เด็กแบกกระเป๋าหนัก

เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไปโรงเรียน อันตรายอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กแบกกระเป๋าหนัก
เด็กแบกกระเป๋าหนัก

เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไปโรงเรียน อันตรายอย่างไร

เปิดเทอมมาได้สักระยะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน ก็คงชื่นใจที่ได้เห็นภาพลูก ๆ หลาน ๆ ของเราสะพาย ถือกระเป๋า หรือลากกระเป๋าลากไปโรงเรียนกันนะคะ แต่เคยฉุกคิดไหมคะว่า ลูก ๆ หลาน ๆ ของเรา ควรแบกกระเป๋าหนักเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เพราะเราก็มักจะเห็นภาพเด็กสะพายกระเป๋าที่อัดแน่นไปด้วยสิ่งของทั้งหนังสือ กล่องดินสอ และสิ่งของอื่น ๆ มากไปหมด จนหลังแอ่น หรือเดินตัวเอียงกันเลยทีเดียว ซึ่งการที่ เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไปโรงเรียนนั้นมีอันตรายต่อเด็กทั้งทางสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตเลยนะคะ อันตรายอย่างไรมาดูกันค่ะ

เด็ก ๆ ควรแบกน้ำหนักกระเป๋าที่เท่าไหร่

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ระบุว่า เด็กควรสะพายกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 10-20 % ของน้ำหนักตัว เช่น หากเด็กมีน้ำหนัก 30 กก. น้ำหนักกระเป๋าที่เด็กถือได้ต้องไม่เกิน 3 กก. เท่านั้น

ผลสำรวจน้ำหนักที่เด็กต้องแบกกระเป๋า

จากการสำรวจทั้งจากทางสายตาและงานสำรวจจำนวนมาก พบว่าเด็ก ไทยวัยประถมแบกกระเป๋าหนักเกินกว่าน้ำหนักที่เหมาะสม หรือเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเด็ก บางงานสำรวจพบว่าเด็กประถมต้องแบกกระเป๋าหนักมากกว่า 7 กก. ด้วยซ้ำ

สัดส่วนนักเรียนไทย ที่แบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเด็ก พบว่า

  • ชั้น ป.1-2 สูงถึง 90%
  • ชั้น ป.3 ที่ 72%
  • ชั้น ป.4 ที่ 70%

ส่วนที่แบกกระเป๋าเกิน 20% ขึ้นไปของน้ำหนักตัว พบว่า

  • ชั้น ป.1-2 อยู่ที่ 25%
  • ชั้น ป.3 ที่ 15%
  • ชั้น ป.4 ที่ 7%

นับว่าลูก ๆ ของเราต้องแบกกระเป๋าที่หนักเกินไปมากจริง ๆ ค่ะ

เด็กแบกกระเป๋าหนัก
เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไปโรงเรียน อันตรายอย่างไร

ข้อเสียของ เด็กแบกกระเป๋าหนัก

ข้อเสียของเด็กแบกกระเป๋ามีหลายประการ เช่น

  • ในวัยอนุบาลหรือประถมต้น ที่เด็กยังมีการทรงตัวหรือร่างกาย แขน ขายังไม่แข็งแรง การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมากเกินไป เสี่ยงทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบาก เสี่ยงบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากการแบกกระเป๋า
  • ในเด็กที่โตขึ้น กระเป๋าที่หนักไปเสี่ยงก่อผลเสียต่อร่างกายทั้งการบาดเจ็บในระยะสั้นและระยะยาว โดยกระเป๋าที่หนักไปทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ บางคนเป็นระยะสั้นๆ บางคนอาจเป็นเรื้อรัง ในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงของเด็ก

ข้อมูลจากนายระพินทร์ พิมลศานติ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กระเป๋าแต่ละประเภทส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่เด็กแตกต่างกัน เช่น กระเป๋าสะพายหลังทำให้กล้ามเนื้อบ่าทำงานหนัก เพราะต้องรับน้ำหนักจากการกดทับของกระเป๋าและการเกร็งกล้ามเนื้อ โดยสามารถก่อผลกระทบในระยะยาว  ขณะที่หากเป็นกระเป๋าถือ มักส่งผลต่อกล้ามเนื้อแขนไหล่ บ่า คอ กล้ามเนื้อแขนข้างที่ใช้ถือถูกใช้งานหนักกว่า ร่างกายเด็กถูกดึงไปข้างหนึ่ง ขณะที่คอจะถูกเอียงต้านไปในทิศตรงข้าม เสี่ยงอันตรายต่อคอของเด็ก ก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้า และอาจเกิดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง

  • จากการทดสอบของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้นักเรียนแบกกระเป๋าน้ำหนักตั้งแต่ 20% ของน้ำหนักตัวเด็กและทำการเอกซเรย์ พบว่า ทำให้กระดูกสันหลังเด็กโค้งผิดปกติ กระดูกสันหลังมีรูปร่างคดคล้ายตัวเอส โดยบริเวณที่พบกระดูกสันหลังคดอยู่ในระดับอกต่อกับเอว
  • กระทบประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว เนื่องจากหากเด็กมีอาการปวดเรื้อรัง จนเป็นปัญหาสุขภาพจิต เกิดปัญหาความเครียด ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนได้
  • กระทบบุคลิกภาพของเด็กตั้งแต่เล็กจนโต หากเด็กได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างทางร่างกาย จนกระทบบุคลิกภาพของเด็ก ทำให้เสียโอกาสด้านสังคมและพัฒนาการอื่นๆ ตามมา

สาเหตุที่เด็กต้องแบกกระเป๋าหนัก

ทั้งนี้สาเหตุที่เด็กต้องแบกกระเป๋าหนักไปมีหลายอย่าง เช่น

  • เด็กไม่จัดตารางสอน
  • กลัวลืมหนังสือ จึงนำหนังสือทั้งหมดใส่ในกระเป๋า
  • ครูให้เด็กนำสิ่งของไปโรงเรียนเยอะเกินไป หนังสือหลายเล่มมากไป
  • เด็กไม่ได้นำของที่ไม่จำเป็นออกจากกระเป๋านักเรียน

วิธีลดปัญหา เด็กแบกกระเป๋าหนัก

คำแนะนำเพื่อลดปัญหาเด็กหรือลูกเราต้องแบกกระเป๋าหนักไปมี 4 ข้อ คือ

1. ครูควรอนุญาตให้นักเรียนเก็บหนังสือบางส่วนที่โรงเรียน และควรระบุหนังสือเล่มที่ต้องใช้ในแต่ละวันให้ชัดเจน เพราะบางวิชามีหนังสือเรียนหลายเล่ม
2. พ่อแม่ ต้องหมั่นดูกระเป๋าลูก เพื่อลดสิ่งของที่ไม่จำเป็น ช่วยลูกจัดตารางสอนเพื่อเตรียมเฉพาะหนังสือที่เหมาะกับแต่ละวัน
3. สำหรับเด็กเล็ก ใช้กระเป๋าสะพายหลังมากว่าใช้กระเป๋าถือ โดยควรสะพายบนบ่าทั้ง 2 ข้าง ไม่สะพายข้างเดียว ใช้สายกระเป๋าเส้นใหญ่ ปรับสายให้พอดี ให้กระเป๋าแนบลำตัว ให้ก้นกระเป๋าอยู่ระดับเอว จัดของหรือหนังสือในกระเป๋าโดยนำของที่มีน้ำหนักมากวางชิดหลัง วางของให้ไม่ถ่วงไปด้านใดด้านหนึ่ง

น้ำหนักกระเป๋าที่แนะนำสำหรับเด็ก

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับน้ำหนักกระเป๋า ที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละชั้น ดังนี้

  • สำหรับนักเรียน ป.1-2 ควรแบกไม่เกิน 3 กก.
  • นักเรียน ป.3-4 ควรแบกไม่เกิน 3.5 กก.
  • นักเรียน ป.5-6 ควรแบกไม่เกิน 4 กก.

คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังปัญหาการแบกกระเป๋าหนักเกินไปของลูกให้ให้ดีเพราะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูก หากทำตามคำแนะนำได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกของเราค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

CH7HD

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โรค เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ปล่อยไว้อาจตัวเตี้ย!

8 วิธีป้องกันลูกจาก “โรคกลัวสังคม (ฮิคิโคโมริ ซินโดรม)”

ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ตีเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up