สอนลูกให้เป็นคนดี

10 ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม!

event
สอนลูกให้เป็นคนดี
สอนลูกให้เป็นคนดี

เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี

สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 4 ความซื่อสัตย์ คุณธรรมพื้นฐานของการเป็นคนดี

ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมที่แสดงถึงความจริงใจ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความตรงไปตรงมา ไม่โกหก ไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการเป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ทำให้ลูกเป็นคนที่น่าเชื่อถือและได้รับความเคารพ

วิธีการที่จะสอนเรื่องความซื่อสัตย์ให้ได้ผล พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง แสดงความซื่อสัตย์ให้ลูกเห็น ทั้งในเรื่องของคำพูด คือไม่พูดจาโกหก เมื่อสัญญาหรือรับปากว่าจะทำสิ่งใดก็ทำตามนั้น ไม่ประพฤติผิดในการคดโกงยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่น หรืออยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน อีกทั้งพ่อแม่ควรมีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน

ความซื่อสัตย์มีจุดเริ่มต้นจากจิตใจที่เข้มแข็ง เด็กส่วนใหญ่มักเริ่มพูดโกหกเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือกลัวโดนดูถูก ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อทำผิดต้องยอมรับ การลงโทษจะต้องลงโทษอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้อารมณ์ และควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงเพื่อไม่ให้ลูกกลัวที่จะถูกลงโทษ ที่สำคัญต้องแสดงให้ลูกรู้ว่า แม้ลูกจะทำผิด แต่พ่อแม่ก็ยังรักและไม่ทอดทิ้ง

ส่วนการขโมยนั้น หากปรากฏในเด็กเล็กมักจะเกิดขึ้นเพราะเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของ และไม่รู้ว่าการขโมย (การเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากไม่ได้รับการสั่งสอน เด็กก็จะเคยชิน และทำไปเรื่อยๆ พ่อแม่จึงต้องอบรมสั่งสอนและปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของ และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากนำของผู้อื่นมาจะทำให้เจ้าของเสียใจและรู้สึกไม่ดี

♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠

สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 5 พอเพียงก็เพียงพอ

ปัจจุบันท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันและกระแสวัตถุนิยมอันเชี่ยวกราก หลักความพอเพียงอันเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ถือเป็นหลักปฏิบัติหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวสามารถยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง รวมถึงช่วยกล่อมเกลาให้ลูกเติบโตขึ้นไปโดยไม่ไหลตามกระแสวัตถุ

การสอนลูกให้พอเพียงนั้นไม่ยาก เริ่มต้นจากพ่อแม่ต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ดูแลปัจจัยสี่อย่างพอดีตามฐานะ ใช้จ่ายโดยไม่เกินความสามารถของตนและไม่สร้างนิสัยฟุ้งเฟ้อให้เด็กด้วยการตามใจ หรือทุ่มเทให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการ สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน เมื่อลูกโตขึ้น ควรหัดให้เขาดูแลค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตัวเอง เพื่อให้ลูกฝึกฝนการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียงกับรายได้ที่ได้รับและการเก็บออม เพื่อสะสมทุนไว้สำหรับการใช้จ่ายในอนาคต

นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เช่น ช่วยเหลืองานบ้าน เพื่อสร้างนิสัยให้มีความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของการทำงาน เด็กจะได้รู้ว่าการที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จต้องลงมือทำด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใดๆ ได้ และจะต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เรื่อยไป

♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠

สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 6 ขยันหมั่นเพียรอย่างสร้างสรรค์

ความขยันหมั่นเพียรนั้นคือเครื่องมือสำคัญในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ แต่เพียงแค่ความมุมานะนั้นยังไม่พอ จะต้องรู้จัก ขยัน ให้ถูกทางด้วย ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ อิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรม 4 ข้อเพื่อความสำเร็จในชีวิต หากเด็กๆ ยึดหลักธรรมนี้ก็จะช่วยให้มีแนวทางในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์

หลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

  • ฉันทะ คือ ความพอใจ = ก่อนจะเริ่มทำสิ่งใดจะต้องมีความรู้สึกชอบ, พอใจ และมีความสุขที่ได้ทำสิ่งนั้นๆ เสียก่อน จะทำให้สามารถอดทนต่อความยากลำบากในการเรียนรู้และการฝึกฝนได้มากกว่าผู้ที่ฝืนใจตั้งแต่เริ่มต้น ในชีวิตคนล้วนมีทั้งสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบ หลายครั้งที่ลูกอาจต้องพยายามทำสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น ในวัยเด็กเล็ก ก็คือ การกินอาหารที่ไม่ชอบ หรือการทำการบ้านในวัยเรียน ฯลฯ สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยสร้างฉันทะให้ลูกได้ ก็คือ กำลังใจและคำชม รวมถึงชี้ให้ลูกเห็นข้อดีของการทำสิ่งที่ไม่ชอบ ที่สำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงการบังคับฝืนใจลูก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กมีความรู้สึกแง่ลบต่อสิ่งนั้นๆ
  • วิริยะ คือ ความพากเพียร = ความอุตสาหะและมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อแม้เมื่อพบกับอุปสรรค มองปัญหาและอุปสรรคเป็นความท้าทาย ไม่ย่อท้อง่ายๆ ข้อนี้พ่อแม่มีส่วนช่วยได้ด้วยการสนับสนุนและให้กำลังใจลูก คอยรับฟังเมื่อลูกมีปัญหา แม้บางครั้งพ่อแม่จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่อย่างน้อยลูกก็จะรู้ว่ามีผู้ที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจอยู่

อย่างไรก็ตาม การมุ่งมั่นมากเกินไปจนไม่สนใจสิ่งอื่น ก็อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยฟุ้งซ่าน และทำให้ชีวิตขาดสมดุลได้ พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตลูก ไม่ให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกระทั่งไม่สนใจสิ่งอื่น เช่น หากลูกเป็นเด็กขยันเรียนก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรให้เด็กนั่งติดโต๊ะทั้งวัน ต้องชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมอื่น เช่น ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจบ้าง

  • จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ = การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ไม่ปล่อยปละละเลยในงานที่ทำ ไม่ล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน พ่อแม่ช่วยได้ด้วยการใส่ใจลูก คอยหมั่นสอบถามและกระตุ้นให้ลูกมีความมุ่งมั่นอย่างสร้างสรรค์
  • วิมังสา คือ หมั่นใช้ปัญญาใคร่ครวญ = ตรวจหาเหตุผลและตรวจสอบสิ่งที่ทำ รู้จักวางแผนและปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ การทำงานทุกอย่างต้องมีการวางแผน ใช้ปัญหา และเรียนรู้ หรือก็คือ การฝึกคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักแยกแยะข้อดีข้อเสีย ซึ่งพ่อแม่สามารถสอนลูกได้ตั้งแต่เล็ก ด้วยการชี้ให้เขาเห็นข้อดีข้อเสียของสิ่งต่างๆ เมื่อลูกประสบปัญหาก็ไม่ลงไปแก้ไขให้ทันที แต่ลองชี้ให้ลูกเห็นและให้ลูกลองลงมือทำด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วย

♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠

สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 7 อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุข

การปรับเข้ากับสังคมภายนอกถือเป็นทักษะที่พ่อแม่ต้องปูพื้นฐานให้ลูกตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เพราะลูกต้องเติบโตขึ้นและเข้าสังคมกับคนอื่นซึ่งไม่ได้มอบความรักให้เด็กอย่างไม่มีเงื่อนไขเหมือนคนในครอบครัว ลูกจึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ

ข้อนี้หลักพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมครองใจ 4 ประการ ที่บุคคลในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติ เพื่อดำเนินสู่ทางอันประเสริฐทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นหลักธรรมที่ควรมุ่งสอนให้แก่ลูก หลักพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย

  • เมตตา คือ ความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข = ความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นเป็นสุขโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน การที่ลูกมีเมตตาจะทำให้ไม่กลายเป็นคนเบียดเบียน รังแก หรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมถึงเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ซึ่งพ่อแม่สามารถปลูกฝังความเมตตาให้ลูกได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันในขอบเขตที่เหมาะสมและสมควรกับฐานะของตน
  • กรุณา คือ ความประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ = ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้เป็นคนมีน้ำใจ รวมถึงทำประโยชน์ต่อส่วนรวม พ่อแม่สามารถปลูกฝังได้ด้วยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเหมาะสม และชวนลูกไปทำสาธารณะประโยชน์
  • มุทิตา คือ ความยินดีในความสุขที่ผู้อื่นได้รับ = ยินดีและยกย่องให้ความดี/ความสุขของผู้อื่น ทำให้จิตใจปลอดจากความอิจฉาริษยา ซึ่งจะบั่นทอนความดีของตนเอง พ่อแม่ควรประพฤติตนให้เป็นตัวอย่าง งดเว้นการนินทาหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในทางเสียหาย รวมถึงยินดีต่อความสุขของผู้อื่นและชี้ให้ลูกเห็นว่า ผลของความสุขนั้นเกิดจากการกระทำที่สร้างสรรค์
  • อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางต่อความสุขและความทุกข์ที่เกิดแก่ตนและผู้อื่น = ความสงบใจ ไม่อิจฉาริษยา เคารพความคิดและการแสดงออก ยอมรับในผลแห่งการกระทำของทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมผู้ที่ตกอับ พร้อมกับมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือตามสมควร

อ่านต่อ >> “ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up