การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI

Alternative Textaccount_circle
event
การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI
การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI

การทำ ICSI ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

เราจะเริ่มจากในฝ่ายหญิง โดยการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวันเริ่มจากวันที่ประจำเดือนมาวันที่ 2 รวมเป็นเวลาประมาณ 10 วัน เพื่อให้ได้ไข่มากกว่าในภาวะปกติซึ่งจะมีไข่ 1 ฟองต่อรอบเดือน เราจะฉีดยาจนได้ไข่โตเต็มที่ซึ่งจะทราบจากการเจาะเลือดและอัลตร้าซาวน์ ก็จะกำหนดวันเก็บไข่ซึ่งจะใช้เข็มเจาะดูดออกทางช่องคลอด โดยให้ยาสลบร่วมด้วยทำให้ไม่เจ็บ และก็ไม่มีแผลทางหน้าท้อง ไข่ที่ถูกเก็บออกมาจะถูกนำมาเตรียมให้พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ

ส่วนฝ่ายชายเราจะเริ่มจากการเก็บน้ำเชื้อ ในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ น้ำเชื้อที่ได้มาจะผ่านขั้นตอนการเตรียมเพื่อคัดเลือกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยในขั้นตอนการคัดเลือกตัวอสุจิที่ดี อาจใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูงขยายดูรูปร่าง อาจใช้สารเคมีพิเศษ หรือการคัดเลือกอสุจิโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก มาช่วยคัดเลือกตัวอสุจิที่ดีที่สุด แล้วตัวอสุจินี้จึงจะนำมาปฏิสนธิด้วยวิธีการ ICSI กับฟองไข่ที่เก็บได้ อีกทีหนึ่ง

เพราะปฏิสนธินอกร่างกาย จะเห็นผลเป็นตัวอ่อนเลยใช่ไหม?

เมื่อเราได้ตัวอ่อนจากการปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนระยะนี้จะยังมีขนาดเล็กมาก ต้องดูโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย เราจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนซึ่งจะถูกควบคุมทั้งอุณหภูมิ แสงสว่าง ความเป็นกรดด่าง และน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน การเลี้ยงตัวอ่อนนี้จะใช้เวลานาน 3-5 วัน ก่อนที่เราจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสูโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

ข้อจำกัดของการทำ ICSI

ถึง ICSI จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์วิธีหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วโอกาสความสำเร็จโดยรวมจากการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 30-40 % เท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมและแก้ไขได้ เช่น คุณภาพของไข่หรือความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้บางคู่ที่มีปัญหาจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการกระตุ้นไข่และทำ ICSI หลายครั้งกว่าจะตั้งครรภ์ได้สำเร็จ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจหรือกำลังจะทำ

สำหรับคู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือรักษาด้วย ICSI ควรเข้ารับการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร เพื่อตรวจหาโรคที่อาจเป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์ได้ก่อน และหากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองภายในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังหยุดคุมกำเนิด ก็ควรเข้ามารับการตรวจรักษาเรื่องมีบุตรยาก เพราะยิ่งรักษาเร็วตอนที่อายุยังน้อย ก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่าตอนที่อายุมากขึ้นครับ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก

อาหารทำให้ท้อง สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่อยากมีลูก

อยากมีลูก ต้องมีสูตร (เซ็กซ์) ลับ!


เรื่องโดย :  นพ. วรวัฒน์ ศิริปุณย์  สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up