ทำไมพี่วัย 4 ขวบ ชอบแกล้งน้องอยู่เรื่อย

Alternative Textaccount_circle
event

คุณพ่อคุณแม่พาน้องภู เด็กชายวัย 4 ขวบ มาหาครูแป๋มเพื่อมา “เล่นบำบัด” (Play Therapy) ให้น้องภูมีพฤติกรรมการเล่นดีขึ้น ด้วยเหตุที่คุณพ่อคุณแม่ว่า “น้องภูดื้อ ชอบเล่นรุนแรง เล่นกับน้องไม่ได้เลยชอบแกล้งน้องทุกที”

พอเข้ามาในห้องเล่น น้องภูมีท่าทางสนใจการเล่น เข้าไปดูของหลายอย่าง และในที่สุดก็เลือกปั้นแป้งโดว์ น้องภูปั้นเป็นรูปโดนัทหน้าต่างๆ อย่างสวยงาม ไม่มีเล่นรุนแรงเลย ออกจะเล่นเงียบๆ ไม่ค่อยพูดคุยแสดงความรู้สึกมากนัก

ครั้งต่อๆ มา เมื่อน้องภูเริ่มสนิทคุ้นเคย และไว้ใจครูแป๋มมากขึ้น จึงเปิดเผยเรื่องของตัวเอง

“ครูแป๋มรู้มั้ย ว่าที่ภูชอบแกล้งน้องเป็นเพราะอะไร”

“ไม่รู้สิคะ เป็นเพราะอะไรเหรอ”

“เพราะว่า…” น้องภูยิ้มเขินๆ “ตอนที่ภูแกล้งน้อง พ่อกับแม่จะรีบวิ่งเข้ามาสนใจ แล้วบอกภูว่า ‘ไม่เอาลูก อย่าแกล้งน้อง’ แต่เวลาภูเล่นกับน้องดีๆ นะ พ่อกะแม่ไม่เคยสนใจเล้ยย” และบอกอีกว่ายิ่งเวลาที่เขาเล่นแรงๆ กับน้อง พ่อกะแม่จะให้ความสนใจทุกครั้งไป

 

พอช่วงท้ายชั่วโมง ครูแป๋มสรุปความโดยรวมให้คุณพ่อคุณแม่

“น้องภูมักจะแกล้งน้องหรือเล่นแรง เพราะเมื่อทำอย่างนี้เขาได้รับความสนใจ ขณะที่ตอนเล่นดีๆ น้องภูรู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ สำหรับน้องภูแล้วถึงได้รับความสนใจทางลบก็ยังดีกว่าไม่ได้รับความสนใจเลย”

คุณพ่อคุณแม่รับฟังแล้วนิ่งไปครู่หนึ่ง

ในที่สุดคุณแม่บอกว่า “เห็นจะจริงค่ะ เพราะเวลาเขาเล่นดีๆ เราก็ปล่อยไป เห็นว่าไม่มีอะไรน่าห่วง จะเข้าไปหาก็ต่อเมื่อเขาเล่นแรงหรือแกล้งน้องเท่านั้น”

คุณพ่อพยักหน้าเห็นด้วยกับคุณแม่ แล้วเสริมว่า “แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเล่นดีๆ แล้วครับ ชอบเล่นแรงๆ”

“อาจจะเป็นเพราะน้องภูไม่ค่อยได้มีโอกาสในการฝึกเล่นดีๆ ค่ะ เขารู้แต่ว่าพอเล่นไม่ดีเมื่อไหร่ จะได้รับความสนใจเมื่อนั้น จริงๆ แล้วน้องภูเล่นดีๆ ได้นะคะ คุณพ่อคุณแม่ลองให้ความสนใจเวลาเขาเล่นดีๆ ไม่เล่นแรงไม่แกล้งน้องดูสิคะว่าน้องจะเป็นอย่างไร” ครูแป๋มเสนอทางใหม่

หลายสัปดาห์ต่อมา คุณพ่อคุณแม่สีหน้าคลายกังวลพร้อมกับรายงานผล

“เราตกลงว่าจะสนใจตอนน้องภูเล่นดีๆ เวลาที่เขาเล่นแรงหรือแกล้งน้อง สนใจน้อยลงมากจนแทบไม่สนใจเลย เวลาที่พี่น้องเล่นกันราบรื่น เราก็แสดงความชื่นชม พูดชมเชยและกอดน้องภู บอกให้เขารู้ว่าพ่อแม่ดีใจที่เห็นเขาเล่นกับน้องดี เรื่องเล่นแรง แกล้งน้องก็ลดลงไปมากจนแทบไม่มีแล้ว”

จะเห็นได้ว่า เพียงคุณพ่อคุณแม่ให้เวลาสังเกต ทำความเข้าใจพฤติกรรมการเล่นของลูก เปิดใจ ปรับทัศนคติและวิธีการปฏิบัติต่อลูกจะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วลูกไม่ได้ดื้อ แต่มีสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆ

การเล่นก็กลับมาทำหน้าที่ส่งเสริมความผูกพันและทักษะที่ดีรวมทั้งความสุขให้น้องภูและน้องอีกครั้งค่ะ

 

 

 

เรื่องโดย : คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด (Play Therapist) โรงพยาบาลมนารมย์ จากแฟนเพจ Funtastic Play and Toys

หมายเหตุ * ชื่อเด็กในเรื่องเป็นชื่อสมมติ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up