นิทานพื้นบ้าน

5 นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย สนุก!! ได้คติสอนใจ!!

Alternative Textaccount_circle
event
นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้าน เป็นนิทานที่นอกจากฟังสนุก เพลิดเพลินแล้ว ยังมีข้อคิดดี ๆ สอดแทรกอยู่ในนิทาน อีกทั้งยังสอดแทรกประวัติและปลูกฝังความเป็นไทยให้ลูกได้อีกด้วย

5 นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย สนุก!! ได้คติสอนใจ!!

ความหมายของ นิทานพื้นบ้าน คือ เรื่องเล่าจากความจำที่ฟังกันต่อ ๆ มาจากบรรพบุรุษ ถ่ายทอดปากต่อปากสืบต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  ความสำคัญของ นิทานพื้นบ้าน เล่ากันอยู่ในท้องที่และภาคต่าง ๆ ของไทยนั้น มีหลายร้อยพันเรื่องในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีนิทานประเภทต่าง ๆ นิทานเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าให้ลูกหลานฟังมาหลายชั่วอายุคน จึงถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวบ้าน ซึ่งมีความสำคัญ เช่น ให้ความเพลิดเพลิน ในสมัยก่อนที่ไม่มีอะไรเลยเป็นสื่อในการนำเสนอช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง เด็กจะเพลิดเพลินหรืออบอุ่นเมื่อได้ใกล้ชิดกับบิดามารดาหรือปู่ย่าตายาย ส่วนใหญ่มักจะเล่านิทานก่อนนอน นิทานให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิต สิ่งที่อยู่รอบตัวเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละครช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจผู้ฟังนิทาน เข้าใจความรู้สึกต่าง ๆ ของตัวละคร เช่น รัก โลภ โกรธ หลง รู้ลักษณะของตัวละครตัวดี ตัวร้ายและตัวที่น่าสงสัยหรือตัวตลก รู้จักสังเกตจากการอธิบายลักษณะสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รู้ถึงการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เสมือนการถ่ายทอดความรู้ให้การศึกษากับคนฟัง อีกเรื่องคือเสริมสร้างจินตนาการ ผู้แต่งนิทานจะใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์ผู้ฟังก็จะนึกภาพไปตามการเล่าซึ่งทำให้ผู้ฟังได้คิดสร้างสรรค์ต่อไปซึ่งเป็นการพัฒนาความคิดในด้านหนึ่ง

ส่วนสุดท้ายก็คือเข้าใจในศิลปะได้ง่าย นิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่องเป็นที่มาของวรรณคดี งานปฏิมากรรม นิทานพื้นบ้านก็จะเป็นที่มาของวรรณคดี เช่น เรื่องไกรทอง ขุนช้างขุนแผน ศรีธนญชัย มีการนำของแต่เป็นวรรณกรรม
ประเภทต่าง ๆ เช่น พระราชนิพนธ์บทละคร บทละครนอกเรื่องไกรทอง เสมาขุนแผน ขุนแผนคำกาพย์ ศรีธนญชัย เป็นต้น

นิทาน
นิทาน

เมื่อทราบประโยชน์ของ นิทานพื้นบ้าน กันแล้ว ทีมแม่ ABK ขอเลือก 5 นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย ที่เหมาะที่จะอ่านให้ลูกฟัง แถมได้ข้อคิด คติดี ๆ ไว้สอนลูกกันอีกด้วย

5 นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย สนุก!! ได้คติสอนใจ!!

คนแจวเรือจ้างกับนักศึกษา

มีนักศึกษาผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง ได้ทำการว่าจ้างเรือแจวให้พาข้ามฟาก ในขณะที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆดูมืดครึ้ม และลมเริ่มพัดจนน้ำเกิดเป็นระลอกคลื่นเล็กๆ เรือแจวได้แล่นไปอย่างช้าๆ จนเมื่อเรือได้เข้าสู่กระแสน้ำอันเชี่ยวกราด คนแจวเรือจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ส่วนฝ่ายนักศึกษานั้นกำลังนั่งก้มหน้าหนังสือเล่มใหญ่อยู่ จนในที่สุดนักศึกษาก็ได้เงยหน้าขึ้นมาจากตำราแล้วมองไปยังคนแจวเรือและพูดคุย
“ลุงๆ เคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์บ้างไหม?” นักศึกษาเอ่ยถามขึ้น
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือจ้างตอบด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบา
นักศึกษาจึงพูดขึ้นว่า “ถ้างั้นลุงก็พลาดโอกาสเสียแล้วหละ ในหนังสือประวัติศาสตร์นะลุง เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าอ่าน มีเรื่องของกษัตริย์และพระราชินีในสมัยอดีต รวมถึงเรื่องของสงคราม การต่อสู้ ทำให้เราสามารถรู้ว่าคนในสมัยโบราณ ใช้ชีวิตกันแบบไหน แต่งกายกันอย่างไร ประวัติศาสตร์จะบอกให้ได้รู้ถึงความเจริญและความเสื่อมลงของชนชาติต่างๆ ทำไมลุงไม่อ่านประวัติศาสตร์บ้างเล่า?”
“ผมไม่เคยเรียนหนังสือครับ” คนแจวเรือตอบ

ในเวลานั้นคนแจวเรือก็ยังคงแจวเรือต่อไป ส่วนนักศึกษาก็ก้มหน้าอ่านตำราต่อไป คงมีแต่เสียงใบแจวกระทบพื้นน้ำเท่านั้น เมื่อผ่านไปสักครู่หนึ่ง นักศึกษาก็เอ่ยถามคนแจวเรือขึ้นอีก
”ภูมิศาสตร์เล่าลุง เคยอ่านบ้างไหม?” นักศึกษาเอ่ยถาม
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือตอบ
นักศึกษาจึงกล่าวว่า “ภูมิศาสตร์ เป็นวิชาที่สอนให้เราได้รู้จักกับโลกและประเทศต่างๆ และยังรวมถึงกระทั่งภูเขา แม่น้ำ ลม พายุ ฝน นะลุง วิชาภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ลุงไม่รู้จักวิชานี้เลยรึ?”
“ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือตอบ
นักศึกษาส่ายหน้า “ถ้าไม่รู้จักวิชานี้ ชีวิตลุงก็เหมือนไม่มีค่าอะไรเลย”
“วิทยาศาสตร์ละลุง เคยอ่านบ้างรึเปล่า”
“ไม่เคยอีกแหละคุณ” คนแจวเรือตอบ
“ลุงเนี่ยนะเป็นคนยังไงกันแน่? วิทยาศาสตร์ที่ช่วยอธิบายถึงเหตุและผลต่างๆ ลุงรู้มั้ยความก้าวหน้าของคนเราในทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์โดยตรงเลยนะ นักวิทยาศาสตร์เป็นคนที่สำคัญอย่างมากในโลกนี้เลยก็ว่าได้ แต่นี่อะไรลุงกลับไม่รู้เรื่องพวกนี้เอาเสียเลย ชีวิตของลุงช่างมีค่าน้อยเสียเหลือเกิน”
นักศึกษาปิดตำราของเขาและนั่งเงียบไม่พูดอะไรขึ้นอีก

ในช่วงเวลานั้นก้อนเมฆสีดำได้แผ่ขยายและปกคลุมเต็มไปทั่วทั้งท้องฟ้า ลมเริ่มพัดแรงขึ้น มีฟ้าแลบแปลบปลาบ เป็นเหตุบอกว่าพายุกำลังจะมา และเรือก็ยังเหลือระยะทางอีกกว่าครึ่งซึ่งไกลมากกว่าจะถึงฝั่ง
คนแจวเรือแหงนขึ้นมองท้องฟ้าด้วยสีหน้าที่หวาดหวั่น ”ดูเมฆนั่นซิคุณ พายุคงจะมาถึงเราในไม่ช้า คุณว่ายน้ำเป็นไหมครับ?”
นักศึกษาพูดขึ้นอย่างตื่นตกใจกลัว “ว่ายน้ำ ผมว่ายไม่เป็นหรอกลุง”
บัดนี้คนแจวเรือเป็นฝ่ายเลิกคิ้วมองนักศึกษาอย่างประหลาดใจบ้างแล้ว และพูดว่า “อะไรกัน นี่คุณว่ายน้ำไม่เป็นหรอกรึ คุณมีความรอบรู้มากมายออกขนาดนี้ ประวัติศาสตร์เอย ภูมิศาสตร์เอย และวิชาวิทยาศาสตร์เอยคุณก็รู้ แต่ทำไมคุณถึงไม่ไปเรียนการว่ายน้ำด้วยเล่า อีกสักประเดี๋ยวเถอะ คุณก็จะได้รู้ว่าชีวิตของคุณไม่มีค่าเลย”
ลมพายุพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ เรือแจวลำน้อยถูกคลื่นและลมโหมซัดพัดกระหน่ำใส่เข้ามา ในไม่ช้าไม่นานเรือแจวก็ถูกคลื่นและพายุซัดจนเรือพลิกคว่ำ คนแจวเรือจ้างสามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย แต่ทว่านักศึกษาผู้น่าสงสารได้จมหายไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดนั้นแล้ว

แง่คิดดี ๆ จากนิทานเรื่องนี้: อย่าได้เที่ยวไปมองคนอื่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้และคิดดูถูกดูแคลนว่าเขาต่ำต้อยกว่าเรา…แต่เราควรหันมามองตัวเองว่าจิตใจเรานั้นต่ำต้อยกว่าคนอื่นบ้างหรือเปล่า และพัฒนาฝึกจิตใจเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ความรู้ท่วมหัว…แต่เอาตัวไม่รอด ชัยชนะใดๆ ในโลกนี้ ไม่ยิ่งใหญ่เท่า…ชนะใจตนเอง

พิกุลทอง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีหญิงสาวสวย คนหนึ่งชื่อว่า “พิกุล” …กล่าวกันว่าเธอมีความสวยทั้งหน้าตาและ กิริยามรรยาท มารดาของเธอตายตั้งแต่เธอยังเล็กมาก ดังนั้นเธอจึงได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงซึ่งเธอเองก็มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อว่า “มะลิ” …แต่ก็โชคร้ายที่ว่าทั้งแม่เลี้ยงและลูกสาวของเธอนั้นเป็นคนใจร้าย ทั้งคู่จะบังคับให้พิกุลทำงานหนักทุกวัน

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากตำข้าวเสร็จแล้ว …พิกุลก็ออกไปตักน้ำที่ลำธารซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก ในขณะเดินทางกลับ …ทันใดนั้นก็มีหญิงชราคนหนึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้าของพิกุลและขอน้ำเธอดื่ม พิกุลดีใจมากที่ได้ช่วยหญิงชราคนนั้น …เธอเอาน้ำให้หญิงชราและบอกให้เธอเอาน้ำไปอีกเพื่อจะได้ล้างหน้า และล้างตัวให้สดชื่น พิกุลบอกหญิงชราว่าไม่ต้องห่วงเพราะถ้าน้ำไม่พอเธอจะไปตักมาอีก …หญิงชรายิ้มและกล่าวว่า “เธอนี่นอกจากจะสวยแล้วยังใจดีอีกถึงแม้ว่าฉันจะดูยากจน และมอมแมมเธอก็ปฏิบัติกับฉันเป็นอย่างดี”

หลังจากกล่าวชื่นชมพิกุลแล้ว …หญิงชราก็ให้พรวิเศษกับเธอ และด้วยอำนาจของพรวิเศษนี้จะทำให้ดอกพิกุลทองคำร่วงออกมาจากปากของเธอ …เมื่อใดก็ตามที่เธอรู้สึกสงสารใครหรือสิ่งใด …หลังจากหญิงชราให้พรวิเศษแก่พิกุลแล้ว ก็หายวับไปต่อหน้าต่อตาของเธอ …พิกุลก็รู้ทันทีว่าแท้ที่จริงแล้วหญิงผู้นั้นเป็นนางฟ้าจำแลงมาให้พรวิเศษแก่ตน …ทันทีที่กลับถึงบ้านช้า เธอก็ถูกแม่เลี้ยงดุด่าว่าไปเถลไถลเพื่อหนีงาน ดังนั้นพิกุลจึงเล่าเรื่องทั้งหมด ให้ผู้เป็นแม่เลี้ยงฟังพร้อมกับเกิดความรู้สึกสงสารใน …ขณะเล่าจึงทำให้ดอกพิกุลทองคำร่วงออกมาจากปากของเธอด้วย …แม่เลี้ยงจอมละโมบก็เปลี่ยนอารมณ์จากโกรธเป็นละโมบในทันทีพร้อมกับตะครุบดอกพิกุลทองทั้ง หมดไว้ในขณะที่ปากก็สั่งให้พิกุลพูดต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสนองความละโมบของเธอนั่นเอง

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา แม่เลี้ยงของพิกุลก็เก็บรวบรวมดอกพิกุลทองคำไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปขายและได้เงินมามากมาย ชีวิตทุกคนตอนนี้ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พิกุลเองก็ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ถูกบังคับให้พูดทั้งวันเพื่อให้ดอกพิกุลทองคำออกมาจากปากของเธอมากๆ นั่นเอง …พิกุลทองอ่อนล้าไปกับการตอบสนองความละโมบของแม่เลี้ยง ตอนนี้พิกุลเองเกิดเจ็บคอและกลายเป็นคน เสียงแหบเสียงแห้งไปเลย เธอพูดไม่ได้ไประยะหนึ่ง …อาการเช่นนี้ทำให้แม่เลี้ยงโมโหมากขึ้นจนถึงขั้นตบตี พิกุลเพื่อพยายามยังคับให้เธอพูดแต่พิกุลก็พูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว

… เพื่อตอบสนองความละโมบของตน ตัวแม่เลี้ยงเองจึงตัดสินใจส่งลูกสาวของตนนามว่ามะลิไปทำตามอย่างพิกุลบ้าง … มะลิถูกส่งไปยังสถานที่เดียวกับที่พิกุลบอกไว้แต่ว่าแทนที่จะได้พบกับหญิง ชราก็กลับเป็น พบหญิงสาวสวยสวมเสื้อผ้างดงามยืนอยู่ใต้ร่มใหญ่ หญิงสาวผู้นั้นขอน้ำมะลิดื่มแต่ด้วยความริษยามะลิแสดงอาการโกรธและคิดว่า หญิงผู้นั้นไม่ใช่นางฟ้า เธอจึงปฏิเสธและใช้วาจาหยาบคายด่าทอนางฟ้าจำแลง …ดังนั้น นางฟ้าจึงสาปแช่งมะลิว่า เมื่อใดก็ตามที่เธอโกรธและพูดออกมาแล้วไซร้ ก็จะมีหนอนร่วงออกมาจากปากของเธอ เมื่อกลับมาถึงบ้านมะลิก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ผู้เป็นแม่ฟังและด้วยความโกรธ ในขณะ เล่าเรื่องนั้นก็ทำให้บ้านทั้งหลังเต็มไปด้วยตัวหนอน ผู้เป็นแม่คิดว่าพิกุลอิจฉาลูกสาวของตน ดังนั้นจึงแกล้งบิดเบือนเรื่องที่เล่าจึงเป็นเหตุให้ลูกสาวของตนไม่ได้พบกับ หญิงชราแม่เลี้ยงจึงทุบตีพิกุลและไล่เธอออกจากบ้านไป

ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งพิกุลจึงท่องเที่ยวไปในป่า แต่เพียงลำพัง โชคดีที่ว่าเธอเดินไปในทิศทางที่ เจ้าชายหนุ่มกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการขี่ม้าประพาสป่ากับข้าราชบริพารผ่าน มาพอดีเมื่อทอดพระเนตรเห็นสาวนั่งร้องไห้อยู่ทรงถามเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมด ทันทีที่พูดจบที่บริเวณนั้นก็เต็มไปด้วยดอกพิกุลทองคำ …เจ้าชายดีพระทัยยิ่งนัก จึงขอนางอภิเษกสมรสด้วยและหลังจากการอภิเษกสมรสทั้งสองพระองค์ก็ได้ ขึ้นครองราชย์และปกครองเมืองของพระองค์ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

  1. จากเค้าเรื่องนิทานนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของสำนวนไทยเปรียบเปรยคนที่ไม่ค่อยพูดหรือมักพูดอุบอิบอยู่แต่ในปากว่า “กลัวดอกพิกุลจะร่วง”
  2.  “การคิดดีทำดี …ย่อมได้รับสิ่งที่ดีตอบสนองเสมอ” …อย่างเช่น พิกุล

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง สองสัตว์

ในกาลก่อนมีสัตว์สองตัวเป็นเพื่อนกัน …เวลาไปหากินหรือไปในที่ใดๆ มักจะไปด้วยกันเสมอสัตว์คู่นี้ได้แก่ บ้วน (นาก) กับกระต่าย …มันหากินอยู่ตามริมฝั่งน้ำปิงเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง นากออกไปหากิน มองเห็นช่องว่างคิดว่าเป็นทางน้ำจึงว่ายเข้าไป พอเข้าไปแล้วปรากฏว่าไปชนสายใยประตูกะต้ำ (เครื่องดักจับปลาชนิดหนึ่งที่ทำไว้ตามข้างตลิ่ง หันหน้าล่องใต้ พอปลาตัวโตเข้าไปเมื่อชนสายใย สลักจะหยุด ประตูจะเลื่อนตกลงมาปิดไว้ทันที ทำให้ปลาออกไม่ได้) …นากพยายามหาทางออก แต่ทำอย่างไรก็ออกไม่ได้ มันร้องขอให้กระต่ายช่วย …กระต่ายลงมาดูเห็นกะต้ำแน่นหนาเกินกว่ากำลังน้อยๆ ของตนจะรื้อหรือทำลายได้

ขณะนั้นพอดีนายพรานผู้วางกะต้ำ จึงตรงเข้าไปดูเห็นนากติดอยู่ก็ดีใจ …ส่วนกระต่ายเห็นคนเดินมาจึงหลบซ่อนตัวนิ่งอยู่ข้างๆ กอหญ้า …นากพอเห็นนายพรานเปิดประตูกะต้ำออก มันแกล้งทำเป็นตาย กลั้นลมหายใจ เบ่งท้องให้พองคล้ายกับตายมานานแล้ว …เมื่อกระต่ายแลเห็นนายพรานจับเพื่อนของตนขึ้นมาเช่นนั้น …กระต่ายจึงกระโดดออกมา และดิ้นรนกระเสือกกระสนคล้ายกับถูกตีหรือถูกยิง แล้วนอนนิ่งบนหาดทรายห่างจากกะต้ำไม่ไกลนัก …

นายพรานมองเห็นกระต่ายมานอนดิ้นตาย ดีใจรีบขึ้นจากน้ำ …วางนากลงกับพื้น วิ่งตรงเข้าไปเพื่อจะจับกระต่ายอีกตัว …นากพอเป็นอิสระจึงกระโดดลงน้ำหนีไป …กระต่ายเห็นเพื่อนของตนหนีลงน้ำไปได้รีบลุกขึ้นกระโดดวิ่งหายเข้าป่าไป …ตกลงนายพรานไม่ได้สัตว์อะไรเลยแม้แต่ตัวเดียว!!

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

  1. คนที่มีสติปัญญา…ย่อมเอาตัวรอดได้เสมอ
  2. โลภมาก…ลาภหาย
นิทานพื้นบ้านไทย
นิทานพื้นบ้านไทย

ลิลิตรพระลอ

ท้าวแมนสรวงเป็นกษัตริย์ของเมืองแมนสรวง พระองค์มีพระมเหสีทรง พระนามว่า “นาฏบุญเหลือ” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสมีพระนามว่า “พระลอดิลกราช” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “พระลอ” มีกิตติศัพท์เป็นที่ร่ำลือกันว่าพระองค์นั้นทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วสารทิศจนไปถึงเมืองสรอง ( อ่านว่า เมืองสอง ) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร พระองค์มีพระนามว่า “พรดาราวดี” และพระองค์ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า “พระเพื่อน” และ “พระแพง” พระเพื่อนและพระแพงได้ยินมาว่าพระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม ก็ให้ความสนใจยากจะได้ยล

พี่เลี้ยงของพระเพื่อนและพระแพงคือนางรื่น และนางโรยสังเกตเห็นความปราถนาของนายหญิงของตนก็เข้าใจในพระประสงค์ สองพี่เลี้ยงจึงอาสาจะจัดการให้นายของตนนั้นได้พบกับพระลอ โดยการส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวง และในขณะที่ขับซอนั้นจะให้นักดนตรีพร่ำพรรณนาถึงความงามของเจ้าหญิงทั้งสอง ในขณะเดียวกันนั้นพี่เลี้ยงทั้งสองก็ได้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อที่จะให้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง

เมื่อพระลอต้องมนต์ก็ทำใคร่อยากที่จะได้ยลพระเพื่อนและพระแพงเป็นยิ่งนัก พระองค์เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงจนไม่เป็นอันทำอะไรแม้แต่กระทั่งเสวยพระกระยาหาร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพระองค์ ได้ทำให้พระราชชนนีสงสัยว่าจะมีผีมาเข้ามาสิงสู่อยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะหาหมอผีคนไหนมาทำพิธีขับไล่ก็ไม่มีผลอันใด พระลอก็ยังคงมีพฤติการณ์อย่างเดิมอยู่ เพื่อที่จะได้ยลเจ้าหญิงทั้งสอง พระลอจึงทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือเพื่อที่จะได้ไปยลเจ้าหญิงแห่งเมืองสรองนั่นเอง จากนั้นพระลอก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสรองพร้อมคนสนิทอีก 2 คน คือ นายแก้วกับนายขวัญ พร้อมกับไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดต้องเดินผ่านป่าผ่าดงจนกระทั่งมาพบแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่า “แม่น้ำกาหลง”

และที่แม่น้ำกาหลงนี้เอง ที่พระลอได้ตั้งอธิฐานเสี่ยงน้ำเพื่อตรวจดูดวงชะตาของพระองค์เอง ทันทีที่ได้สิ้นคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าพระองค์นั้นจะไม่เคยพบนางเลย แต่พระองค์คลั่งไคล้ไหลหลงในตัวนางทั้งสองเป็นยิ่งนัก…ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองรอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามไม่ได้ และเกรงว่ามนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่เห็นผล จึงได้ขอร้องให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลืออีกครั้ง โดยให้ช่วยเนรมิตไก่งามขึ้นตัวหนึ่งให้มีเสียงขันที่ไพเราะ ทั้งสองพระองค์คิดว่าไก่ตัวนั้นจะต้องทำให้พระลอสนพระทัยและติดตามมาจนถึงเมืองสรองอย่างแน่นอน

และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เจ้าหญิงสองคาดไว้ พระลอได้ตามไก่เนรมิตไปจนถึงพระราชอุทยาน และได้พบกับเจ้าหญิงทั้งสองซึ่งกำลังทรงสำราญอยู่ ในทันทีที่ทั้งสามได้พบกันก็เกิดความรักใคร่กันในบัดดล และก็เป็นเวลาเดียวกับที่นายแก้วกับนายขวัญ ได้ตกหลุมรักของนางรื่นและนางโรยผู้ซึ่งเปิดหัวใจต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองโดยไม่รีรอเช่นกัน ปรากฏว่าพระลอและบ่าวคนสนิทของพระองค์ลักลอบเข้าไปอยู่ในพระตำหนักชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงทั้งสอง…อย่างไรก็ตาม ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยเข้าจนได้ …เมื่อข่าวได้ไปถึงพระกรรณของพระราชาจึงได้เสด็จมาไต่สวนในทันที และเมื่อพระลอกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นยิ่งนัก แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในความรักของคนทั้งสาม และทรงพระเมตตารับสั่งจะจัดการอภิเษกพระลอกับพระเพื่อนและพระแพงให้ทันที

แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงนั้นยังทรงพยาบาทพระลอ อ้างรับสั่งท้าวพระพิชัยวิษณุกรตรัสสั่งว่าให้นำทหารไปรุมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพงและพี่เลี้ยงอาไว้ …ในขณะที่พระลอกับไพร่พลได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด พระเจ้าย่าก็สั่งให้ทหารระดมยิงธนูเข้าใส่ ลูกธนูที่พุ่งเข้าหาพระลอและไพร่พลประดุจดังห่าฝนก็ไม่ปานจึงทำให้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้อีกต่อไป และเพื่อที่ปกป้องชีวิตของชายคนรัก พระเพื่อนกับพระแพงจึงเข้าขวางโดยใช้ตัวเองเป็นโล่กำบังให้พระลอ สุดท้ายพระลอพระเพื่อน พระแพง และพี่เลี้ยงทั้งสี่ช่วยกันต่อสู้จนสิ้นชีวิตทั้งหมด …ทันใดนั้นทั้งสองเมืองก็ต้องตกอยู่ในความวิปโยคต่อการจากไปของทั้งสามพระองค์ผู้บูชาในความรัก

ท้าวพิชัยพิษณุกรพิโรธพระเจ้าย่าและทหาร รับสั่งให้ประหารชีวิตทุกคน พระนางบุญเหลือทรงส่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์ทั้งสาม ในที่สุดเมืองสรวงและเมืองสรองก็กลับมาเป็นไมตรีต่อกัน

ข้อคิดสอนใจที่ได้จากเรื่อง ลิลิตรพระลอ

  • เพื่อให้ตระหนักเห็นโทษภัยของกิเลสต่างๆ ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ชี้ให้เห็นอารมณ์และกิเลสของมนุษย์นั้นมีอำนาจใหญ่หลวงนัก สามารถลิขิตชีวิตของตนเองได้…ถ้าหากเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์…ย่อมหลงไปตามอำนาจกิเลสต่างๆ …แล้วนำไปสู่การทำสิ่งไม่ดี ทางเสื่อม และภัยอันตรายต่างๆมาสู่ตนเองได้
  • ลิลิตพระลอถ่ายทอดมาจากชีวิตจริงอย่างเห็นได้ชัดเจน วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก มีความรักหลายประเภท ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
  • ผู้แต่งถือหลักว่ามนุษย์มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นประจำตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ตัวละครจึงมีชีวิตเลือดเนื้อเจือด้วยความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังเช่น พระนางบุญเหลือมีความรักลูก ท้าวพิชัยพิษณุกรมีใจนักเลงไม่อาฆาตพยาบาท พระเจ้าย่ามีความเคียดแค้น ความรักระหว่างเจ้ากับข้าถึงกับยอมสละชีวิตพลีชีพด้วยความเต็มใจ เป็นต้น
  • หนังสือลิลิตพระลอเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ใช้ถ้อยคำไพเราะกินใจดี มีความเปรียบเทียบที่คมคาย จับใจผู้อ่าน สมดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า “ใครฟังย่อมใหลหลง ฤาอิ่ม ฟังนา” โคลงบางบทได้รับการยกย่องว่าเป็นโคลงครูมาแต่โบราณ ได้แก่โคลง “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” การใช้ภาษามีถ้อยคำรุ่นเก่าปะปนอยู่มากเช่นเดียวกับมหาชาติคำหลวงและลิลิตยวนพ่าย ทำให้สามารถใช้ศึกษาการใช้คำในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้

ขายปัญญา

ในกาลก่อนนั้น… สติปัญญาความรู้ ความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องนั้น มีการนำเอามาขายดังสินค้าต่าง ๆ เช่นปัจจุบันนี้ ดังนั้น ตลอดเวลาจะมีผู้นำเอาความรู้หรือเอาตัวปัญญานี้มาขายเสมอ

วันหนึ่งในเวลาบ่าย แดดร้อนจัดจนเป็นเปลว มีชายคนหนึ่งนำเอาปัญญามาขาย โดยบรรจุตัวปัญญาลงในกระทอจนเต็มแล้ว หาบผ่านเปลวแดดมาจนถึงประตูเมือง ครั้นจะเข้าไปทันทีก็เกรงว่าอากาศร้อน ๆ เช่นนี้จะทำให้อารมณ์ของตนเสียไปได้… เขาจึงสอดส่ายสายตาดูร่มไม้ใหญ่บริเวณรอบๆ ในที่สุดก็มองเห็นร่มหว้าใหญ่ใบตก มีร่มแผ่กว้างน่าพัก เขาจึงแวะเข้าไปแล้ววางหาบตัวปัญญาที่นำมาขายลง แล้วเอนหลังหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน… จวบจนตะวันบ่ายคล้อยลง ความร้อนจึงค่อยบรรเทา ชายนั้นตื่นขึ้นแล้วไปล้างหน้าในสระน้ำใกล้กำแพงเมือง ตั้งใจว่าพอเสร็จธุระแล้วนำเอาตัวปัญญาเข้าไปเสนอขายในเมืองทันที

ขณะที่เขาเตรียมจัดหาบเพื่อจะเข้าไปในเมืองอยู่นั้น พอดีมีหมู่คนประมาณ 4 – 5 คนออกจากประตูเมืองมา เมื่อมาถึงใต้ร่มหว้า ชายที่นำเอาตัวปัญญามาขายจึงร้องถามออกไปว่า ‘’พี่น้องทั้งหลาย ในพวกท่านมีใครบ้างไหมที่ต้องการซื้อเอาปัญญาไปไว้ใช้บ้าง” ชาวบ้านเหล่านั้นหันหน้ามามองกัน คนหนึ่งในพรรคพวกจึงถามว่า ‘’ท่านเอ๋ย ปัญญานั้นมันเป็นเสมอแก้วสารพัดนึก ซึ่งจะลดบันดาลให้ท่านล่วงรู้และสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลก ๆ ใหม่ได้อีกมากมายโดยไม่รู้จักจบสิ้น ปัญญาจะช่วยให้บ้านเมืองที่ล้าหลังเจริญก้าวหน้า”

คนหนึ่งในพวกนั้นอุทานออกมาด้วยความพอใจ ‘’โอโฮ… ยังงั้นปัญญาก็เป็นแก้วสารพัดนึกละซิที่จะสามารถดลบันดาลสิ่งที่ต้องการได้ ทุกอย่าง นอกจากนั้นปัญญายังช่วยให้เราล่วงรู้สิ่งที่เรายังไม่รู้ด้วยใช่ไหม” ชายผู้นั้นพยักหน้าและรับปากว่า ‘’จริงทีเดียว พวกท่านเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญาเปรียบเหมือนดวงแก้วที่จะส่องสว่างขจัดความโง่เขลาให้หายไปอย่างไรล่ะ พวกท่านมีใครต้องการบ้างไหมเล่า เรากำลังนำมาเสนอขายจนถึงบ้านของท่านล่ะ‘’

… ชายคนหนึ่งในหมู่คนนั้นอยากจะลองดูว่า ผู้เอาปัญญามาขายนั้นจะฉลาดและล่วงรู้ทุกสิ่งจริงดังที่เขากล่าวหรือไม่ เขาจึงก้มดูรอบๆ ต้นหว้าใหญ่นั้นอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วเอ๋ยปากถามว่า ‘’เอาละ เมื่อท่านกล่าวว่า ปัญญาจะสามารถช่วยให้เราล่วงรู้ทุกอย่าง ข้าพเจ้าขอเรียนถามท่านว่า ท่านรู้หรือไม่ว่ามีอะไรอยู่ใต้ดินตรงที่ท่านยืนอยู่ตรงนี้ ถ้าหากท่านมีปัญญาจริง หวังว่าท่านคงจะตอบได้ ” ชายนั้นยืนเพ่งพินิจพิจารณาเป็นเวลานาน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใต้หาบและใต้บริเวณที่ตนยืนอยู่นั้นมีอะไรอยู่ เขาจึงย้อนถามไปว่า ‘’ และท่านสามารถบอกได้รึว่าอะไรอยู่ใต้เท้าที่เรายืนอยู่นี้ ”

… ชายที่ถามพยักหน้าและตอบออกไปทันทีว่า ‘’ แม้เราจะไม่มีตัวปัญญามาขายแต่เรากล้าบอกว่าใต้หาบตัวปัญญานี้มีไข่มดแดง (ดิน) รังใหญ่ หากท่านไม่เชื่อก็ช่วยเราขุดซิ หากไม่พบดังเราว่ายอมให้ท่านปรับเราก็แล้วกัน” ชายคนนั้นตกลง ต่อจากนั้นคนทั้งหมดต่างช่วยกันขุดลงไปจนลึกเกือบท่วมศรีษะ จึงพบไข่มดพร้อมทั้งแม่มันจำนวนมากมายในโพรงนั้นจริง ๆ ซึ่งการกระทำครั้งนี้ ทำให้ชายผู้เอาปัญญามาขายรู้สึกอับอายยิ่งนัก

ด้วยเหตุนี้เขาจึงยกเอาหาบปัญญาเดินหมุนกลับไปทางเดิม ไม่ยอมเอาตัวปัญญามาขายให้แก่ชาวเมืองนั้นเพราะเจ็บใจที่ถูกสบประมาทต่อหน้า เขาออกเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานจนกระทั่งไปพบคนผิวขาวได้แก่พวกฝรั่งนั่นเอง เขาจึงเอาตัวปัญญานี้นำออกไปขาย และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชาวยุโรปเจริญรวดเร็ว สามารถคิดและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้โดยไม่รู้จักจบสิ้น นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนวิธีค้นคว้าซึ่งดีกว่าพวกเราเสียอีก

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

  1. คนอวดรู้เมื่อไปพบคนที่รู้จริง สู้เขาไม่ได้ย่อมขายหน้า… หรือปัญญาเป็นเรื่องของนามธรรมจะชื้อจะขายกันเหมือนวัตถุหาได้ไม่ ผู้รู้แจ้งในปัญญาคือผู้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง… นั่นคือประสบการณ์หรือการศึกษาด้วยการกระทำจริงนั่นเอง … เหมือนชายที่รู้ได้ว่าพื้นดินตรงนั้นมีไข่แมงมัน เพราะใช้ความสังเกตและเคยหากินทางนี้มาแล้ว
  2. คติ ‘’โง่อวดฉลาด”

จะเห็นได้ว่า นิทานพื้นบ้าน นอกจากจะฟังสนุก ได้ข้อคิดดี ๆ แล้ว ยังสอดแทรกวัฒนธรรมไทย เอกลักษณ์ไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ลูก ๆ ได้รู้จักอีกด้วย ประโยชน์เยอะขนาดนี้แล้ว คืนนี้อย่าลืม อ่าน นิทานพื้นบ้าน ให้ลูกฟังก่อนนอนกันนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 นิทานสอนใจ!! พร้อมข้อคิดดี ๆ อ่านให้ลูกฟังก่อนนอน

กระต่ายกับเต่า นิทานอีสปสุดคลาสสิค สอนลูกเข้าใจ “แค่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ”

โหลดฟรี! 12 นิทานคุณธรรมสำหรับเด็ก บ่มเพาะ “ความดี” ในใจลูก

20 นิทานอีสปสั้นๆ เน้นคติเตือนใจ เหมาะกับทุกวัย จบแบบยิ้มได้ไม่รุนแรง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.stou.ac.th, nitanstory.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up