แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเจาะลึก “โมยาโมยา” โรคหายากที่เกิดกับดาราเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event

จากกระแสในโลกออนไลน์ ที่ตอนนี้น้องซีดี นักแสดงเด็กจากภาพยนตร์เรื่อง “ตุ๊กแกรักแป้งมาก” ป่วยด้วยโรคโมยาโมยา โรคหายากที่พบเพียง 1 ใน 1 ล้านคน และน้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เรียลพาเรนต์สจึงสอบถามข้อมูลจาก แพทย์หญิงลัลลิยา ธรรมประทานกุล สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาเป็นความรู้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

• โรคโมยาโมยา (Moyamoya Disease) คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร?

คุณหมอลัลลิยา – โรคโมยาโมยาเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดสมอง เราจะคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ที่มีอาการสมองขาดเลือด โรคโมยาโมยาก็เป็นสาเหตุหนึ่งในบรรดาหลายๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองขาดเลือด โดยปกติแล้วในเด็กจะเจออาการสมองขาดเลือดน้อยมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว เพราะผู้ใหญ่จะมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น จากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาการสมองขาดเลือดในเด็กพบได้ไม่บ่อย แต่มีความจำเป็นมากที่ต้องหาสาเหตุเพื่อจะได้ให้การดูแลที่เหมาะสม สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น มีโรคหัวใจ มีภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายผิดปกติ และมีเส้นเลือดสมองที่ผิดปกติ เป็นต้น โรคโมยาโมยาก็เป็นโรคหนึ่งที่มีเส้นเลือดในสมองผิดปกติทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ แต่ก็พบไม่บ่อยค่ะ สาเหตุของโรคนี้ คือ ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณฐานสมองซึ่งปกติจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองในแต่ละข้าง ปัญหาคือเส้นเลือดนั้นตีบซึ่งมักจะตีบมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป เมื่อนานเข้าเลือดก็จะไปเลี้ยงสมองส่วนที่เส้นเลือดที่ตีบไม่พอทำให้เด็กมีอาการ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ในช่วงอายุ 10 ขวบปีแรก

moyamoya-drawing
ภาพจาก http://strokeconnection.strokeassociation.org/Fall-2014/Understanding-Moyamoya-Disease-in-Children/

ร่างกายพยายามปรับตัวด้วยการสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง แต่เส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก ชื่อโรคนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นว่าโมยาโมยา ซึ่งแปลว่าหมอกควัน เพราะกลุ่มเส้นเลือดฝอยที่สมองสร้างขึ้นมาใหม่จะกระจายดูเหมือนกลุ่มหมอกควัน โรคนี้พบในคนเอเชียมากกว่าชนชาติตะวันตกโดยเฉพาะในคนญี่ปุ่นอาจมีคนเป็นถึง 3 คน ใน 100,000 คน ส่วนสถิติในสหรัฐอเมริกามีประมาณ 1 ในล้านเท่านั้น

คนไข้ส่วนหนึ่งเป็นแบบไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรมแต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน จะพบบ่อยขึ้นในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น ดาวน์ซินโดรม โรคท้าวแสนปม เป็นต้น หรือบางคนมีเนื้องอกในบริเวณใกล้กับเส้นเลือดสมอง หรือเคยฉายแสงในบริเวณสมอง หรือเป็นโรคที่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายผิดปกติ

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นได้ มีความรุนแรงและอันตรายแค่ไหน?

คุณหมอลัลลิยา – ในเด็กส่วนมากจะมีอาการคล้ายกับสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น มีอาการชา หรือมีแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเป็นพักๆ อาจจะอ่อนแรงแล้วฟื้นขึ้นมาเหมือนเดิม บางคนอาจอ่อนแรงแล้วฟื้นขึ้นมาไม่หมดทุกส่วน กลายเป็นแขนขาอ่อนแรงแบบถาวร และโมยาโมยานั้นเกิดขึ้นได้กับเส้นเลือดสมองทั้งสองข้าง ก็คือ บางคนช่วงเริ่มต้นอาจมีอาการอ่อนแรงข้างเดียว แล้วต่อมาก็กลายเป็นทั้งสองข้าง หากปล่อยทิ้งไว้นาน เลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่พอแบบเรื้อรัง ความสามารถด้านอื่น เช่น การเรียน ความจำ ก็จะลดลงไปด้วย นี่คืออาการเด่นของโรคนี้

ในผู้ใหญ่อาการอาจจะต่างกันบ้าง นอกจากอาการของสมองขาดเลือดแล้ว ผู้ใหญ่ยังอาจมีอาการของเลือดออกในสมอง เช่น มีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันที เนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงสมองนั้นเปราะ แตกง่าย โรคนี้จึงพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่แต่อาการจะแตกต่างกัน

• หากปล่อยทิ้งไว้จะถึงชีวิต?

คุณหมอลัลลิยา – เรียกว่ามีความพิการทางสมองค่ะ บางคนอาจมีอาการชักร่วมด้วย ในกรณีที่มีภาวะเลือดออกในสมองแบบเฉียบพลัน อาจมีโอกาสเสียชีวิตได้

วิธีการตรวจวินิจฉัยทำอย่างไร?

คุณหมอลัลลิยา – ถ้าคนไข้มีอาการสงสัยสมองขาดเลือดในเด็ก ควรรีบมาพบแพทย์ แพทย์ก็จะซักถามอาการและตรวจร่างกาย เช่น มีอาการอ่อนแรงมาก่อนไหมในอดีต ถ้าสงสัยก็จะเอ็กซเรย์สมองว่ามีส่วนที่สมองขาดเลือดไหม เอ็กซเรย์ดูเส้นเลือดสมองว่ามีความผิดปกติไหม มีการใช้ทั้งระดับ CT Scan หรือ MRI ในบางกรณีที่สงสัยมากก็จะมีการฉีดสีเส้นเลือดที่เรียกว่า Angiogram เพื่อตรวจเส้นเลือดสมอง แต่ส่วนมากก็จะวินิจฉัยได้ตั้งแต่การทำ CT Scan หรือ MRI ดูเส้นเลือดซึ่งจะเห็นความผิดปกติได้

ถ้าเป็นแล้วมีวิธีการรักษาอย่างไร?

คุณหมอลัลลิยา – วิธีดูแลรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือถ้าเส้นเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เราก็ต้องหาทางให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ส่วนมากถ้าไม่ได้เป็นสาเหตุจากการที่เลือดแข็งตัวผิดปกติ การรักษาด้วยยาจะไม่ค่อยได้ผลดี ยาอาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เส้นเลือดจะยังคงตีบไปเรื่อยๆ ยิ่งเด็กโตขึ้นก็ยิ่งตีบมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันมีการรักษาด้วยการผ่าตัดหาทางให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่การทำทางใหม่โดยตัดต่อเส้นเลือดให้เลือดไปเลี้ยงสมอง หรือหาเลือดจากตำแหน่งอื่นไปเลี้ยงสมอง ในบางคนก็ใช้วิธีการเจาะรูที่กะโหลกศีรษะให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้มากขึ้น หรือเอากล้ามเนื้อไปวางบนผิวสมองให้เส้นเลือดจากกล้ามเนื้อส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น มีหลายเทคนิคในการรักษาค่ะ

หากรักษาด้วยการผ่าตัด เด็กจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง มากกว่าผู้ใหญ่หรือไม่

คุณหมอลัลลิยา – เนื่องจากเด็กมีเส้นเลือดเล็กกว่าผู้ใหญ่ ก็จะผ่าตัดยากกว่า และด้วยสภาพร่างกายเด็ก เช่นการทนทานต่อการเสียเลือด หรือการดมยาสลบก็น้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นการผ่าตัดก็จะต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นเลือดสมอง หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองโดยเฉพาะ

แล้วต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดด้วยหรือ?

คุณหมอลัลลิยา – ระหว่างที่รอผ่าตัด ในตำแหน่งที่เส้นเลือดตีบ เราไม่อยากให้มีเส้นเลือดที่ตีบเพิ่ม และไม่อยากให้มีภาวะสมองขาดเลือดเพิ่ม เราจึงให้ยาซึ่งไม่ให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย มีตั้งแต่ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือในบางคนอาจต้องได้รับยาในกลุ่มเฮพาริน (Heparin) หรือยาละลายลิ่มเลือด

หากผ่าตัดแล้วจะหายขาดหรือไม่?

คุณหมอลัลลิยา – ถ้าเป็นโรคโมยาโมยาแล้วไม่ผ่าตัด หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะค่อยๆ แย่ลง เช่น จากแขนขาอ่อนแรงซีกเดียว อาจเพิ่มเป็นทั้งสองซีก และจากเดิมที่อ่อนแรงชั่วคราวอาจจะกลายเป็นอ่อนแรงถาวร คนไข้ที่ผ่าตัดแล้วส่วนใหญ่ต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดต่อ เช่น แอสไพริน เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดที่ตีบมีลิ่มเลือดไปอุดอีก ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดแขนขาอ่อนแรง

คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตลูกอย่างไร? ว่าอาจมีอาการของโรคนี้

คุณหมอลัลลิยา – อาการเด่นๆ คืออาการของสมองขาดเลือด คือ มีความผิดปกติของระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น จู่ๆ ก็มีอาการชาครึ่งซีก แขนขายกไม่ขึ้นครึ่งซีก ซึ่งระยะแรกบางคนจะเป็นแล้วหาย แต่หากมีอาการเหล่านี้เพียงครั้งแรกก็ควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะอาการเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยในเด็กค่ะ

 

รู้อย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอาการต่างๆ ของลูกน้อย หากพบสิ่งผิดปกติควรรีบพาไปพบคุณหมอ อย่ารั้งรอนะคะ สุดท้ายนี้ เรียลพาเรนต์สขอเป็นกำลังใจให้กับน้องซีดีซึ่งการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยด้วยดี ให้กลับมาสดใสแข็งแรงโดยเร็วค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงลัลลิยา ธรรมประทานกุล สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ RealParents.tv

ภาพน้องซีดีจาก www.facebook.com/CDVIP

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up