เคารพสิทธิเด็ก

ชาวเน็ตแห่ปลื้ม! ปุ้มปุ้ย เคารพสิทธิเด็ก ไม่เผยหน้าลูกในโซเชียล

Alternative Textaccount_circle
event
เคารพสิทธิเด็ก
เคารพสิทธิเด็ก

ปัจจุบันพ่อแม่ คนใกล้ตัว ผู้ปกครอง ญาติ ถ่ายภาพและคลิปของลูกหลาน แล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก หลายคนอาจโพสต์หรือแชร์คลิปลูกหลานเพราะความน่ารัก ขำขัน ตลก แต่การกระทำเหล่านี้กลับเป็นการละเมิด ไม่ เคารพสิทธิเด็ก เป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และจะกลายเป็นดาบสองคม ส่งผลร้ายต่อเด็ก ในภายหลังได้

ชาวเน็ตแห่ปลื้ม! ปุ้มปุ้ย เคารพสิทธิเด็ก ไม่เผยหน้าลูกในโซเชียล

ปัจจุบันนี้การ เคารพสิทธิเด็ก เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้น สังคมให้ความสนใจ คุณพ่อคุณแม่หลายรายต่างเริ่มตระหนักถึงสิทธิและความเป็นส่วนตัวของลูกน้อย ซึ่งทางฟากฝั่งคนดังในวงการบันเทิงไทยก็มีหลายคนที่เคารพสิทธิลูก หนึ่งในนั้นมี “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” ที่เพิ่งกำเนิดลูกชายคนแรก “น้องไซอัลบลู สกาย ดูวาล”

เคารพสิทธิเด็ก
เคารพสิทธิเด็กไม่เผยหน้าลูก

แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่าอยากชมโฉมหน้าของเด็กน้อยจากบรรดาแฟนคลับ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าคุณแม่มือใหม่จะปล่อยภาพให้แฟนคลับได้ชมโฉมน้อง โดยปุ้มปุ้ยได้เคยพูดไว้เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 ก่อนที่จะคลอดลูกชาย เพื่อตอบแฟนคลับรายหนึ่งที่ส่งข้อความมาถามว่า “คิดยังไงกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของเบบี๋ คนที่ติดตามจะได้เห็นน้องไหม?”

“ปุ้มปุ้ย” ได้พูดคุยถึงแนวคิดส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการเคารพสิทธิลูกชายไว้อย่างชัดเจน ว่า

“เป็นเรื่องที่คิดหนัก และทำการบ้านหนักมากเรื่องนี้ค่ะ ปุ้ยให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับจากผู้เลี้ยงดู 70 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าจะไม่มีใครได้เห็นค่ะ จนกว่าลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน สามารถบอกความรู้สึกได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากลูกก่อนค่ะ…..”

ความคิดของปุ้มปุ้ย สะท้อนให้เห็นว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทุกคน ควรตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งสิทธิเด็กที่ติดตัวมาแต่เกิดมี 4 ประเภท

สิทธิเด็ก 4 ประเภท

จากการที่ปุ้มปุ้ยกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับนั้น สิทธินี้เป็นสิทธิของเด็กที่อายุ 0-18 ปีทุกคนควรได้รับเมื่อเกิดมาแล้ว ประกอบด้วย

  1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
  2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
  3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
  4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง

ดาบสองคมโซเชียลมีเดีย

จากประเด็นการเคารพสิทธิของเด็ก ด้วยการไม่โพสต์ภาพและคลิปของเด็ก เนื่องจากอาจจะส่งผลร้ายต่อเด็กนั้น เรื่องนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อ รวมทั้งคนดังในโลกออนไลน์ได้ออกมาสะท้อนให้สังคมได้คิดกันเป็นจำนวนมาก เช่น จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจดัง Drama-addict ระบุว่า

“การโพสต์ภาพและคลิปของเด็กลงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เรียกให้อาชญากรเข้ามาหาตัวเด็กได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน รวมถึงการ “เช็กอิน” ตามสถานที่ต่าง ๆ ขณะที่ปัจจุบันมีคลิปเด็กจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เผยแพร่กลับเป็นคนที่ทำงานอยู่กับเด็กและเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กโดยตรง…”

นอกจากนี้ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังกล่าวเสริมว่าการละเมิดสิทธิเด็กจะส่งผลให้เด็กนับถือตัวเองลดลง

“การนำภาพหรือคลิปการกระทำในทางไม่ดีไปเปิดเผยจะส่งผลทำให้เกิดความเครียด อับอาย รู้สึกไม่ดีกับตัวเองความนับถือในตัวเองลดลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจเกิดความรู้สึกแย่ ถูกล้อเลียนจากกลุ่มเพื่อน ถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน ต้องกลายเป็นคนที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ คลิปที่โพสต์ประจานการกระทำของลูกหลานจะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ทุกกลุ่มอายุถือว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความคิดที่รอบคอบ หากรักลูกก็อย่าละเมิดสิทธิ มองถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นให้มาก”

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าการนำภาพของเด็กไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับการยินยอมนั้น หลายกรณีส่งผลให้เด็กถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า

“การที่ภาพ/คลิปของเด็กถูกนำไปตัดต่อ ดัดแปลง เป็นที่สนุกสนานบนอินเทอร์เน็ต บางครั้งถูกนำไปแชร์ต่อและปรับเปลี่ยนเจตนาที่ดีให้กลายเป็นเรื่องไม่ดีเพื่อเรียกยอดไลค์ของแฟนเพจ ซึ่งมีเด็กหลายกรณีที่เด็กกลายเป็นโรคซึมเศร้าจากการโดนล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นแผลในใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ต้องย้ายโรงเรียน เพราะโดนล้อ อึดอัดเพราะกลายเป็นคนดังและมีแต่คนมาพูดคุยหรือล้อเลียน หวาดระแวง เกิดภาวะความเครียด หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตายก็มี

เคารพสิทธิเด็ก
พร้อมหน้า พ่อ แม่ ลูก

เผยแพร่ภาพและคลิปเด็ก จัดการทางกฎหมายได้

ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านอาจคิดว่า ก็เด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลานเราเราจะทำอะไรก็ได้ แค่โพสต์รูปหรือคลิปไม่น่าจะรุนแรงนั้น กรณีนี้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่ามีข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่ามีโทษทางอาญา

“สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากกว่า 200 ฉบับ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ใช้มามากกว่า 10 ปี และนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย ดังนั้น กฎหมายถือว่าบัญญัติไว้ครอบคลุม สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ แต่ยังขาดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมหรือกระบวนการต่าง ๆ ยังมีความล่าช้า”

 

โพสต์อย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการโพสต์ภาพและคลิป ก็มีแนวทางในการแชร์ภาพหรือคลิปของลูกหลานลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก ดังนี้

  1. เอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนที่จะโพสต์ภาพหรือคลิป เพราะเด็กอาจไม่รู้สึกตลกหรืออับอาย ไม่ควรนำไปเผยแพร่ ส่งต่อ หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
  2. อย่าโพสต์คลิปและภาพเด็กลงโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา เพราะมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงตัวได้
  3. พ่อแม่ควรทำหน้าที่พ่อแม่ ไม่ใช่เป็นสื่อถ่ายคลิป
  4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล เช่น กสทช. หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เช่น ครู หรือเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ ควรมีมาตรการในการดูแลที่จริงจัง
  5. สื่อและประชาชน ควรร่วมกันให้ความรู้ในเรื่องการเผยแพร่ภาพหรือคลิปที่ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม ให้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมามากขึ้น โดยเฉพาะสื่อก็ไม่ควรเป็นตัวอย่างในการสร้างความคุ้นชินในการเผยแพร่ภาพหรือคลิปเด็กในรูปแบบที่เป็นการละเมิดเด็กด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อได้ทราบแล้วว่าเรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างการโพสต์ภาพหรือคลิปให้เห็นหน้าเด็กโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเด็กนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรระมัดระวังและเตือนตนเองอยู่เสมอว่า การโพสต์นั้นจะส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้างในอนาคต เพราะสิ่งที่โพสต์ลงไปแล้วนั้น เป็น digital footprint ซึ่งจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปอีกนาน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

Posttoday ,springnews , มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย , IG pantipa.a

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

สอนลูกให้รู้จัก “พื้นที่ส่วนตัว” ป้องกันถูกละเมิดทางเพศ

ชวนผู้ปกครองเข้าใจ Safety Zone ของเด็กทุกช่วงวัย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up