ลูกขี้กลัว

ลูกขี้กลัว 6 เทคนิครับมือ เมื่อลูกต้องเผชิญกับความกลัว

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกขี้กลัว
ลูกขี้กลัว

ลูกขี้กลัว ผิดปกติหรือไม่? คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกอย่างไรเมื่อลูกต้องเผชิญกับความกลัว พญ. ศรินพร มานิตย์ศิริกุล ทิพย์อุดม เจ้าของเพจ “หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด มีคำแนะนำดีๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่นำไปใช้สอนลูก “รับมือกับความกลัวของเด็ก”กันค่ะ

Fear ความกลัว เป็นการตอบสนอง “ปกติ” ของสมองเมื่อรับรู้ถึง “อันตราย” หรือสิ่งที่ “ไม่ปลอดภัย” เพื่อให้เราเลือกว่าจะ “สู้ ” หรือ “หนี ” เพื่อปกป้องตัวเราเองให้ “ปลอดภัย”

ลูกขี้กลัว เพราะอะไร?

หลายๆ ครั้งลูกต้องเผชิญกับความกลัว ในสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน เช่น #กลัวเสียงดัง #กลัวสัตว์ #กลัวความมืดฯ เพราะลูกอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร มีอันตรายหรือไม่ หรืออาจมีประสบการณ์ มีจินตนาการไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น

#นิวโร เดิมทีเป็นเด็กที่กลัวสัตว์มาก ไม่กล้าเข้าใกล้ ร้องไห้ทุกครั้งเวลาเจอ ก่อนโควิดแม่พาลูกไปซาฟารีเวิลด์และสวนสัตว์ที่ต่างๆบ่อยมากกกกกก ขับรถกอล์ฟเที่ยวเขาเขียว จนลูกเริ่มคุ้นเคย ชอบไปสวนสัตว์ เราจึงเริ่มไปให้อาหารสัตว์ ซึ่งตอนสองสามครั้งแรกลูกไม่ยอมให้ ต่อมาพ่อแม่ทำให้ดูจนลูกรู้ว่าปลอดภัย ตอนนี้เลยกลับกลายเป็นเด็กที่ “ชอบ” และ “กล้า” ให้อาหารสัตว์มาก และ #ร้องขอ ไปเองทุกครั้ง แต่ก็มีบางครั้งที่สัตว์ จู่โจม วิ่งนอกรั้ว ที่ลูกยังรู้สึกว่าไม่โอเค ซึ่งแม่ก็คิดว่าต้องให้เวลาค่ะ

รับมือ ความกลัวของเด็ก
ลูกขี้กลัว วิธีรับมือ ความกลัวของเด็ก

การรับมือ กับความกลัวของเด็ก

สิ่งที่แม่พยายามทำคือ

  1. ให้ความมั่นคงในจิตใจลูก
    ไม่ส่งเสียงตกใจ ไม่แกล้งแหย่ลูก ไม่หัวเราะในสิ่งที่ลูกกลัว อยู่ข้างๆ ลูก สัมผัส จับมือ บอกลูกว่าพ่อแม่อยู่ข้างๆลูก อุ้มเมื่อลูกร้องขอ ให้ลูกมีความมั่นคง รู้สึกปลอดภัยว่าพ่อแม่พร้อมช่วยเหลือไม่ทิ้งไปไหนค่ะ
  2. ให้เวลาลูก
    พ่อแม่ต้องนิ่ง ให้เวลาลูกสังเกต เรียนรู้ ปรับตัวในสิ่งที่ลูกกลัว ไม่บังคับหรือเร่งรัดลูกจนเกินไป เด็กๆต้องใช้เวลามากน้อยต่างกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองค่ะ
  3. เป็นตัวอย่างให้ลูก
    อยากให้ลูกหายกลัวอะไร พ่อแม่อาจต้องทำให้ลูกเห็นว่ามันไม่อันตราย มันปกติ ตัวแม่เองกลัวสัตว์มากกกกก แต่พยายามไม่แสดงออกให้ลูกกลัวตาม ไม่กรีดร้อง ไม่วิ่งหนี ยอมให้อาหารสัตว์ทั้งๆ ที่ไม่เคย เพื่อให้ลูกดู บางครั้งก็ส่งพ่อไปเป็นตัวแทน
    ไปๆ มาๆ จากเดิมที่แม่กลัวไก่มาก พอไปกับลูกบ่อยๆ แม่ก็เดินผ่านดงไก่ได้แล้วค่ะ
  4. ไม่ใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูก
    หลายๆ ครั้งเราใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูก #ระวังตุ๊กแกกินตับนะ #เดี๋ยวจะมีตำรวจมาจับ #ดื้อมากเดี๋ยวให้หมอมาฉีดยา
    ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ลูกกลัวโดยการจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ลูกมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ได้ค่ะ
  5. อธิบายตามหลักความจริง
    เสียงดังเกิดจากอะไร เช่น
    เค้าเจาะประตู เสียงเลยดัง หนูดูไกลๆ ได้ แต่เข้าใกล้ไม่ได้เพราะมันมีเศษไม้อาจเข้าตาได้
    หนูให้อาหารสัตว์ได้ สัตว์เค้าจะอ้าปากมากิน แต่หนูให้แล้วต้องปล่อยมือ อย่าให้โดนฟันของพี่นะคะ
  6. ความกลัวยังเป็นสิ่งที่ดี
    หลายๆ อย่างเราก็ต้องสอนให้ลูกกลัวในสิ่งที่เหมาะสม (ย้ำว่าสอนไม่ใช่ขู่หรือหลอกค่ะ) เช่น
    ไม่ข้ามถนนคนเดียว วิ่งลงกลางถนน เพราะรถชนบาดเจ็บได้
    ไม่วิ่งเล่นหนีแม่ เพราะอาจมีคนไม่ดีจับตัวไปได้หรือหลงทางได้
    ไม่เอานิ้วแหย่ปลั๊กเพราะไฟจะดูด
    ซึ่งแม่สอนเรื่องนี้ผ่านนิทาน สอนพร้อมให้ลูกคิดตาม ตอบคำถามที่ลูกคาใจ ให้ลูกไม่กลัวเกินกว่าความเป็นจริงค่ะ

ย้ำอีกครั้งว่าความกลัวเป็นเรื่องปกติ เป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อให้เราอยู่รอดปลอดภัย แต่เราก็ไม่ควรจะหลอกให้เด็กกลัวจนเกินกว่าความเป็นจริง และเมื่อไหร่ที่ลูกเรากลัว เราควรจะอยู่เคียงข้างให้เวลา แล้วค่อยอธิบายเพื่อสร้างความมั่นคงในจิตใจให้ลูก

เพราะความกลัวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อของพัฒนาการของลูกค่ะ

#หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 


1 ใน Power BQ 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี คือการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะความกลัวเป็นเรื่องปกติของทุกคน หากลูกได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความกลัวอย่างถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะสร้างความมั่นคงในจิตใจของลูก ให้เติบโตเป็นคนที่มี EQ ดี มีโอกาสในการประสบความสำเร็จทั้งในด้านหน้าที่การงาน และ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง


ติดตามความรู้การพัฒนาสมอง และการเรียนรู้ของเด็ก กับคุณหมอศรินพร

ได้ที่เพจ หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด

หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ลูกตกจากที่สูง หัวฟาดพื้น ทำยังไงดี?

8 วิธีฝึก “สมองส่วนหน้า” ที่ให้ลูกได้มากกว่าทักษะ EF

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up