การเรียนลูก

การเรียนลูก เป็นเพียงเรื่องของครู จบที่โรงเรียนจริงหรือ?

Alternative Textaccount_circle
event
การเรียนลูก
การเรียนลูก

อยากให้ลูกได้คะแนนดี สอบเข้าโรงเรียนดี ๆ ได้ พ่อแม่ต้องให้ลูกเรียนหนัก เรียนเสริม แต่?? การเรียนลูก ที่เป็นแบบทุกวันนี้ ดีกับลูกจริงหรือ?

การเรียนลูก เป็นเพียงเรื่องของครู จบที่โรงเรียนจริงหรือ?

เร็ว ๆ นี้ทางเพจ Facebook ของ  TEP – Thailand Education Partnership ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ได้ปล่อยคลิปที่น่าสนใจสำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียนอย่างเรา ๆ ให้ได้ฉุกคิดถึงบทบาทของผู้ปกครองต่อการเรียนของเด็กในสมัยนี้ ว่าพ่อแม่ที่คิดว่าจะทำทุกอย่าง ทุกวิธีการ เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกรักของเราเพื่อให้ได้เรียนเก่ง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นติวเตอร์ที่ไหนที่ว่าดี โรงเรียนไหนที่ว่าดัง  สอบยากแค่ไหนก็ต้องฝ่าฟันให้ลูกเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นให้ได้ แต่เพียงแค่นี้จะเพียงพอต่อชีวิตของลูกน้อยของเราแล้วจริงหรือ? การเรียนเป็นแค่เรื่องของตำราเรียน ตัวหนังสือ และการบ้านเท่านั้นจริงหรือไม่?

ดูคลิป!! จัดการลูกได้เลยครู เอาให้หนัก!!

ขอบคุณคลิปจาก : TEP – Thailand Education Partnership ภาคีเพื่อการศึกษาไทย

จากคลิปดังกล่าว ที่แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่คาดหวังให้ลูกเรียนหนัก ๆ ได้เข้ามาพูดคุยกับทางคุณครูว่าอยากให้ครูดูแลลูกอย่างไรบ้าง ? โดยยังไม่ทราบถึงว่าจะมีการทดลองให้ผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นได้เรียนด้วยตนเองเสมือนกับตัวเองเป็นลูกที่ต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนจริง ๆ

“ถ้าสมมติเขาไม่ตั้งใจเรียน จัดการได้เลยค่ะครู เอาให้หนัก”

“อยากให้เขามีการบ้านทุกวัน จะได้มีความจำเพิ่มขึ้น เพราะหน้าที่ของเขาคือเรียน”

“อยากให้ครูจี้ให้เขาสนใจเรียนตลอดเวลา”

ประโยคยอดฮิตของเหล่าผู้ปกครองเวลาเข้าพบครูของลูก แต่เมื่อตัวเองต้องมาเจอสถานการณ์เดียวกันกับลูกจะยังคงคิดแบบนี้อยู่หรือไม่ ในคลิปก็มีคำตอบให้เรา ๆ เหล่าบรรดาผู้ปกครองได้เห็น และตระหนักถึงความรู้สึกของลูก เวลาต้องเข้ามาเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ ที่ใช้แต่การท่องจำ อ่าน เขียน ตอบ นั่งเฉย ๆ ในห้องสี่เหลี่ยมว่าคงไม่ใช่วิธีการที่ดีในการเรียนรู้เป็นแน่ ขนาดว่าวุฒิภาวะของผู้ใหญ่อย่างแม่ ๆ กลุ่มตัวอย่างในคลิปยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ไปได้อย่างเต็มที่ในการเรียนการสอนแบบนี้ แต่เมื่อคุณครูได้เฉลย และขอให้เปลี่ยนวิธีการใหม่ ให้มาร่วมกันระดมความคิดว่าต้องการรูปแบบการเรียนรู้แบบไหน และทำตาม บรรยากาศการเรียนการสอนของห้องก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง พร้อม ๆ กับความรู้สึกของบรรดาแม่กลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยว่าการเรียนไม่จำเป็นต้องท่องแต่ตำราเหมือนดั่งความรู้สึกตอนแรกอีกต่อไป

ลูกเรียนหนัก
ลูกเรียนหนัก

คลิปนี้ สอนอะไรเราบ้าง?

ในคลิปดังกล่าว ถือว่าเป็นการทดลองจำลองสถานการณ์ที่ดีมาก เมื่อได้ดูแล้วจะได้แง่คิดต่าง ๆ มากมายกับ การเรียนลูก เราในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของ

  • บทบาทของพ่อแม่ต่อการเรียนของลูก ที่ไม่ใช่เพียงแค่การซับพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่าย หาที่เรียน ที่ติวเท่านั้น แต่ควรมีความเข้าใจในหลักสูตรการเรียนของลูกบ้าง จะได้ช่วยเสริมจุดอ่อนของลูกได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็คงมีปัญหาที่ต่างกันไป ถ้าเรารู้ถึงเนื้อหาที่แท้จริง ก็คงไม่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่า แม่ดีแต่สั่งให้เรียน แต่ไม่เคยเข้าใจเขาเลย
  • วิธีการสอนของครู ถึงแม้บางคนอาจจะมองส่วนนี้ควรเป็นหน้าที่ของครูในการจัดการ แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่า การเรียนลูก มิได้เป็นเพียงการท่องจำ หรือนั่งอ่านเพียงอย่างเดียวเราก็จะสามารถเลือกครู หรือติวเตอร์ที่มีเทคนิคการสอนที่มาช่วยเสริมการเรียนรู้ของลูกเราได้
  • ความจ้ำจี้จ้ำไชลูกเราจะหมดไป หากเราเข้าใจกับคำว่า “คุณภาพ” ดีกว่า “ปริมาณ” มีพ่อแม่หลายคนที่ต้องการเห็นลูกนั่งทำการบ้านมาก ๆ จะได้รู้สึกว่าเขาตั้งใจเรียน แต่จากในคลิปจะเห็นได้ว่า การนั่งท่องจำทำอย่างไรก็ไม่สามารถจำได้หมดแม้แต่วัยผู้ใหญ่อย่างแม่ในคลิป แต่เมื่อเป็นการเรียนจากการเล่น การทดลองกลับพบว่าประสิทธิผลในการเรียน การจำ ทำได้ดีกว่ามาก

5 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังกดดันลูกมากเกินไป

เราลองมาสังเกตตัวเองกันดูว่ามีพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ ที่อาจเป็นบ่อเกิดสร้างแรงกดดันมากเกินไปในเรื่อง การเรียนลูก หรือไม่? ถ้ามีทั้ง 5 ข้อนี้ ควรปรับพฤติกรรมโดยด่วน!!

  1. คำติมากกว่าคำชม ในพ่อแม่บางคนยึดหลักการว่า “ติเพื่อก่อ” แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัย และบทความทางวิชาการมากมายที่แสดงให้เห็นแล้วว่า วัยเด็กนั้น จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าหากผู้ปกครองรู้จักชม มากกว่าการตำหนิ เพราะจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำสิ่งใด ๆ ได้ดีกว่าที่ต้องคอยรู้สึกว่าตัวเองแย่ไม่ได้เรื่องตลอดเวลา
  2. ไม่ปล่อยให้ลูกได้จัดการกับเรื่องของเขาเอง หากคุณมักจะคอยทำ หรือกำหนดเรื่องต่าง ๆ ให้แก่ลูกคุณ และพวกเขามีหน้าที่ที่แค่คอยทำตามคำสั่งคุณเท่าน้ั้น รู้หรือไม่ว่าจะเกิดผลเสียอย่างมากมายกับพฤติกรรมของลูกน้อยของคุณ อาจทำให้เขากลายเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่มีภาวะผู้นำ หากคุณกังวลถึงความผิดพลาด ลองค่อย ๆ ให้เขาได้จัดการและตัดสินใจในเรื่องเล็ก ๆ ค่อย ๆ พัฒนาการกันไป
  3. หากคุณพบว่าคุณมักจะพูดถึงผลเสียที่ร้ายแรงหากเขาไม่สามารถทำได้สำเร็จอยู่บ่อย ๆ นั่นเป็นพฤติกรรมที่คุณกำลังกดดันลูกของคุณอย่างไม่รู้ตัว เพราะในโลกของการแข่งขันย่อมมีแพ้ชนะอยู่เสมอ หลักความเป็นจริงถึงเขาจะแพ้ในการแข่งนี้แต่ก็มิได้หมายความว่าเขาจะแพ้ตลอดไป ลองเปลี่ยนเป็นการร่วมกันวิเคราะห์ข้อผิดพลาดเพื่ออนาคตครั้งหน้าจะดีกว่าไหม
  4. คุณมักเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ด้วยความหวังว่าเขาจะได้มีแรงฮึดสู้ แต่ในทางกลับกัน ลูกอาจรู้สึกว่ากดดันจนไม่อยากแข่งขันกับใครอีกต่อไป เขาก็อาจจะทำสิ่งนั้นอย่างระแวง ไม่มีความสุข เมื่อเป็นแบบนี้ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่ดีเท่าที่ควร
  5. คุณอารมณ์เสียบ่อย ๆ นั่นเพราะมาจากการที่คุณไปตั้งความหวังกับลูกอยู่ทุกเรื่องตลอดเวลา เมื่อเรื่องใดไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็ทำให้คุณเกิดความหงุดหงิดใจ ซึ่งมันจะแสดงออกและลูกคุณสามารถรับรู้ได้ จึงเป็นพฤติกรรมที่สร้างความกดดันให้ลูกคุณอย่างมาก

ตัวอย่างแง่คิดเพียงเล็กน้อยที่ได้จากคลิปสั้น ๆ  เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ก็ทำให้เราตระหนักถึงว่า การเรียนรู้มิได้หยุดอยู่แค่ตำรา หรือในโรงเรียน และมิใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของครู แต่เป็นความร่วมมือทั้งจากครู นักเรียน และเรา ผู้ปกครองที่ต้องร่วมกัน ทำความเข้าใจแล้วจะสามารถพัฒนาระบบการศึกษาของไทยเราไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ มาร่วมกันสร้าง การเรียนของลูก ให้เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน

“อนาคตของลูกน้อย อนาคตของชาติ พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยสร้าง….เริ่มกันตั้งแต่วันนี้”

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

สิ่งที่ต้องสอนลูกก่อนวัย 3 ขวบ เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน

ให้ลูกเรียนออนไลน์ อย่างไร? ถ้าแม่ต้องไปทำงาน?

กดดันเรื่องการเรียน ได้ผลเสียมากกว่าผลดี

ดนตรีพัฒนาสมอง เพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้ลูกน้อย

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก Honestdocs

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up