blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-19] พบคุณหมอพัฒนาการเด็ก (ตอนที่ 2)

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

        ต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากที่คุณหมอซักถาม หม่าม้ากับปะป๊าได้ความพอสมควร จากนั้นก็เป็นคิวของเจ้าปูนปั้น ซึ่งช่วงนี้คุณหมอให้ปะป๊าและหม่าม้าทำตัวเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์

        คุณหมอเริ่มโดยการเอารถมาลากไปมาเพื่อชักชวนให้ปูนปั้นเล่นด้วย (เพราะบอกคุณหมอว่าปูนปั้นชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถมาก) คุณหมอลากรถไปมาพร้อมกับชวนปูนปั้นมาเล่นด้วยกัน แต่เจ้าปูนปั้นก็ยืนนิ่งมองตาม แต่ก็ไม่ยอมเล่นด้วยสักที ผ่านไปนานหลายนาทีกว่าเจ้าปูนปั้นจะก้าวเท้าแรกออกไป แต่แล้วก็ชักกลับและอีกพักใหญ่ทีเดียวกว่าปูนปั้นจะยอมบรื้นๆ เล่นกับคุณหมอแต่ก็ดูเกร็งมาก (อันนี้คุณหมอก็พูดเหมือนกัน)

        เมื่อพอจะสื่อสารกันได้ดีระดับหนึ่ง คุณหมอเริ่มเปลี่ยนเอาของเล่นที่พัฒนาตรรกกะและการแก้ปัญหามาให้เจ้าปูนปั้นเล่น และก็เช่นเดิมคือเจ้าปูนปั้นใช้เวลานิดหนึ่ง (ไม่นานเท่าเดิม ) ถึงจะยอมเล่นด้วย แม้เจ้าปูนปั้นจะเล่นได้ แต่บางอย่างก็เล่นไม่จบ และไม่ได้ดูสนุกอะไรมากมาย (เหมือนเวลาเล่นรถ)

        จากนั้นคุณหมอก็เลื่อนเก้าอี้มาให้ปูนปั้นนั่ง และตรงนี้เอง เจ้าปูนปั้นก็นั่งลง พร้อมหยดน้ำตาที่ไหลออกมา แม้ไม่มีเสียงร้องแต่ก็ทำเอาคุณหมออึ้งแล้วก็ปล่อยให้ปะป๊าหม่าม้าทำหน้าที่แทน แล้วคุณหมอก็กลับมาสังเกตวิธีการเล่นของเรากับลูก

        คุณหมอวิเคราะห์ว่า ปูนปั้นไม่ได้เป็นสมาธิสั้น แต่เป็นเพราะเราเองที่ไม่ยื้อให้จบ และปูนปั้นดูจะเป็นเด็กที่เรียนรู้จากการฟังเพลงคุณหมอบอกว่า จะให้ดีการพัฒนาควรมี 2 ด้าน คือ Rules และ Relationships ซึ่งจากที่หมอสังเกตคิดว่า ปูนปั้นได้ Rules มาจากการอยู่ที่ Nursery ค่อนข้างเยอะ และนั่นคือเหตุผลตอนที่คุณหมอให้นั่ง

        (ปูนปั้นพยายาม ทำตัวเล็กลง ให้เป็นเด็กดี ตามกฏเกณฑ์ คุณหมอบอกว่าถ้าเป็นเด็กอื่น คงวิ่งจู๊ดไปหาพ่อแม่มากกว่าพยายามอดทนนั่ง’ (ขอเสริมว่า ตอนปะป๊าเห็นปูนปั้นนั่งตัวหดแล้วน้ำตาร่วง เราบอกได้แค่ว่าตอนนั้นสงสารลูกจับใจ  รู้สึกผิดว่าทำไมต้องพาเขามาทำแบบนี้ เพราะเจ้าปูนปั้นคงเกร็งมากจริงๆ เพราะเจ้าตัวป่วนเป็นเด็กลั้ลลามาก)

        แต่จากวิธีการเล่นระหว่างในครอบครัว คุณหมอบอกว่า ได้มาเติมด้าน Relationships จากที่บ้านมาก เพราะปะป๊าและหม่าม้า ปล้ำเล่นกับเจ้าปูนปั้นแบบยิ้มแย้มตลอด แต่สักพักคุณหมอสังเกตเห็นว่า  ‘ปูนปั้นชี้ให้ปะป๊าหยิบของให้ แต่ปะป๊าบอกให้ปูนปั้นไปหยิบของเอง เป็นภาษาอังกฤษแล้วปูนปั้นก็ไปหยิบ’ คุณหมอจึงบอกว่า ‘เอ้ะ ปะป๊าก็มี Rules นะแบบนี้ คือ เล่นแต่สิ่งที่ต้องเป็นคำสั่ง ก็บอกให้เขาทำเอง’ ปะป๊าจึงได้โอกาสปรึกษาคุณหมอว่า แบบนี้ไม่เป็นไรใช่มั้ย เพราะปะป๊าเกรงว่าการสั่งเค้า จะเป็นการขัดจินตนาการของเขา คุณหมอบอกว่า ไม่หรอกเพราะปะป๊าเล่นไปยิ้มตลอด มันเป็นกฏเกณฑ์มากกว่า ว่าเราเป็นคนคุมกฏแต่ไม่ใช่คำสั่ง แถมด้วยคุณหมอบอกคุณพ่อเป็นคนเล่นมันส์นะ (คุณหมอเห็นเราอุ้มปูนปั้นแล้วบอกให้ hold me tight ไม่งั้นจะไถลลงมาตามตัวปะป๊า – อันนี้ปูนปั้นชอบเล่นมาก) 

        จากนั้นคุณหมอก็สอนเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการที่จะหาทางทำให้เขาเล่นสิ่งต่างๆ ให้จบ เช่น

         –  ต้องกระตุ้นให้เขาสนุกสนาน แสดงการชื่นชมให้กำลังใจผ่านสารพัดเสียงที่เราจะทำให้ให้เขาเข้าใจ (ปกติทำอยู่แล้ว แต่อาจจะทำให้มากขึ้น)

         –  วิธีการนั่งอ่านหนังสือให้เขาฟัง ต้องนั่งหันหน้าหากัน หันหนังสือไปทางปูนปั้น เราเป็นคนเปลี่ยนหน้า ชวนให้เขาทำโน่นนี่

         –  และที่เคยพูดว่า “อย่า” เวลาเล่นปลั๊กไฟ เล่นพัดลมก็ต้องเปลี่ยนเป็นการเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอื่น (ย้ำว่าทำกิจกรรมเลยนะครับ ไม่ใช่แค่เอาเขาไปดูนกดูหมา)

 

        เอาเป็นว่าได้ประโยชน์ดีครับ แต่ต้องทำใจนะฮะว่าบางตอนเราอาจจะสงสารเจ้าตัวเล็กบ้างถ้าเขาเกร็งเหมือนปูนปั้น และการที่เราพาลูกไปพบหมอด้านพัฒนาการไม่ได้แปลว่าลูกเราต้องป่วยอะไร เพราะถ้าเราสงสัยแต่ผลออกมาว่าไม่เป็นอะไร เราก็สบายใจ ถ้าเขามีอะไรที่ต้องปรับ ทำตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อนดีกว่าครับ

 

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up