด

เราท้าทายเขาต่อว่า “ปูนปั้นลองปั่นสุดแรงขึ้นสะพานนะ แล้วพอใกล้ถึงบนสะพานให้หยุดปั่น”

แล้วเขาก็ลุ้นและตื่นเต้นที่มันพาเขาขึ้นถึงบนสะพานได้ แล้วเขาก็ฟังเราอธิบายว่า “แรงเฉื่อยมันพาขึ้นไปต่อ”

เราท้าทายเขาว่าถ้าขึ้นสะพานไปนิดเดียวหยุดปั่นหละ … แรงเฉื่อยจะพาขึ้นไปถึงมั้ย

เขาก็ลอง ปรากฏว่า จักรยานไหลลง

“ทำไมครับ ปะป๊า” … คำถามมาอีกครั้ง

เพราะแรงเฉื่อยมันแพ้แรงดึงดูดที่ดึงลง … ส่วนเมื่อกี๊ที่ได้เพราะมันเกือบถึงแล้ว แรงเฉื่อยมันมากพอจะส่งไปถึง

 

บทเรียนเหล่านี้ อย่าคิดว่าเด็กไม่เข้าใจ และเขาสนุก

ตอนนี้ทุกวัน ก่อนจะออกจากบ้านมาปั่น เขาจะบอกผมเลยว่า วันนี้อยากคุยเรื่องแรงเฉื่อยอีก

(ผมคุยกับเขาด้วยการใช้ภาษาอังกฤษด้วยนะครับ มีผู้ใหญ่เดินผ่านได้ยินเราคุยกันเรื่อง inertia ถึงกับเหลียวมามองว่า หืมมมม เจ้าตัวกะเปี๊ยกคุยเรื่อง inertia เนี่ยนะ)

ไม่ต้องเรียนรู้วิชาการขนาดนี้ก็ได้ การปั่นจักรยาน เรียนรู้เรื่อง ท้องฟ้า ต้นไม้ อากาศ ความเร็ว อาชีพคนที่เราผ่าน โอ้ย มีอะไรมากมายให้เรียนรู้

ลองดูนะครับ แล้วคุณจะเห็นตาโตๆ ของลูกน้อย กับรอยยิ้มจากการเรียนรู้

 


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up