Kid Safety – วันนี้จักรยานของลูกคุณปลอดภัยแล้วรึยัง?

Alternative Textaccount_circle
event

วันนี้จักรยานของคุณปลอดภัยแล้วรึยัง? อาจสอนลูกว่าการมีจักรยานสวยๆ ใหม่ๆ นั้นยังไม่พอ เพราะการมีจักรยานที่ปลอดภัยนั้นสำคัญกว่า จึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ หรือทุกครั้งก่อนจะขึ้นขี่ครับ ลองให้ลูกสำรวจจักรยานคู่ใจของเขาดูนะครับ ถ้าพบว่ามีลักษณะต่อไปนี้ ก็จะต้องรีบแก้ไข เพิ่มเติม

  1. จักรยานที่ไม่มีกระจกส่องหลัง ลองหาเพิ่มเติมดูครับ และฝึกให้เด็กโตหัดมองจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยครับ
  2. จักรยานที่ไม่มีไฟหรืออุปกรณ์สะท้อนแสงทั้งหน้าและหลัง ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติม ใช้ไฟแบบใส่ถ่านเปิดสวิทช์เองด้วยมือก็ได้ครับ ติดตั้งง่าย
  3. จักรยานที่ไม่มีตะกร้าใส่ของหน้ารถ ทำให้เด็กต้องจับแฮนด์จักรยานเพียงมือเดียว ในขณะที่อีกมือหนึ่งต้องหิ้วของพะรุงพะรัง
  4. จักรยานหลายคันกระดิ่งไม่ดัง เบรคเสีย ดอกยางหมด แฮนด์เบี้ยว แต่ก็ยังขี่กันอย่างสนุกสนาน
  5. เด็กหลายคนต้องขี่จักรยานที่ “โตเกินตัว” ดูแล้วน่าหวาดเสียว และน่าเวทนา จนต้องตั้งคำถามเอากับคนที่ซื้อให้เด็กว่า …จะหาจักรยานขนาดที่เหมาะสมกับลูกไม่ได้เชียวหรือ?
  6. ไม่ใส่ใจกับลมยางของรถ ว่าจะอ่อนหรือแข็งเกินไปหรือไม่
  7. มักจะแข่งกัน “โชว์ลีลา” เช่น ยกล้อ ปล่อยแฮนด์ โยกซ้ายป่ายขวาขณะขี่รถ มากกว่าแข่งกันในเรื่องของความปลอดภัย หรือมีมารยาทในการขับขี่

นับตั้งแต่การกำเนิดของรถจักรยาน 2 ล้อ คันแรกเมื่อ 205 ปีก่อน (พ.ศ.2343)  จวบจนกระทั่งยุคดิจิทัล จักรยานก็ยังคงเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก ด้วยความที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นพิษภัยหรือให้มลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ซ้ำยังเป็นสิ่งส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ

จักรยานจึงเป็นเหมือน “เพื่อนคู่ชีพ” ที่น่ารักของมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์เองนี่แหละ ที่ใช้เพื่อนรักรายนี้อย่างแสนประมาท จนนำภัยมาสู่ตนเอง และเด็กๆ อย่างคาดไม่ถึง…

 

ที่มาจากคอลัมน์ : Kid Safety ฉบับเดือนเมษายน 2554

เรื่องโดย : รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ที่มาภาพจาก : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up