พาลูกน้อยวิ่งฝ่า “ความกลัว”

Alternative Textaccount_circle
event

• ยอมรับกันก่อน ว่าความกลัวเป็นความรู้สึกที่มีจริง คุณเองก็รู้ แต่การไม่สนใจความกลัวของลูก หรือพยายามบอกลูกวัยนี้ว่าความกลัวนั้นไม่มีจริง หรือบอกให้เขาเลิกกลัว “อย่ากลัวสิ” “ทำตัวเป็นเด็กไปได้” มักทำให้เหตุการณ์แย่ลง และอาจทำให้เขายิ่งพัฒนาความกลัวไปอีก เช่น จากกลัวนกอาจกลายเป็นกลัวสัตว์ที่บินได้ทุกชนิด เป็นต้น

 
การยอมรับความกลัวของลูกไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต เพียงแค่แสดงออกยามที่ลูกต้องการ เช่น เมื่อลูกวัยนี้กลัว เขามักวิ่งหาพ่อหรือแม่ ยามเขามาเกาะขาคุณแล้วบอกกลัว ก็โอบกอดเขา บอกให้เขารู้ว่าคุณรับรู้ความกลัวของเขา “กลัวอะไรหรือลูก ไหนบอกแม่หน่อย” “กลัวตู้มืดๆ หรือลูก ไม่เป็นไรนะ แม่อยู่นี่”

 
• หนามยอกเอาหนามบ่ง ไม่ดีเสมอไป การบังคับหรือท้าทายให้เผชิญหน้ากับความกลัวโดยตรงไม่น่าจะใช่วิธีที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก เช่น เขากลัวที่มืด ก็บังคับให้ดูใต้เตียงนอนหรือตู้เสื้อผ้า เป็นต้น เพราะวิธีนี้อาจทำให้ความกลัวเปลี่ยนเป็น “ความหวาดผวา” ฝังใจได้

 
• บอกลูกว่าทุกคนมีสิ่งที่กลัว คุณเองก็มี และ เล่าว่าคุณเอาชนะความกลัวนั้นอย่างไร ควรระวังสักนิด เพราะอาจเป็นการ “นำเสนอ” ความกลัวสิ่งใหม่ให้ลูกได้ เลือกเรื่องที่คุณจะเป็นแบบอย่างที่ดีได้ เช่น ถ้าคุณร้องกรี๊ดตอนเห็นแมลงสาบก็ผ่านเรื่องนี้ไป แต่ถ้าคุณเห็นแมลงสาบมาทางขวา คุณก็เดินไปซ้าย “ทางเดินมีตั้งเยอะลูก แม่ไม่เดินทางเดียวกับแมลงสาบหรอก” ก็เล่าให้ลูกฟังไป

 
• ไม่หัวเราะหรือล้อเลียนกัน แทนที่ลูกจะเห็นเป็นเรื่องตลกหรือสนุก (อย่างที่คุณอยากให้เขาคิดหรือรู้สึก) ลูกอาจรู้สึกว่าคุณไม่สนใจก็จะกลับไปที่ข้อแรก เหตุการณ์อาจแย่กันไปอีก

 
• สร้างความมั่นใจเพื่อลดความกลัว หมั่นชมลูก ไม่ว่าสิ่งที่เขาทำจะเล็กน้อยแค่เก็บยาง 1 เส้นที่ตกพื้นให้คุณ และอย่าให้ลูกรู้สึกว่าคุณรักเขาน้อยลงเพียงเพราะเขากลัว “ถ้ายังไม่เลิกกลัว…แม่จะไม่รักนะ”

 
• เก็บของที่อาจเป็นสาเหตุความกลัว

 
• ลูกอาจกลัวโดยมีตัวคุณเป็นสาเหตุ! เช่น คำพูดซ้ำๆ คำขู่ต่างๆ “อย่าไปใกล้คนแปลกหน้านะ เดี๋ยวจะโดนลักพาตัว” คำแนะนำคือ เปลี่ยนคำขู่ คำท้าทายต่างๆ เป็นคำพูดในทางบวกจะดีกว่า เช่น ถ้าดูท่าทีลูกน้อยไม่ค่อยไว้ใจแมวที่กำลังเดินมาหา แทนที่จะพูดว่า “ไม่ต้องกลัว” คุณก็เดินเข้าไปใกล้ลูกลองพูดว่า “ดูแมวน้อยสิลูก ท่าทางมันอยากจะสวัสดีเราแน่ะ” จะดีกว่าค่ะ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up