ทำไมต้องพาลูกไปพบ หมอพัฒนาการเด็ก

ลูกไม่เป็นอะไร ทำไมต้องไปหา “หมอพัฒนาการเด็ก”!? โดย พ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
ทำไมต้องพาลูกไปพบ หมอพัฒนาการเด็ก
ทำไมต้องพาลูกไปพบ หมอพัฒนาการเด็ก

“ลูกเป็นอะไร ทำไมต้องพาไปหา หมอพัฒนาการเด็ก” แรกๆ ก็ไม่รู้จะตอบยังไงดีให้คนที่ถามเข้าใจ เพราะเอาจริงๆ ครั้งแรกที่ภรรยาชวนผม ให้พาลูกไปปรึกษา หมอพัฒนาการเด็ก ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยสักเท่าไหร่ แต่การเลี้ยงลูก ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งดังนั้นผมจึงรับฟังและตกลงไปด้วย

แต่ครั้งแรกก็เกือบวงแตก เพราะคุณหมอพัฒนาการเด็กคนดัง ถามคำถามแรกว่า

“ลูกเป็นอะไรคะ”

ผมสวนกลับไปทันทีว่า

“ลูกผมไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น ภรรยาแค่อยากให้ผมมาฟัง”

จากนั้นเลยเป็นการสื่อสารระหว่าง ภรรยากับคุณหมออยู่พักใหญ่ จนกระทั่งช่วงที่คุณหมอพัฒนาการเด็กดูพฤติกรรมลูกแล้วสรุป รวมถึงคำแนะนำชี้แนะ ก็ทำให้ผมต้องยอมรับว่า อ๋อ การได้พูดคุยกับผู้ชำนาญการมันมีประโยชน์แบบนี้ แม้จะอยู่กับลูกและคิดว่าเราเข้าใจเขา แต่การปรับอะไรบางอย่างให้เหมาะสมมันส่งผลดีต่อพัฒนาการเด็กด้านต่างๆ

(ฉายภาพความจริงคือ ในการพาไปพบ หมอพัฒนาการเด็ก ครั้งแรก ผมเองก็ไม่รู้ตอนที่ หม่ามี้ โทรนัดหมาย เธอทำเสร็จค่อยมาบอก แล้วกึ่งคุยกึ่งบังคับและล๊อควันปะป๊าว่า ต้องว่างและไปด้วยกัน 555)

ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราไม่ได้รู้สึกว่าลูกเรามีอะไรที่เป็นปัญหา น่าจะเข้าข่าย easy child ที่เลี้ยงง่ายประมาณนึงเสียด้วยซ้ำ แต่เราก็อยากพาไปเช็ก เพราะการเลี้ยงลูก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ (เหมือนที่ปูนปั้นเคยบอก #การเลี้ยงเด็กเป็นงานที่ยาก )

การใช้แค่ความเข้าใจ บางครั้งอาจจะไม่สามารถนำพาสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ ด้วยความที่เด็กแต่ละคนก็มีแตกต่าง ขนาดพี่น้องท้องเดียวกัน ยังมีความแตกต่างกันสุดโต่งเลย เช่น พี่ปูนปั้นเจอสัตว์ที่ไหน เป็นพุ่งเข้าไปหา ชอบให้อาหาร อยากสัมผัส ส่วนปั้นแป้งนั้น แค่เจ้าโกลเด้นที่บ้านก็วิ่งหนีจู๊ด ทั้งๆ ที่รู้จักกันมา 2 ปีกว่าเข้าให้แล้ว

พฤติกรรมหลายๆ อย่าง คุณพ่อคุณแม่เอง ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำ วิธีการที่เราใช้ มันถูกต้องในระยะยาวมั้ย และสิ่งที่เด็กแสดงออกแต่ละอย่างทั้งดีไม่ดีมีผลมาจากอะไร

การไปหาหมอพัฒนาการเด็ก ก็เหมือนได้ไปตรวจเช็กแนวทางตัวเองด้วยเหมือนกัน

หลังๆ เพื่อตอบให้เข้าใจง่าย หม่ามี้แนทมักใช้วิธีถามกลับ ซึ่งผมว่าน่าสนใจและทำให้ผู้ถามได้คิดตาม

“รถยนต์ที่เราใช้ขับกันทุกวัน เวลาเอารถเข้าศูนย์ รถเสียมั้ย?

นั่นแหล่ะ รถไม่ได้เสีย แต่เมื่อถึงระยะตรวจสอบตามเลขไมล์ หรือถึงช่วงเวลา เรายังเอารถเข้าไปเช็กเลย แล้วลูกเราที่ประเมินค่าไม่ได้เหมือนรถ ทำไมเราถึงปล่อยปละละเลย

เราเป็นพ่อแม่ เราก็ตรวจสุขภาพทุกปี ลูกก็ควรได้รับการตรวจพัฒนาการเหมือนกัน”

เมื่อพบคุณหมอพัฒนาการเด็กแล้ว เราได้ลองเอาสิ่งที่คุณหมอพัฒนาการเด็กแนะนำมาปรับใช้แล้วเราก็ยอมรับว่า มันได้ผลดีทีเดียว นอกจากพบหมอพัฒนาการเด็ก เราก็ยังได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาพัฒนาการด้วย ซึ่งก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะเด็กแต่ละคนจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เราอาจจะไม่รู้ที่มาที่ไป เช่น ไม่ชอบทำอะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่ดูแล้วเป็นเรื่องธรรมดาแต่ไม่ชอบ ซึ่งนักจิตวิทยาพัฒนาการเขาจะหาวิธีเข้าใจเด็ก ผ่านการเล่น มาคลุกคลี แล้วเขาจะให้คำแนะนำได้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นน่าจะเกิดจากอะไร แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไข ซึ่งของปูนปั้นเองก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่เราเชื่อว่าเขาจะสนุกกับโลกใบนี้มากขึ้นอีกถ้าแก้ไขได้ ซึ่งสาเหตุที่เราต้องปรับแก้ไขให้ปูนปั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกี่ยวกัน แต่มันก็ได้ผลดีทีเดียว

อ่านจนจบแล้ว ไม่ทราบว่า คุณพ่อคุณแม่มีมุมมองที่ดีต่อ การพาลูกไปพบ #คุณหมอพัฒนาการ และ #นักจิตวิทยาพัฒนาการ หรือยังครับ

 


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

หมุนรอบลูก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

บทความน่าสนใจอื่นๆ

4 ประโยชน์ที่ลูกจะได้จากการเล่น “พับกระดาษ”

เทคนิค ฝึกลูกเริ่มดื่ม นมกล่อง UHT สำหรับเด็ก

เคล็ดลับ พาลูกเที่ยวธรรมชาติ เดินป่าให้สนุกไม่งอแง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up