ทุกบ้านต้องใส่ใจ!  มารู้จักมาตรฐาน มอก. สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้ากันเถอะ

เรื่องสำคัญที่ทุกคนในบ้านต้องใส่ใจ ก่อนจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่เข้าบ้าน ต้องมองหาเครื่องหมาย มอก. เพื่อความปลอดภัยแบบยกครอบครัว เพราะแน่นอนว่าแต่ละบ้านต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 5 ชิ้น ยิ่งมีเด็กเล็กด้วยแล้ว เครื่องอำนวยความสะดวกย่อมต้องมีเพิ่มเข้ามาเป็นตัวช่วย เหตุนี้เราจึงต้องรู้จักมาตรฐาน มอก. ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

เครื่องหมาย มอก. คืออะไรและสำคัญอย่างไร

การตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงที่สวยงามถูกใจ ฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ ราคาที่เหมาะสม และอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือต้องมีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.

มาตรฐาน มอก. คืออะไร

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thai Industrial Standard – TIS) หรือ มอก. เป็นการรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นข้อกำหนดเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ผลิตสินค้า ให้มีการผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี โดยครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อาหาร เป็นต้น

มาตรฐาน มอก. สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า มีกี่ประเภท

เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมีการกำหนดเครื่องหมายมาตรฐานไว้ในทุกผลิตภัณฑ์ โดยในปัจจุบันมี 3 เครื่องหมาย ดังนี้

ภาพจาก  : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

1. เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป – เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ผลิตสามารถยื่นขอใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายได้ตามความสมัครใจ

ภาพจาก  : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

2. เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ – เป็นเครื่องหมายที่แสดงบนผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายจะต้องยึดมาตรฐานเป็นหลักในเฉพาะผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ด้วย

ภาพจาก  : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

3. เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) – เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นข้อกำหนดด้านคุณภาพ ว่าเป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ เพื่อยกระดับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

แล้วตัวเลขบนเครื่องหมายคืออะไรนะ

สัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พบได้โดยทั่วไป มีรายละเอียดที่ระบุในตราสัญลักษณ์ซึ่งมีความหมาย ดังนี้
– รูป Logo ของ มอก.
– ลำดับที่ในการออกเลข มอก.
– ปี พ.ศ. ที่ออกเลข มอก.

การเรียงลำดับในการออกเลข มอก.

การอ่านเลขหมายเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง มีรายละเอียดไม่ซับซ้อน คือ หมายเลข มอก.คือ หมายเลขที่กำหนดขึ้นเพื่อระบุลำดับที่ในการออกเลขของการออกมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทนั้นๆ ส่วนลำดับถัดไปหมายเลขชุดหลัง สำหรับบอกปีพ.ศ. ที่ สมอ.ประกาศเป็นมาตรฐาน

ดูอย่างไรว่าแบบนี้สัญลักษณ์ มอก. ปลอม

สัญลักษณ์ของมอก.แตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า เช่น มอก.ทั่วไปจะไม่มีวงกลมล้อมรอบ มอก. แบบบังคับ  มีวงกลมล้อมรอบ ประเภทนี้ต้องได้รับการรับรองตามกฎหมาย รูปแบบเครื่องหมาย มอก.ย่อมาจาก TIS มุมขวามือของเครื่องหมายจะต้องเชื่อมกัน หากไม่เชื่อมกันหรือรูปทรงแตกต่างไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นมอก.ปลอม

เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภทต้องมี มอก. หรือไม่ และถ้าไม่มียังสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภทต้องเลือกที่มีเครื่องหมาย มอก.เท่านั้น เพราะตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2564 เป็นต้นมาสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงคิวอาร์โค้ด (QR Code) คู่กับเครื่องหมาย มอก. บนตัวผลิตภัณฑ์ หรือตัวบรรจุภัณฑ์สินค้าแทน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยการสแกน QR Code หรือร้องเรียนได้ทันทีหากสงสัยว่าไม่ได้มาตรฐาน การไม่แสดงเครื่องหมายหรือปลอมแปลงเครื่องหมายเท่ากับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงเป็นความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

เครื่องหมาย มอก. มีความสำคัญอย่างไร

การรับรองมาตรฐานของสินค้ามีประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในแง่ของผู้ผลิตการมีมาตรฐานที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดรายจ่าย ลดการใช้งานของเครื่องจักร เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ ในด้านผู้บริโภค สินค้าที่มี มอก. สามารถสร้างความมั่นใจและการตัดสินใจในการซื้อของผู้บริโภคว่ามีมาตรฐานและปลอดภัย ป้องกันสินค้าที่คุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่าย นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

มอก. ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องเหมือนหรือแตกต่างกัน

สัญลักษณ์ของมอก.แตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า ดังนั้นแต่ละประเภทของสินค้าจึงมีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น  เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปใช้กับสินค้าประเภท อาหาร, เครื่องใช้ไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง และของใช้สำนักงาน เป็นต้น เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ ใช้กับสินค้าประเภท: ผงซักฟอก, ของเล่นเด็ก, หมวกกันน็อก, ท่อพีวีซี และถังดับเพลิง เป็นต้น เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นเรื่องความปลอดภัย ใช้กับสินค้าประเภท: เตารีด และพัดลมไฟฟ้า เป็นต้น

กฎหมายสำหรับผู้ผลิตที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก.

นอกจากผู้บริโภคจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีข้อกำหนดตามมาตรฐานแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน จะมีบทลงโทษ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ดังนี้

  1. ทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น จึงเป็นข้อควรระวังในการเลือกและดูผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ

MEA มีข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อ และการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด ดังนี้

ก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าลืม! สังเกตเครื่องหมายมาตรฐานและหมายเลข มอก. ทุกครั้ง และดูชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ควรติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงควรปฏิบัติตามคู่มือการใช้งาน และหมั่นบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดอายุการใช้งาน

พัดลม

  • พัดลมไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานต้องมีเครื่องหมายบังคับ และมีเลขหมาย มอก.934-2533 อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • ลองเครื่องก่อนซื้อ ทดลองการหมุน ส่าย และปรับความเร็วของพัดลมทุกความเร็ว รวมถึงสวิตช์เปิดและปิดว่าทำงานปกติหรือไม่
  • ฉลากต้องระบุชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือเครื่องหมายการค้า แรงดันไฟฟ้า ความถี่ กำลังไฟฟ้า และอื่น ๆ ตามที่ระบุใน มอก.
  • มีการป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับส่วนที่มีกระแสไฟฟ้า
  • ทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่ มอก. กำหนด
  • เลือกขนาด วัสดุ ราคาที่สมเหตุสมผล และมีประสิทธิภาพดีในการใช้งาน

ตู้เย็น

  • ตู้เย็นควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ และมีเลขหมาย มอก.2186-2547 และ
    มอก.2214 -2548 อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • สังเกตดูว่ามีชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ชัดเจน
  • คู่มือแนะนำวิธีใช้และการบำรุงรักษา อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีติดตั้ง วิธีใช้อุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ และการบำรุงรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดตู้เย็น
  • เลือกซื้อตู้เย็นที่มีขนาดความจุเหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งาน และควรตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับชนิดและจำนวนของอาหารเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า
  • หากเป็นตู้เย็นที่ไม่มีกลไกขจัดน้ำแข็งแบบอัตโนมัติ ควรขจัดน้ำแข็งที่เกาะภายในตู้เย็นบ่อย ๆ ถ้าเป็นฤดูร้อน ประมาณ 2 ครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์
  • ปฏิบัติตามคู่มือการติดตั้งและติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างเคร่งครัด

เตาไมโครเวฟ

  • เตาไมโครเวฟควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ และมีเลขหมาย มอก.1773-2548  อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • สังเกตดูว่ามีชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
  • ประตูเปิด-ปิด จะต้องมีแผงตาข่าย ที่ทำหน้าที่ป้องกันสนามไฟฟ้าความถี่สูงภายในเครื่องไม่ให้เกิดการรั่วไหลของรังสีที่ออกมาเกินกว่าค่ามาตรฐาน
  • ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างเคร่งครัด

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า

  • หม้อหุงข้าวไฟฟ้าควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ และมีเลขหมาย มอก.1039-2547  อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • สังเกตดูว่ามีชื่อผู้ผลิตหรือนำเข้าหรือไม่
  • ศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดก่อนใช้งาน
  • อย่ากดสวิตช์เปิด-ปิด ขณะไม่มีหม้อชั้นใน
  • อย่าเสียบปลั๊กหรือกดสวิตช์ขณะมือเปียก
  • ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังจากการใช้งาน
  • เมื่อกดสวิตช์หุงแล้วไม่ติด ไม่ควรใช้สิ่งใดค้ำเพื่อกดค้าง
  • ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างเคร่งครัด

เครื่องซักผ้า

  • เครื่องซักผ้าควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ และมีเลขหมาย มอก.1463-2533  อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • สังเกตดูว่ามีชื่อผู้ผลิตหรือนำเข้าหรือไม่
  • เลือกขนาดความจุของถังซักผ้า ให้เหมาะสมกับจำนวนและความถี่ของเสื้อผ้าที่ใช้
  • ปฏิบัติตามคู่มือการติดตั้งและติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างเคร่งครัด

เตารีด

  • เตารีดต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ และมีเลขหมาย มอก.366 -2547 อยู่ใต้หรือข้างเครื่องหมายมาตรฐานแสดงที่ผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • มีความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว
  • ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยจากการใช้งานเตารีดแบบปกติ
  • ฉลากต้องระบุชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือเครื่องหมายการค้า แรงดันไฟฟ้า ความถี่กำลังไฟฟ้า และอื่น ๆ ตามที่ระบุใน มอก.

หากไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้รับมาตรฐาน มอก. หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากลิงก์นี้ http://appdb.tisi.go.th/tis_dev/p3_tis/p3tis.php?data=B

การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มอก. และใช้งานอย่างถูกวิธี นอกจากจะสามารถมั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้แล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่มีโอกาสเสียบ่อย จึงมีผลพลอยได้ในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

บทความ : อัจฉรา จีนคร้าม บรรณาธิการบริหาร Amarin baby and kids


Reference List

คู่มือการซื้อและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ภายในบ้าน.กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) https://pr.tisi.go.th

มาตรฐานทางไฟฟ้าและมาตรฐานระบบไฟฟ้า
ในสถานประกอบกิจการ.สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) https://www.ohswa.or.th

มอก.คืออะไร.มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์.https://ait.nsru.ac.th/

ช้อปอย่างไรไม่ให้พลาด? สภาผู้บริโภคชวนเช็ก ‘คิวอาร์โค้ด’ พร้อมเครื่องหมาย มอก. แบบใหม่.https://www.tcc.or.th/tcc_media/qrcode-with-tis/?fbclid=IwY2xjawKROzZleHRuA2FlbQIxMABicmlkETFuY2RPR3FhTTUyelo1QkpMAR5LMpEBvvWRVqnNSgcZJcH1vIaETNxprY3ksBTrA4wq_J2Yl8tkjbptcXYTJw_aem_yDbBYzo2EqirLNmJwU0o3A

รู้จักมอก.https://tgcthailand.com/blog/how-many-types-of-tisi-product-certification-marks/


    Tags