พัฒนาการทารกในครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนมหัศจรรย์ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตน้อยๆ ของแม่บ้าง

Alternative Textaccount_circle
event
พัฒนาการทารกในครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์

เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าตั้งท้องคงเป็นเรื่องตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับผู้หญิงที่กำลังจะกลายมาเป็นคุณแม่ การมีอีกหนึ่งชีวิตเล็ก ๆ ในท้องนับจากนี้ตลอด 9 เดือนถือเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ ที่ในแต่ละเดือนคุณแม่จะได้รับรู้ถึงการเจริญเติบโตและเห็นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกในท้อง การคอยสังเกตและทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการทารกในครรภ์ อาจช่วยให้คุณแม่ได้ดูแลครรภ์และปรับพฤติกรรมตัวเองสำหรับการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารกในแต่ละช่วงได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อย และพร้อมที่จะคลอดลูกที่สมบูรณ์แข็งแรง

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนมหัศจรรย์ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตน้อยๆ ของแม่

โดยทั่วไปการนับอายุครรภ์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด และพัฒนาการของทารกในครรภ์จะเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ ซึ่งจะห่างจากการนับอายุครรภ์เล็กน้อย ในช่วงตลอดการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ จึงมีการแบ่งพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนับตามอายุครรภ์ คือ

  • ไตรมาสที่ 1 คือ สัปดาห์ที่ 1-12
  • ไตรมาสที่ 2 คือ สัปดาห์ที่ 13-27
  • ไตรมาสที่ 3 คือ สัปดาห์ที่ 28-40

ไตรมาสที่ 1 (สัปดาห์ที่ 1-12)

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ เดือนที่ 1 : ปฏิสนธิ

ช่วงแรกสุดของทารกในครรภ์คือ การที่ไข่ผสมกับสเปิร์มและสร้างเป็นตัวอ่อนในระยะสัปดาห์ที่ 2-4 นับจากวันแรกของรอบเดือนล่าสุด ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะค่อย ๆ เคลื่อนมาตามท่อนำไข่และฝังตัวที่มดลูก ขณะที่ไข่เคลื่อนตัวมานั้นเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อถึงตอนที่ตัวอ่อนมาถึงมดลูก จะมีเซลล์ประมาณ 100 เซลล์ หลังจากหนึ่งสัปดาห์ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งถือว่ากระบวนการปฏิสนธิสมบูรณ์แล้ว

พัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนที่ 2 – หัวใจทารกเริ่มเต้นแล้ว

เดือนนี้ทารกในครรภ์จะเริ่มพัฒนารูปร่างได้ชัดขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 คุณแม่สามารถทำอัลตราซาวด์เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ได้ จะเริ่มศีรษะที่ดูใหญ่กว่าอวัยวะส่วนอื่น เห็นใบหน้า ดวงตา หู จมูก แขน ขา มือ เท้า เปลือกตาบน ลำตัวเริ่มยืดออก ในช่วงนี้ทารกจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในส่วน ระบบประสาทส่วนกลางมีการพัฒนาหลอดประสาท ซึ่งประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเนื้อเยื่อเส้นใยประสาทมากมาย ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณกับเซลล์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาการตอบสนองและพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้ทารกเริ่มขยับตัว ทางเดินอาหาร และอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ เริ่มมีการพัฒนา คุณแม่อาจได้เห็นว่าเจ้าตัวน้อยขยับไปมาอยู่ในท้อง ได้เห็นหัวใจเล็ก ๆ เต้นตุบ ๆ และมีสายสะดือที่ผูกสัมพันธ์กัน ทำหน้าที่เป็นปอดนำออกซิเจนจากแม่มาสู่ลูกรวมถึงเป็นสายที่นำอาหารจากที่คุณแม่กินมาเลี้ยงเจ้าตัวน้อยด้วย

พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ เดือนที่ 3 – เริ่มบ่งบอกเพศ

พัฒนาการของทารกในเดือนนี้ ช่วงนี้ทารกขนาดตัวยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร อวัยวะบนหน้าของทารกพัฒนาเกือบจะสมบูรณ์แล้ว มีดวงตา จมูก ปาก หน้าผาก เพียงแต่ตายังปิดอยู่เท่านั้น รวมถึงอวัยวะส่วนสำคัญทั้งหมดสร้างเรียบร้อยแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานได้ ใบหู  แขนขา นิ้วมือ นิ้วเท้า เล็บมือ เล็บเท้าที่พัฒนาจนสมบูรณ์และงอได้ มีเล็บงอกยาวได้ด้วย สมองกำลังสร้างจุดเชื่อมต่อสัญญาณประสาทมากมาย และกล้ามเนื้อกำลังพัฒนาเริ่มทำงานประสานกัน ทารกในครรภ์สามารถขยับแขนขาขยับไปมา กำมือ เหยียดมือ อ้าปากได้ เริ่มดูดนิ้วและอาจกลืนน้ำคร่ำ หรือลอยตัวในน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องร่างกายเล็ก ๆ เอาไว้ ระบบไหลเวียนและขับถ่ายปัสสาวะเริ่มทำงาน ตับมีการผลิตน้ำดี รกเริ่มส่งผ่านสารอาหารจากคุณแม่สู่ทารกและขับของเสียออกผ่านทางสายสะดือ ในส่วนอวัยวะเพศกำลังพัฒนาเป็นชายหรือหญิง แต่หากคุณแม่ไปอัลตราซาวด์ดูยังอาจจะเห็นว่าเป็นลูกชายหรือลูกสาวไม่ชัดเจนนัก ต้องไปรอลุ้นกันเดือนหน้า และหลังจาก 3 เดือนแรก อวัยวะของทารกจะเริ่มเป็นรูปร่างมีพัฒนาการยิ่งขึ้น คุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพครรภ์ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และไม่ควรกินยาหรือกินอาหารที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์นะคะ

ไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13-27)

ทารกในครรภ์4เดือน

พัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนที่ 4 – ลูกสาวหรือลูกชายนะ

เมื่อครรภ์มีพัฒนาการไปได้ถึง 4 เดือน อวัยวะเพศภายนอกและภายในพัฒนาสมบูรณ์ ในเดือนนี้คุณแม่สามารถอัลตร้าซาวด์เพื่อเห็นเพศลูกว่าเป็นหญิงหรือชายชัดเจนขึ้น ทารกในครรภ์ของคุณแม่ตอนนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเริ่มใหญ่ขึ้น ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาว 16-18 เซนติเมตร น้ำหนัก 200 กรัม มีผิวบางใสจนเห็นเส้นเลือดภายในชัดเจน มีการพัฒนาเปลือกตา คิ้ว เล็บ ลายมือ ในส่วนขนและผมจะเริ่มงอกทั่วร่างกาย มีแขนและข้อต่อที่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวขยับตัว ขยับแขนขาได้มากขึ้น ในระยะนี้ทารกจะเตะ ยืดนิ้วมือ นิ้วเท้า กำหมัด ดูดนิ้วโป้ง ดูดกลืนน้ำคร่ำได้ แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น ไตเริ่มจะทำงานเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ระบบประสาทกำลังเริ่มทำงาน จำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ทารกเริ่มแสดงความรู้สึกทางสีหน้า และประสาทสัมผัสทางลิ้นเริ่มมีการพัฒนาปุ่ม รับรส กระดูกมีมวลหนาแน่นขึ้น

พัฒนาการทารกในครรภ์ เดือนที่ 5 : ลูกเริ่มดิ้นแล้วนะ

พัฒนาการเดือนที่ 5 ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ขึ้น ตอนนี้ทารกจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 400 กรัม มีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ขยับแขนขาจนคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกเริ่มดิ้นแล้ว และยังมีพัฒนาการอื่น ๆ ฟันเริ่มพัฒนาอยู่ใต้กราม ผมเริ่มงอก คิ้วและขนตากำลังพัฒนา และมีขนอ่อนๆขึ้นตามร่างกาย ผิวของทารกมีการผลิตไขสีขาวออกมาเคลือบผิวช่วยปกป้องไม่ให้ระคายเคืองจากการอยู่ในน้ำคร่ำเป็นเวลานาน และมีการสร้างชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย นอกจากนี้ทารกจะเพิ่มพัฒนาสัมผัสรับรู้ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ กลิ่น แสงเสียง สามารถรับรู้โลกนอกครรภ์จากการที่หูได้ยินเสียงคุณแม่พูดหรือร้องเพลง แม้ว่าตาจะยังปิดแต่ทารกจะสัมผัสถึงแสงจ้าได้ รวมถึงเวลาคุณแม่ลูบท้องเบา ๆ ทารกสามารถรับรู้ได้ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ เช่น การฟังเพลง ร้องเพลง อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ลูบหน้าท้อง การใช้แสงจากไฟฉายส่องที่หน้าท้อง ฯลฯ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้ทำงานได้เร็ว และช่วยให้ลูกฉลาด อารมณ์ดีภายหลังคลอดนะคะ

ตั้งครรภ์ 5 เดือน ลูกดิ้น

พัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนที่ 6 : ลูกเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้า

ในระยะนี้ทารกได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ คุ้นเคยกับเสียงคุณแม่ และเสียงอื่น ๆ และมีปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นด้วยการขยับตัว เคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียง คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าทารกบิดตัวไปมา ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 600 กรัม กล้ามเนื้อของทารกในครรภ์พัฒนาสมบูรณ์ขึ้น แต่ในระยะนี้ทารกจะโตช้ากว่าตอนแรก เพื่อให้อวัยวะภายในร่างกายและระบบต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนา เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันมีการพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ระบบหายใจมีการผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอดเพื่อช่วยให้ถุงลมพองตัว ปอดเริ่มหายใจในน้ำคร่ำ ซึ่งอาจทำให้ทารกสะอึกจนคุณแม่รู้สึกว่าลูกกระตุกในท้องได้ ระบบประสาทสมองพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการคิดและการต่อรอง อวัยวะเพศภายในกำลังพัฒนา เพศชายอัณฑะจะเริ่มคล้อยลง ส่วนเพศหญิงมดลูก รังไข่ และช่องคลอดเคลื่อนไปประจำตำแหน่ง

ไตรมาสที่ 3 (สัปดาห์ที่ 28-40)

พัฒนาการทารกในครรภ์ เดือนที่ 7 : ลูกลืมตาแล้วนะ

พัฒนาในเดือนที่ 7 หนังตาเริ่มเปิด ทารกมีการลืมตา กระพริบตาได้เมื่อเห็นแสงที่ส่องผ่านหน้าท้องคุณแม่ การส่องไฟทางหน้าท้องจะทำให้เซลล์สมอง ระบบเส้นประสาทส่วนรับภาพ และการมองเห็นพัฒนาได้ดีขึ้น ทารกจะขยับตัวเมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ จังหวะการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนตามแสงและเสียงที่ทารกสัมผัสได้ ในเดือนนี้ผิวทารกพัฒนาหนาขึ้นไม่บางใสแล้ว มีการสะสมไขมันใต้ผิวหนังทั่วทั้งตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย รวมทั้งปกป้องผิวหนังจากของเหลวอื่น ๆ ปอดและตุ่มรับรสจะพัฒนา ระบบประสาทสมองมีการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายส่วนที่ควบคุมเวลาตื่นเวลานอนของทารก ในช่วงนี้ทารกจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 35 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 1000-1200 กรัม เริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่ง่ายต่อการคลอด ถ้าเป็นลักษณะคลอดก่อนกำหนดในตอนนี้ อัตราการรอดชีวิตจะค่อนข้างสูง เนื่องจากอวัยวะสำคัญเริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว

พัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนที่ 8 : เตรียมตัวสู่โลกภายนอก

ระบบภายในร่างกายของทารกส่วนใหญ่พัฒนาได้ดีดูเหมือนทารกแรกเกิดแล้ว ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 2000-2500 กรัม มีร่างกายที่แข็งแรง สามารถดิ้นเตะกระทุ้งศอกแรงขึ้น แต่ปอดยังคงพัฒนาไม่เต็มที่ ในส่วนระบบประสาทสมองของทารกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในสมอง และสมองมีรอยหยักมากขึ้น ระบบประสาทส่วนที่รับรู้เสียง แสง และการสัมผัสทำงานได้ไวขึ้น ทำให้ทารกสามารถรับรู้ความมืดความสว่างได้ ในเดือนนี้ทารกเริ่มกลับตัวหันศีรษะลงมาทางปากมดลูก คุณแม่อาจมีการเจ็บท้องเตือน เนื่องจากมดลูกบีบตัว เพื่อให้ทารกมีความพร้อมต่อการออกมาลืมตาดูโลกภายนอกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 1-9 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ เดือนที่ 9 : ทารกอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด

เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ปอดของทารกพัฒนาเต็มที่ เตรียมพร้อมหายใจครั้งแรกหลังคลอด ผิวหนังสมบูรณ์ เล็บยาวขึ้นเพื่อปกป้องปลายนิ้ว ผมจะยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีขนาดตัวยาว 50 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 2800-3000 กรัม ทารกกลับศีรษะลงสู่ช่องเชิงกราน อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว ศีรษะจะอยู่ใกล้ปากมดลูกและคุณแม่ก็พร้อมจะคลอดได้ทุกเมื่อ ภายหลังคลอดระบบภูมิต้านทานจะทำหน้าที่ปกป้องทารกและยังคงพัฒนาต่อไป ทั้งนี้การให้ลูกได้ดูดนมแม่หลังคลอดจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของทารกให้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของระบบสมองเริ่มควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การตอบสนองต่าง ๆ การตื่นตัว รวมถึงการคว้าจับ การดูด ซึ่งจะทำให้ทารกสามารถจับมือคุณแม่และดูดนมคุณแม่ได้ทันทีหลังคลอด

มาถึงตรงนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่มือใหม่ทุกคน ที่อดทนตลอด 9 เดือนเพื่อที่จะได้เจอหน้าลูกน้อย ทั้งนี้พัฒนาการของทารกในครรภ์แต่ละรายอาจมีพัฒนาการแตกต่างกันไป ซึ่งทารกบางคนอาจมีพัฒนาการช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างรวมถึงสุขภาพคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ด้วย นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้องคลอดในช่วงก่อนหรือหลังวันกำหนดคลอดก็ได้ ซึ่งหากคุณแม่รู้สึกถึงความผิดปกติ หรือมีความกังวลระหว่างตั้งครรภ์ ก็สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหรือตรวจวินิจฉัยตามอาการนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.samitivejhospitals.comwww.dumex.co.th

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ

10 รายชื่อหมอสูติ หมอฝากครรภ์ฝีมือดี ที่แม่ท้องบอกต่อ

ผลกระทบจากโควิด ของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up