วายร้าย วัยทอง 2 ขวบ

วายร้าย วัยทอง ไม่ได้มีแค่ 2 ขวบ พ่อแม่เตรียมรับมืออย่างไรดี

Alternative Textaccount_circle
event
วายร้าย วัยทอง 2 ขวบ
วายร้าย วัยทอง 2 ขวบ

วัยทอง 2 ขวบ อาการเหวี่ยง วีนของอารมณ์ลูกน้อย ที่พ่อแม่มักตกใจจากเด็กน่ารักทำไมลูกเราถึงเปลี่ยนไป เรียนรู้วิธีรับมือพร้อมก้าวผ่านไปด้วยกัน

วายร้าย วัยทอง ไม่ได้มีแค่ 2 ขวบ พ่อแม่เตรียมรับมืออย่างไรดี??

วัยทอง เป็นคำเรียกที่เมื่อพูดถึงใคร ๆ ก็จะนึกถึงวัยของผู้ใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฮอร์โมน และพฤติกรรม อารมณ์ แต่ใช่ว่าวัยทองจะมีเพียงแค่ในวัยผู้ใหญ่นะ เมื่อลูกน้อยของเราเริ่มเข้าสู่วัยเตาะแตะ อายุ 2-3 ขวบ ทำไมถึงมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นแบบนี้ล่ะ มาชวนพ่อแม่รู้จักกับคำว่า Terrible 2 หรือ วัยทอง 2 ขวบกัน

Terrible Two คืออะไร??

วัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible two เด็กในวัย 2-3 ขวบ เด็กวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม อย่างเห็นได้ชัด เด็กมักจะเริ่มมีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่คุณพ่อคุณแม่นั้นคาดเดาได้ยาก เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่างๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของตัวเอง ดังนั้น เด็กจะเกิดความไม่พอใจและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยพฤติกรรมจะเป็นไปตามสรีรวิทยาของสมอง และในจังหวะที่เด็กอายุประมาณขวบกว่าๆ เป็นช่วงของสมองในด้านของอารมณ์ที่เริ่มจะพัฒนามากขึ้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลาลูกของเรานั้นมีอารมณ์ มักจะเป็นอารมณ์ที่ขึ้นลงแบบสุดๆ เช่น ดีใจสุด โกรธสุด เสียใจสุด มักจะไม่ค่อยมีเหตุผล เพราะสมองส่วนเหตุผลจะโตช้ากว่าส่วนของอารมณ์ จึงทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าเด็กในวัยนี้อารมณ์จะเด่นชัดมาก เวลาที่เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นจะแสดงออกทางอารมณ์ทันที โดยที่ยังไม่มีเหตุผล

วายร้าย วัยทอง 2 ขวบ
วายร้าย วัยทอง 2 ขวบ

ลูกผิดปกติไหม ทำไมถึงเป็น??

ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า อาการวีน เหวี่ยง หรืออารมณ์ขึ้นสุดลงสุดของลูกน้อยในช่วงวัยนี้ ไม่ได้เป็นเพราะเขานิสัยไม่ดี หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จะกล่าวได้ว่า เป็นปกติของพัฒนาการของเด็กวัยนี้ เพียงแต่ว่าจะมีอารมณ์รุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์ของเด็กเองด้วย

พื้นอารมณ์ของเด็ก (Temperament)

ปัจจัยที่มีผลต่อนิสัยของเด็กมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ คือ ธรรมชาติสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีอุปนิสัยอย่างไรหรือ ในทางการแพทย์นั้นจะเรียกส่วนนี้ว่า พื้นอารมณ์ของเด็ก (Temperament)   เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยแตกต่างกันออกไป แต่พื้นอารมณ์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว

เด็กที่มีนิสัยใจร้อน เอาแต่ใจ ขี้เหวี่ยง แต่ถ้าการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยที่ก้าวร้าว เมื่อโตขึ้นก็จะไม่ได้มีนิสัยที่ใจร้อนจนขีดสุด จะสามารถควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีได้ แต่ในช่วงวัยนี้ที่เด็กใจร้อนหรืออารมณ์เสียง่าย เหวี่ยงวีน เป็นไปตามวัยตามพัฒนาการของสมองที่กล่าวไว้ข้างต้น เด็กบางคนที่มีพื้นฐานนิสัยเป็นคนที่ใจร้อนก็อาจแสดงออกมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่จะต้องยิ่งใส่ใจในการปรับพฤติกรรมให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม

วัยทอง 2 ขวบ นานแค่ไหนที่ลูกจะหายอารมณ์ร้อน ?

ลูกจะมีอารมณ์โกรธ เหวี่ยง นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย นั่นคือ ปัจจัยของตัวเด็กและปัจจัยในการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว ว่าจะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกไปในทิศทางไหน คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยงดูลูกในรูปแบบที่ให้เขาสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ต้องค่อยๆ อธิบายให้เหตุผลกับลูกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำได้ สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ สิ่งไหนเหมาะสมและสิ่งไหนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเพราะเรากำลังพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการใช้เหตุผล

และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เด็กจะต้องเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลหรือไปอยู่ในสังคมที่มีเด็กคนอื่น มีกิจกรรมกับเพื่อนๆ ครู หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ เด็กก็จะสามารถได้เรียนรู้ในการที่จะอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ว่าเขาจะต้องควบคุมพฤติกรรม ควบคุมอารมณ์ของตัวเองอย่างไร จะสามารถช่วยให้เขาปรับพฤติกรรมและอารมณ์ให้เป็นไปทางที่ดีขึ้นได้

 

ที่มา :  @RamachannelTV

หยุดลูกด้วย การกอด!!

เมื่อลูกอารมณ์รุนแรง ขว้างปาข้าวของ ร้องไห้เสียงดัง กรี๊ดสนั่น ลงไปนอนดิ้นกับพื้น และอีกหลายหลายพฤติกรรมที่พ่อแม่คงจะตกใจ ทำตัวไม่ถูกเมื่อเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ของเขา ให้คุณลองตั้งสติแล้วปลอบโยนลูกด้วยวิธีง่าย ๆ แต่มากประสิทธิภาพ นั่นคือ การกอด การปลอบโดยการกอด เพื่อให้อารมณ์นั้นเบาลง เด็กส่วนมากชอบให้คุณพ่อคุณแม่กอดเขา ในขณะที่กอดเขานั้นก็อาจจะจับมือของลูกไว้เป็นการบ่งบอกถึงการห้ามไม่ให้เด็ก ปาของ ตี หรือทำร้ายร่างกายตัวเอง เราจะไม่เบี่ยงเบนให้เด็กไปสนใจอย่างอื่น เพื่อให้หายโกรธ แค่ระวังไม่ให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และบอกลูกด้วยคำพูดสั้น ๆ เป็นระยะว่า “เมื่อลูกหยุดร้องไห้ แม่ถึงจะคุยด้วย ” แล้วให้เวลาลูกสงบลง แล้วค่อยพูดคุย ชี้ให้ลูกเห็นถึงอารมณ์ที่เขาแสดงออกมานี้ว่า เป็นอารมณ์ใด คุณพ่อและคุณแม่ต้องให้คำจำกัดความของลูกให้ถูก ว่าอารมณ์ที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้นคืออะไร และบอกว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะต้องใช้วิธีการบอกสั้นๆ ไม่ต้องยาว แต่ต้องหนักแน่น เช่น “หนูกำลังโกรธอยู่ แต่ว่าหนูขว้างของไม่ได้ และหนูกัดแม่ไม่ได้” เพราะเด็กยังเล็กยังไม่สามารถเข้าใจในภาษามากนัก วิธีนี้เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง และวิธีในการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

อ่านต่อ>> 10 เคล็ดลับ เตรียมรับมือลูกวัยทอง 2 ขวบ คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up