พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้

พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้ ความเครียด กังวล ของคุณพ่อมือใหม่

Alternative Textaccount_circle
event
พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้
พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้

ซึมเศร้าหลังคลอด ความเครียด กังวล ของพ่อแม่มือใหม่ รู้ไหม พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้

พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้

เวลาพูดถึงอาการซึมเศร้าหลังคลอด มักจะนึกถึงคนเป็นแม่เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทั้งฮอร์โมนและสุขภาพ ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่บางคนยังมีอาการนี้ตั้งแต่ตอนท้องเลยก็ได้ แต่หลายคนคิดไม่ถึงว่า คุณพ่อเองก็สามารถมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เหมือนกัน

อาการทางใจหลังคลอดลูก

อาการทางใจของคุณแม่หลังคลอดสำคัญไม่แพ้อาการทางกาย ก่อนจะไปรู้ลึกว่า คุณพ่อมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร มาทำความรู้จักอาการหลังคลอดทางใจที่หลาย ๆ ครอบครัวต้องเผชิญ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ระดับฮอร์โมนพุ่งสูงขึ้นกลับลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งคุณแม่แต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่เกิด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues, Maternity blues)

พบได้บ่อยถึง 1 ใน 6 ของคุณแม่หลังคลอด มีอาการซึมเศร้าเล็กน้อย ฮอร์โมนที่ลดระดับอย่างรวดเร็วจนตรวจไม่พบในกระแสเลือด อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ สำหรับอารมณ์เศร้าสร้อยมักพบมากในช่วง 2- 5 วันแรกหลังคลอด แต่ภาวะซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด (บางคนอาจจะพบหลังจากที่คลอดลูกไปแล้วหลายเดือนก็เป็นได้) ส่วนระยะเวลาที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะอยู่ 7-10 วัน แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาการหลัก ๆ ได้แก่

  • แม่มีอารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงง่าย
  • รู้สึกสับสน หงุดหงิดง่าย
  • วิตกกังวล มีจิตใจอ่อนไหว
  • นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • รู้สึกเศร้า เหงา ร้องไห้ได้โดยไม่ทราบสาเหตุ

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)

หากมีอาการซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ จะพัฒนาจากภาวะซึมเศร้าสู่โรคซึมเศร้าได้ มักจะมีอาการที่ต่อเนื่องยาวนาน รู้สึกแทบจะตลอดเวลา จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป อาการคล้ายคลึงกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และอาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เป็นแม่ที่ไม่ดี ไม่เก่งเลย ไร้ความสามารถในการดูแลลูก
  • ความรู้สึกเศร้าถาโถม หม่นหมอง หดหู่บ่อย ๆ
  • เบื่อหน่ายที่จะดูแลลูก ไม่รู้สึกสนุกหรือไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ
  • อาจเคลื่อนไหวได้ช้า หรือไม่ก็อยู่ไม่สุข
  • มีความคิดฆ่าตัวตายเข้ามาบ้าง

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)

แม้จะพบได้เพียง 0.1-0.2% แต่โรคนี้ก็มีอาการรุนแรงที่สุด อาการของโรคอาจกินเวลานานถึง 6 เดือน โรคจิตหลังคลอด มักจะมีอาการทางระบบประสาท จนไม่สามารถดูแลลูกได้ ภาวะนี้เป็นภาวะที่ฉุกเฉินและอันตรายต่อตัวแม่ ต่อตัวลูก และแม้แต่คนรอบข้าง ตัวอย่างของอาการมีดังนี้

  • อาการทางระบบประสาท เช่น หวาดระแวง ประสาทหลอน หูแว่ว มีพฤติกรรมแปลกประหลาด
  • อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ซึมเศร้า อารมณ์ดีแบบไม่มีเหตุผล และอารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว
  • หลงผิด คิดว่าไม่ใช่ลูกตัวเอง
  • มีความคิดทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง หรืออาจมีความคิดฆ่าลูกน้อย

หากคุณแม่หรือคุณพ่อรู้สึกผิดปกติอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ และแม้แต่คนรอบข้าง ถ้าเห็นอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์

พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้
พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้

พ่อก็เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

สำหรับตัวคุณพ่อเอง ถ้าต้องดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หรือดูแลลูกเพียงลำพังก็อาจมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดเช่นเดียวกับคุณแม่ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังลูกคลอด แม้จะไม่สัมพันธ์กับเรื่องฮอร์โมนโดยตรงแบบคุณแม่ แต่คุณพ่อที่ต้องดูแลลูกหนักจนอดนอน พบกับภาวะเครียดในบทบาทความเป็นพ่อ ทั้งยังต้องรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิต ความกังวลของคุณพ่อก็ย่อมกลัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี เพราะไม่เคยเป็นพ่อมาก่อน ทั้งยังมีเรื่องค่าใช้จ่าย ปัญหาการเงิน ที่คุณพ่อต้องแบกรับอีก

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เปิดเผยว่า คุณพ่อมือใหม่เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะคุณพ่อมือใหม่ไม่เคยเจอ ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เมื่ออยากช่วยคุณแม่เลี้ยงลูก ก็กังวลไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร ทำให้เครียดนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

จากข้อมูลของ mensjournal ระบุว่า คุณพ่อเองก็มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด 1 ใน 10 ของคุณพ่อมักมีอารมณ์ที่แปรปรวน วิตกกังวล โดยมีชื่ออาการว่า perinatal mood and anxiety disorder (PMAD) บางรายก็มีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำหรือ obsessive-compulsive disorder (OCD) ภายหลังจากที่เริ่มมีบทบาทการเป็นพ่อ

สังเกตอย่างไรว่าคุณพ่อมีอาการ PMAD

  1. โกรธ ฉุนเฉียวได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีอาการเศร้าโศก หากพบว่าอารมณ์เสียง่ายก็ใช่เช่นกัน
  2. ความเครียดที่ส่งผ่านอาการทางกาย กล้ามเนื้อตึง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ชอบกัดกราม
  3. ชอบแยกตัวไปอยู่ลำพัง การปลีกตัวเองไปอยู่คนเดียว เป็นสัญญาณหนึ่งของอาการ PMAD คุณพ่อมักจะไม่สุงสิงกับใคร ปลีกตัวออกจากเพื่อนฝูงหรือสังคม
  4. ติดในกิจกรรมบางอย่าง ไม่ใช่แค่การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ แต่อาจจะเป็นการติดเกมมากเป็นพิเศษ

วิธีดูแลพ่อแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด

ในเมื่อคุณพ่อและคุณแม่ต่างก็มีความเสี่ยงกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ จึงต้องดูแลไปด้วยกัน เพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าหลังคลอด เช่น

  • คนรอบตัวควรช่วยดูแลลูก อาจเป็นพี่เลี้ยง ญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย ควรจะเข้ามาช่วยดูแลทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก เพราะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อาจรับมือเจ้าตัวน้อยไม่ไหวในบางครั้ง
  • ไม่ควรตำหนิการเลี้ยงดูทารกพร่ำเพรื่อ หากไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพราะพ่อแม่ต่างก็พยายามดูแลลูกให้ดีที่สุด เชื่อฟังคุณหมอ และหาข้อมูลต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าการเลี้ยงดูทารกดูจะเสี่ยงต่ออันตราย ก็ให้พูดคุยด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล แนะนำวิธีที่ถูกต้อง เช่น ให้เลือกใช้คำพูดอย่าง อุ้มลูกแบบนี้เด็กจะนอนสบายกว่านะ มากกว่าจะไปดุว่า ห้ามอุ้มลูกแบบนี้นะ
  • ชวนกันทำกิจกรรม พ่อแม่อาจจะหาวันว่างกลับไปเดทกันอีกครั้ง แล้วฝากลูกไว้กับคนใกล้ชิด เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถดื่มด่ำกับมื้ออร่อย หรือเที่ยวใกล้ ๆ บ้านเพื่อผ่อนคลายได้แล้ว
  • หมั่นถามไถ่ความรู้สึกกันและกัน ตัวคุณพ่อเองก็ต้องใส่ใจคุณแม่ ตัวคุณแม่เองก็ต้องถามความรู้สึกคุณพ่อบ้าง ต่างคนต่างได้ระบาย ทั้งยังได้รู้ถึงความคิดและมุมมองของแต่ละฝ่ายในการเลี้ยงดูลูกอีกด้วย

ปรับวิธีคิดช่วยลดความกังวล

ส่วนตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องปรับวิธีคิดเสียใหม่เพื่อลดความกังวล เพราะเราต่างไม่เคยเป็นพ่อแม่มาก่อน การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของประสบการณ์การใช้ชีวิต หากศึกษาข้อมูลมาดีแล้ว ทำตามสิ่งที่หมอ พยาบาล แนะนำอย่างครบถ้วน ก็ให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าทุกอย่างจะทำได้ เพราะการเลี้ยงลูกคือประสบการณ์ ไม่มีใครเป็นพ่อแม่ที่เก่งที่สุด เราต่างเรียนรู้

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังต้องพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน และออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ระบายความในใจเสียบ้าง เพียงเท่านี้อาการซึมเศร้าหลังคลอดของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็จะลดลงได้ แต่หากอาการซึมเศร้าไม่หายไป ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

อ้างอิงข้อมูล : mensjournal และ dmh.go.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก อย่าหลอกเด็ก โตขึ้นลูกจะกลายเป็น เด็กเลี้ยงแกะ

มะเร็งกล่องเสียง เกิดจากอะไร ถ้าเสียงแหบ ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไปหาหมอเลย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up