อารมณ์คนท้อง

อารมณ์คนท้อง สวิงไปมาเป็นเพราะอะไร คลอดแล้วจะหายหรือเปล่า?

Alternative Textaccount_circle
event
อารมณ์คนท้อง
อารมณ์คนท้อง

อารมณ์คนท้อง – อารมณ์แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมถึงฮอร์โมนคนท้องที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อตั้งครรภ์ อีกทั้งความรู้สึกไม่สบายตัวและความกังวลโดยทั่วไปเมื่อต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต หากคุณพบว่ามีความผิดปกติของอารมณ์เกิดขึ้น เช่น เดี๋ยวก็รู้สึกมีความสุขแต่สักพักก็รู้สึกอยากร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ แสดงว่าคุณได้เข้าสู่โหมดของอารมณ์ที่แปรปรวนในระหว่างตั้งครรภ์แล้วค่ะ วันนี้เราจะมาดูถึงสาเหตุที่ทำให้คุณอาจประสบกับอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างตั้งครรภ์ พร้อมวิธีรับมือที่จะช่วยให้คุณผ่านพ้นช่วงเวลาหม่นหมองเหล่านี้ไปได้ค่ะ

อารมณ์คนท้อง สวิงไปมาเป็นเพราะอะไร คลอดแล้วจะหายหรือเปล่า?

หากคุณเคยสับสนระหว่างความสุขที่แท้จริงและความหดหู่สิ้นหวัง แสดงว่าคุณกำลังเผชิญกับอารมณ์แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์ แน่นอนสำหรับคุณแม่ที่เคยผ่านจุดนี้มาแล้ว คงรู้ดีว่ามันเป็นช่วงชีวิตที่ท้วมท้นไปด้วยความสุขและความเศร้า แต่บรรดาว่าที่คุณแม่ที่ต้องเผชิญกับอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ จากความสุข ไปสู่ความเศร้า ความกลัว หรือความโกรธ จะต้องเรียนรู้ที่จะก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ค่ะ

ข่าวดีสำหรับคุณแม่ที่ต้องรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วอารมณ์แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ในที่สุดคุณจะรู้สึกว่าตัวเองกลับมามีอารมณ์ที่สงบอีกครั้งหลังคลอด ในระหว่างนี้ หากคุณอยากรู้ว่าทำไมคุณถึงรู้สึกหงุดหงิด เกรี้ยวกราด หรือเย็นชาในช่วงเวลาใดๆ ก็ตาม เรามีคำตอบพร้อมเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณจัดการกับสิ่งที่ต้องพบเจอได้ค่ะ

อารมณ์แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากอะไร?

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้คุณอารมณ์แปรปรวนในระหว่างตั้งครรภ์ ทั้ง ฮอร์โมน การอดนอน และความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายที่แท้จริงทางร่างกาย สรีรวิทยาและจิตใจ สำหรับพฤติกรรมที่ดูเหมือนเอาแน่เอานอนไม่ได้ คุ้มดีคุ้มร้ายต่างๆ ดังนี้ค่ะ

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนในการตั้งครรภ์ คือ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของคุณ โดยเฉพาะ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และสามารถเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 100 เท่า จากระดับปกติ

ฮอร์โมนเอสโตรเจนเกี่ยวข้องกับการสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin)  หรือ สารแห่งความสุขสงบ คุณอาจรู้ว่าเซโรโทนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้คุณรู้สึก “มีความสุข” อย่างไรก็ตาม เซโรโทนิน ไม่ได้เชื่อมโยงกับความสุขโดยตรง แต่ความไม่สมดุลและความผันผวนของสารสื่อประสาทนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ได้

เอสโตรเจนและเซโรโทนินมีปฏิกิริยาต่อกันอย่างไร ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะชัดเจนที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกค้นพบ คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดความไม่สมดุลทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความวิตกกังวลและความหงุดหงิด มักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ในขณะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมักจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกมีพลัง ในทางกลับกัน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกผ่อนคลาย

สิ่งที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลกระทบต่อร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ คือ มันจะบอกให้กล้ามเนื้อบางส่วนของคุณคลายตัว เพื่อป้องกันการหดตัวของมดลูกก่อนเวลาที่เหมาะสม การผ่อนคลายของกล้ามเนื้อยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงมีอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากโปรเจสเตอโรนไม่ได้ทำหน้าที่แค่ในกล้ามเนื้อมดลูกเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อระบบลำไส้ด้วย และเมื่อลำไส้ของคุณทำงานได้ช้าลง อาจส่งผลให้คุณมีอาการท้องผูกได้

คนท้องอารมณ์แปรปรวน
คนท้องอารมณ์แปรปรวน

สำหรับผู้หญิงบางคน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้รู้สึก “ผ่อนคลาย” มากเกินไป นี่อาจหมายถึงความรู้สึกเซื่องซึมเหนื่อยล้าและรู้สึกหดหู่ ที่สำคัญโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่ทำให้คุณร้องไห้ฟูมฟายได้กับเรื่องสะเทือนใจแม้เพียงเล็กน้อย

  • ความเหนื่อยล้าและการอดนอน

ในช่วงไตรมาสแรกและโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การอดนอนสามารถเพิ่มเชื้อเพลิงให้กับอารมณ์ที่ไม่แน่นอนและทำให้ทุกอย่างระเบิดอารมณ์ออกมาได้ ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์คุณจะรู้สึกเหนื่อยและเพลียมากกว่าปกติ แม้ว่าจะนอนเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกเพลีย ผลกระทบของการพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง ร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพยายามจัดการภาระผูกพันในชีวิตที่ต้องเจอทั้งหลาย

  • แพ้ท้อง

อาการแพ้ท้อง ทำให้เกิดอาการทางร่างกายที่รุนแรง แต่ก็สามารถส่งผลทางจิตใจได้เช่นกัน  การวิ่งหาห้องน้ำหรือถุงเปล่าไม่ใช่เรื่องน่าสนุก และความกังวลที่คุณอาจต้องอาเจียนอย่างกะทันหันในที่ที่มีผู้คนอยู่มากมาย หรือระหว่างการเดินทาง อาจส่งผลต่ออารมณ์ของคุณได้เมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำๆ ความเครียดจากความกังวลว่าอาการคลื่นไส้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่สามารถขัดขวางความคิดที่สงบสุขของคุณและทำให้ความเครียดและความเศร้าเพิ่มขึ้นได้

  • การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ

ร่างกายที่เปลี่ยนไปของคุณอาจทำให้คุณน้ำตาไหลด้วยความรู้สึกยินดีหรือโกรธ แม้บางคนจะชอบดูพุงที่ขยายออกและโตขึ้นอย่างมีความสุขในแต่ละไตรมาส แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาจรู้สึกท้อแท้เมื่อมองดูร่างกายของตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไปมากจนบางครั้งคิดกังวลไปต่างๆ นาๆ ว่าหุ่นสวยๆ ของตัวเองจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกไหม

  • ความวิตกกังวลและความเครียด

คุณอาจกำลังประสบกับความวิตกกังวลโดยทั่วไปเกี่ยวกับการต้องเป็นแม่คน ความเครียดเกี่ยวกับการปรับชีวิตและเรื่องเงินๆ ทองๆ  ตลอดจนคำพูดของคนรอบข้างที่มากระทบจิตใจ  เช่นทำไมท้องเล็กจัง โอยผมร่วงเยอะเลยนะเธอ อาจทำให้คุณรู้สึกกังวล หรือหงุดหงิดใจได้เช่นกัน ที่สำคัญความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการคลอดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเครียดได้ ความกลัวเกี่ยวกับการคลอดบุตรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีเหตุผล แต่ก็อาจบานปลายจนเป็นเรื่องใหญ่โตได้ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกว่าตัวเองคุ้มดีคุ้มร้าย ในขณะที่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเจ็บปวดจากการหดตัวหรืออนาคตของแผลฝีเย็บของคุณตลอดไป  บ้างก็คิดว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นให้กังวลใจได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรกที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อน

นอกจากนี้ หากคุณเคยประสบกับภาวะแทรกซ้อนหรือการแท้งบุตรในอดีต ความวิตกกังวลของคุณไม่เพียงเป็นที่เข้าใจได้เท่านั้น แต่ยังต้องเสียภาษีทางอารมณ์อีกด้วย การพูดคุยกับ OB ของคุณเมื่อมีข้อกังวลปรากฏขึ้นจะช่วยบรรเทาความกระวนกระวายใจเหล่านี้ได้

ปกติหรือไม่ที่จะรู้สึกเกรี้ยวกราด ระหว่างตั้งครรภ์?

ผู้หญิงบางคนรู้สึกหงุดหงิดและถึงกับระเบิดอารมณ์ได้อย่างรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ อย่างที่ทราบกันว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารมณ์แปรปรวน เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงบางคนรู้สึกหงุดหงิดก่อนมีประจำเดือนทุกเดือน ซึ่งผู้หญิงคนเดียวกันนี้อาจต้องต่อสู้กับความรู้สึกหงุดหงิดและโมโหและฉุนเฉียวระหว่างตั้งครรภ์

นอกจากนี้ เมื่อคุณรู้สึกไม่สบาย ความสามารถในการสงบสติอารมณ์ก็จะลดลง ผลที่ตามมาคือ ความเหนื่อยล้าของการตั้งครรภ์และความรู้สึกไม่สบายทางร่างกายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความโกรธขณะตั้งครรภ์ การต้องคอยควบคุมอารมณ์เมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ท้าทายเสมอ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้สึกหงุดหงิดเป็นครั้งคราวอาจเป็นเรื่องปกติของคนท้อง แต่อย่าเพิกเฉยต่อความโกรธเหล่านี้หากว่ามันเกิดขึ้นบ่อยเกินไปจนรบกวนความสามารถในการรับมือกับชีวิตประจำวันของคุณ ที่สำคัญมีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าความโกรธระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าอารมณ์เครียดและอารมณ์โกรธก่อนคลอดมีความเชื่อมโยงกับอัตราการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ที่ลดลง นั่นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการที่ใครๆ ก็ตามบอกคุณตอนตั้งครรภ์ว่าพยายามอย่าเครียดกับชีวิตให้มากนักนั่นเองค่ะ

อ่านต่อ…อารมณ์คนท้อง สวิงไปมาเป็นเพราะอะไร คลอดแล้วจะหายหรือเปล่า? ได้ที่หน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up