รู้จักและรับมือ “ไข้หวัดใหญ่”

Alternative Textaccount_circle
event

เรามักคิดกันว่าโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดเฉพาะหน้าฝน แต่ความจริงแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปีและทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยบางรายมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายมีอาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาล และมีจำนวนไม่น้อยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเสียชีวิต

รู้จักโรคไข้หวัดใหญ่

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีประมาณ 50,000 คน ในปีที่มีการระบาดมากจะพบได้ถึง 70,000 คน

อาการจะรุนแรงกว่าไข้หวัดปกติ และมีความเสี่ยงต่ออาการโรคประจำตัวกำเริบและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งรวมถึงภาวะปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจาก?

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ซึ่งมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C

  • ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก
  • ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค
  • ไวรัสชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด

ไวรัสชนิด A และ B เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยอาการติดเชื้อมักเริ่มขึ้นในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน (จมูกและคอ) และอาจแพร่กระจายไปยังปอดและหลอดลมได้ ในอดีตการระบาดของไข้หวัดใหญ่ พบว่าไวรัสสายพันธุ์ A ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ A/H1N1 และ A/H3N2 เป็นสายพันธุ์หลัก หลายปีที่ผ่านมาพบว่าการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยด้วย

เราจะป้องกันได้อย่างไร?

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกัน จะมีการพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมและตรงกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี

แต่เดิมวัคซีนที่ใช้กันอยู่จะป้องกันไวรัสได้ 3 สายพันธุ์ แต่เนื่องจากในระยะหลังพบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ B บ่อยขึ้น ในปี 2012 องค์การอนามัยโลกจึงได้แนะนำให้เพิ่มไวรัสสายพันธุ์ B เข้าไปอีก 1 สายพันธุ์ ทำให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ 4 สายพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยไวรัสสายพันธุ์ A/H1N1, A/H3N2 และไวรัสสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์ คือ B/Victoria และ B/Yamagata วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent Influenza Vaccine) จึงป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง?

กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนอย่างสม่ำเสมอค่ะ

  • เด็ก ที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จนถึง 5 ปี
  • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ข้อยกเว้น ผู้ที่แพ้ไข่ไก่รุนแรงไม่สามารถฉีดได้ เนื่องจากกระบวนการผลิตวัคซีนมีการเพาะเชื้อในไข่ไก่ หากแพ้ไข่ไก่ไม่รุนแรงควรฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูอาการหลังฉีดวัคซีน

ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี?

เนื่องจากภูมิคุ้มกันเชื้อไข้หวัดใหญ่จะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่นาน การฉีดวัคซีนทุกปีจึงเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง และสอดคล้องกับสายพันธุ์ของเชื้อในแต่ละปี จึงแนะนำให้วัคซีนก่อนฤดูที่มีการระบาด คือฤดูฝนและฤดูหนาว และฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

 

แต่หากลูกน้อยมีอาการป่วย และคุณสงสัยว่าลูกจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เรามีวิธีสังเกตและข้อแนะนำค่ะ

อาการเด่นของไข้หวัดใหญ่มีอะไรบ้าง?

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร

หากสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไร?

เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีระยะแพร่โรคคือ 1 วันก่อนมีอาการ ถึง 7 วันหลังมีอาการ จึงควรทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นค่ะ นอกจากปฏิบัติตามนี้แล้ว อย่าลืมไปพบแพทย์ด้วยนะคะ

  • หยุดงาน หยุดเรียน
  • ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ต้องอยู่ใกล้ผู้อื่น
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น

รู้ไหม?

การจามสามารถแพร่เชื้อโรคได้ไกลถึง 6 ฟุต หรือเกือบ 2 เมตร! จึงควรใช้กระดาษทิชชูปิดปากทุกครั้งที่จามแล้วทิ้งถังขยะให้เรียบร้อย หากไม่มี ห้ามใช้มือปิดปากแล้วจามเด็ดขาดค่ะ! ให้ยกแขนขึ้นมาจับไหล่ฝั่งตรงข้าม เช่น ยกแขนขวาขึ้นมาก็ให้จับไหล่ซ้าย และจามใส่ข้อพับข้อศอก เพราะเป็นส่วนที่ไม่ค่อยสัมผัสกับผู้อื่นหรือสิ่งของต่างๆ มากเท่ามือ เท่านี้ก็ป้องกันการแพร่เชื้อต่างๆ สู้ผู้อื่นได้แล้วค่ะ ง่ายนิดเดียวเอง ลองนำไปสอนลูกน้อยดูนะคะ

 

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจ โรงพยาบาลสมิติเวชพร้อมให้บริการวัคซีนไข้หวัด 4 สายพันธุ์แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลสมิติเวช

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up