จะเป็นอย่างไร!? เมื่อ‘ตั๊ก-บริบูรณ์’ ปล่อย ลูกหลงทาง เพื่อเป็นบทเรียน (มีคลิป)

event

ลูกหลงทาง

วิธีง่ายๆ สอนลูกรับมือ เมื่อลูกหลงทางกับพ่อแม่

1. ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กคิดแก้ปัญหา

ลองถามลูกน้อยถึงความรู้สึกและวิธีแก้ไขปัญหาหากเขาหลงทาง  และใช้โอกาสนี้แนะนำวิธีเอาตัวรอดเพิ่มเติมเข้าไป

2. บอกความรู้สึกของพ่อแม่

การบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกตกใจ เป็นห่วงและจะออกตามหาลูกทันทีจะทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะตามหาเขาเช่นกัน  เขาจะได้ไม่วิตกกังวลมากนักเมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าว

3. เตรียมข้อมูลให้พร้อม

เขียนเบอร์ติดต่อของคุณพ่อคุณแม่ใส่ในรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวลูกและให้ลูกเก็บรักษาใบข้อมูลประจำตัว เช่น  ชื่อของลูก ชื่อของพ่อแม่เบอร์ติดต่อ  โรคประจำตัว วิธีการช่วยเหลือและเขียนข้อความขอความกรุณาติดต่อหรือพาลูกมาส่งสั้นๆ เพื่อให้ลูกเก็บไว้ยื่นให้แก่คนที่เขาไปขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงการฝึกสอนให้ลูกรู้จักชื่อจริงตัวเอง อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ สอนวิธีโทรศัพท์ให้ติดต่อพ่อแม่ ญาติ ตำรวจ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ในกรณีฉุกเฉิน สอนวิธีโทรศัพท์สาธารณะที่หยอดเหรียญ วิธีโทรทางไกลผ่านโอเปอเรเตอร์ที่เรียกเก็บเงินปลายทาง โดยให้ลูกจำเบอร์ที่บ้าน และมือถือพ่อแม่ให้ได้

4. สอนลูกตะโกนเรียกชื่อของคุณพ่อคุณแม่

จะเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริงก็ได้  เพราะเสียงเรียกว่า “พ่อแม่” อาจกลมกลืนไปกับเสียงของผู้คนและเด็กคนอื่นๆ

5. สอนให้ลูกมองหาคนช่วยเหลือ

อาจให้ลูกขอความช่วยเหลือจากผู้หญิงที่มากับเด็กเพื่อขอความช่วยเหลือหรือพนักงานที่เคาน์เตอร์คิดเงินตามร้านค้าใหญ่ๆ

6. สอนให้ลูกอยู่กับที่และมองหาจุดเด่นที่ปลอดภัย

เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าขนาดใหญ่  ฟุตบาท  หรือยืนบนเก้าอี้สาธารณะที่ทำให้สูงขึ้นเป็นต้น  และลูกน้อยต้องรู้จักยืนยันหนักแน่นว่าจะหยุดรอคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่เดิม  ไม่ตามผู้คนแปลกหน้าไปไหน

7. ถ้าหลงในห้างสอน

สอนให้ลูกขอความช่วยเหลือ จากพนักงานประชาสัมพันธ์ พนักงานขาย พนักงานเก็บเงิน เพราะพนักงานขายมีหน้าที่ขาย จะไม่สามารถพาลูกออกจากจุดที่ทำงานนาน ๆ ได้ จึงมั่นใจได้ว่าลูกจะไม่ถูกลักพาตัวไปอีก หรือให้ไปหาตำรวจให้ลูกรู้ว่าตำรวจเป็นคนที่ขอความช่วยเหลือได้ ดังนั้นอย่าขู่ลูกให้กลัวตำรวจ

8. ถ้าลูกอยู่บ้านคนเดียว

แล้วต้องรับโทรศัพท์จากคนอื่น ควรให้ลูกตอบว่าพ่อแม่อยู่บ้าน แต่ไม่ว่างมารับสาย กำลังยุ่ง ถ้ามีคนมาหาแล้วลูกอยู่บ้านคนเดียว อย่าให้ลูกเปิดประตู แต่บอกว่าให้กลับไปก่อน พ่อแม่กำลังยุ่ง หรือเมื่อมีคนแปลกหน้ามาหาที่บ้านให้ลูกรู้จักตัดบท ไม่ให้ยืดเยื้อ ถ้าลูกกลัวควรบอกล่วงหน้าให้ลูกโทรหาพ่อแม่ทันที หรือโทรหาเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ให้เข้ามาดูลูกที่บ้าน

9. ถ้าเจอคนแปลหน้า

ถ้ามีคนแปลกหน้ามาขอความช่วยเหลือ ให้ลูกบอกผู้ใหญ่ให้มาช่วยเพราะมีคนร้ายใช้วิธีนี้หลอกเด็ก หรือถ้าลูกพบว่ามีคนเดินตาม ให้ลูกวิ่งกลับบ้าน หรือไปหาเพื่อนบ้าน หรือที่ที่มีคนมาก ถ้ามีคนขับรถตามให้ลูกวิ่งกลับไปในทางเดิม รถจะเสียเวลาวกกลับ ซึ่งยุ่งยาก ทำให้เลิกตามลูกไปเอง และสอนไม่ให้ลูกรับของจากคนแปลกหน้าโดยเฉพาะของเล่น ขนม เกม เงิน ซึ่งคนร้ายมักใช้หลอกเด็กแล้วได้ผล ถ้าอยากได้ลูกต้องมาขออนุญาตพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง เหล่านี้ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการถูกลักพาตัวได้

10. ลองชวนลูกเล่นบทบาทสมมุติหลายๆครั้ง

โดยสมมุติสถานการณ์ที่เขาพลัดหลงและเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ การซักซ้อมด้วยการเล่นบทบาทสมมุติหลายๆ ครั้งจะช่วยให้ลูกน้อยจำได้มากขึ้นและไม่ตื่นตกใจมากนักเมื่อเจอสถานการณ์จริงและทำให้เรามั่นใจได้ว่าลูกจะรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือตัวเอง  จนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะหาเขาเจอ

เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ฝึกลูกให้รู้จักป้องกันและแก้ปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ได้ และการดูแลเด็กเล็กๆ นั้นต้องอย่าให้คลาดสายตาผู้ใหญ่ และระวังอย่าให้เด็กไปกับคนแปลกหน้านะคะ

ถ้าลูกถูกลักพาตัวไปแล้ว พ่อแม่จะต้องทำอย่างไร?

  • ถ้าลูกออกนอกพื้นที่กำหนด ต้องรีบติดตามกลับมาให้เร็วที่สุด ยิ่งตรวจสอบได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสได้เด็กคืนเร็ว หรือช่วยเด็กได้ทัน โดยแจ้งตำรวจท้องที่ให้เร็วเตรียมข้อมูลลูกทุกอย่างให้ละเอียด ทั้งให้ดูรูปภาพ บอกรูปร่าง ลักษณะ เสื้อผ้า การแต่งกาย ช่วงเวลาที่ลูกหายไป พร้อมติดตามข่าวกับตำรวจเสมอ
  • แจ้งผู้ที่มีประสบการณ์ที่สามารถประสานงานกับแหล่งช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ เช่น มูลนิธิกระจกเงา โทร 02-941 -4194 ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์หรือสื่อมวลชน เพื่อให้ติดตามเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รีบแจ้งสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด โดยพยายามใช้สื่อทุกรูปแบบ ทั้งแจ้งหนังสือพิมพ์ รายการข่าว รายการโทรทัศน์ เพื่อให้ทั้งคนในสังคมและคนร้ายเห็น จะได้ช่วยกดดันให้คนร้ายหลบหนีลำบาก จนนำตัวเด็กมาคืนเอง

สุดท้าย ด้วยยุคสมัยนี้ที่โลกออนไลน์มีการเชื่อมต่ออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสื่อโซเชี่ยลอย่างในเฟซบุ๊ก หรือเว็บบอร์ดที่มีคนเข้ามาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สื่อนี้เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการติดต่อขอความช่วยเหลือได้ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ภาพรูปร่าง หน้าตา สถานที่ วันเวลาที่เด็กหายตัวไป พร้อมเบอร์ติดต่อให้ครบถ้วน เมื่อมีคนหมู่มากในสังคมเห็นก็จะได้ช่วย เป็นหูเป็นตาอีกทางหนึ่ง

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


จากเรื่อง : “คุณแม่มือใหม่ รับมือได้ทุกสถานการณ์”

โดย : กองบรรณาธิการนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ 135 กรกฎาคม 2559

ที่ปรึกษา : พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up