ทำความเข้าใจภาวะ โรคจิตหลังคลอด เรื่องที่แม่หลังคลอดควรรู้!

Alternative Textaccount_circle
event

โรคจิตหลังคลอด – การให้กำเนิดมนุษย์ตัวน้อยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตของคนเป็นพ่อแม่ แต่บางครั้งช่วงเวลาหลังจากที่คุณแม่ให้กำเนิดลูกน้อยอาจมีความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะแม่มือใหม่ทั้งหลายอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่ โรคที่เราจะพูดถึงวันนี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นั่นคือ “โรคจิตหลังคลอด” แม้ว่าโรคนี้อาจพบได้ไม่บ่อยเมื่อเทียบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่ก็เป็นความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดที่คุณแม่ใหม่และทุกคนในครอบครัวควรตระหนักถึงค่ะ

โรคจิตหลังคลอดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเป็นแล้ว อาการจะค่อนข้างรุนแรง และต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ในทันที โชคดีที่โรคจิตหลังคลอดสามารถรักษาได้ และคุณแม่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของแพทย์จะมีสุขภาพที่ดีและสามารถทำหน้าที่แม่ได้ตามปกติ

ทำความเข้าใจภาวะ โรคจิตหลังคลอด เรื่องที่แม่หลังคลอดควรรู้!

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) คืออะไร?

โรคจิตหลังคลอด เป็นความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดที่รุนแรง อาการมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังคลอด และคล้ายกับอาการของโรคไบโพลาร์และโรคจิตเภท ผู้ป่วยทอาจมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ได้ยินเสียงแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกสับสน และมีความคิดที่รบกวนจิตใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกน้อยได้

โรคจิตหลังคลอดเกิดขึ้นได้บ่อยไหม?

ต่างจากความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดอื่น ๆ เนื่องจากโรคจิตหลังคลอดพบได้ไม่บ่อย กล่าวคือ ขณะที่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลกระทบต่อคุณแม่มือใหม่มากถึง 1 ใน 8 คน แต่โรคจิตหลังคลอดจะส่งผลกระทบต่อคุณแม่หลังคลอดได้ประมาณ 1 ถึง 2 คน จากทุกๆ 1,000 คน คุณแม่บางคนมีอาการภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด และส่วนใหญ่จะพบอาการภายในสองสัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร

โรคจิตหลังคลอด กับความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดอื่น ๆ

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ ที่คุณแม่จะมีความรู้สึกทางอารมณ์ที่แปรปรวนหลังจากการมีลูก หลายคนอาจสงสัยว่าประสบการณ์หลังคลอดที่ปกติเป็นอย่างไร ตัวเองมีความเสียงต่ออาการที่ผิดปกติไหม และจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดที่รุนแรงกว่า เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและโรคจิตหลังคลอดอย่างไร เพราะแม้แต่อารมณ์ที่รุนแรงบางอย่างก็อาจเป็นเรื่องปกติได้ ตราบใดที่คุณแม่สามารถจัดการได้ และไม่รบกวนความสามารถในการดูแลลูกน้อย และตัวคุณเอง แต่บางครั้งสุขภาพจิตของคุณอาจทุกข์ทรมานอย่างมากในช่วงหลังคลอด จากภาวะต่างๆ ต่อไปนี้

  • ภาวะเบบี้บลูส์                                                                                                                                                                                                                   “ เบบี้บลูส์” เป็นสิ่งที่คุณแม่เกือบทุกคนต้องเคยประสบมาบ้าง จากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน การอดนอนและความเครียดที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนบทบาทใหม่ของแม่ “เบบี้บลูส์” มีลักษณะของความรู้สึกอารมณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รู้สึก “ร้องไห้” วิตกกังวล และโดยทั่วไปมักจะหงุดหงิด คุณแม่มือใหม่ 50-85% สัมผัสประสบการณ์ “เบบี้บลูส์” ตราบใดที่ผ่านพ้น 2 สัปดาห์แรกของการคลอดและไม่รบกวนความสามารถในการทำงานของคุณในแต่ละวัน ภาวะนี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
    ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แตกต่างจาก “เบบี้บลูส์” เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์ หลังจากคลอดบุตร โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะของอารมณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นกว่าปกติ อาจทำงาน ดูแลตัวเอง หรือลูกน้อยได้ยาก ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่พบได้มากถึง 1 ใน 8 คน อาการหลัก ได้แก่ ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ มีความรู้สึกผิด รู้สึกมึนงง และรู้สึกราวกับว่าคุณเป็นแม่ที่ไม่ดี หรือไม่สามารถดูแลลูกน้อยของคุณได้
โรคจิตหลังคลอด
ภาวะโรคจิตหลังคลอด

 ความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและโรคจิตหลังคลอด

ทั้งภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและโรคจิตหลังคลอด ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายและความคิดที่จะทำร้ายลูกน้อย คุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตามภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจแตกต่างจากโรคจิตหลังคลอด เพราะบางครั้งอาจไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเสมอไป ในขณะที่การรักษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดแต่กรณีส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ไม่ยากสำหรับผู้ป่วยนอก

แต่ในทางกลับกัน โรคจิตหลังคลอด ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคลุ้มคลั่ง และหลงผิด ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือลูกน้อยได้ คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคจิตหลังคลอดจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาตรวจรักษาอย่างจริงจังและต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

อาการของ โรคจิตหลังคลอด 

อาการของโรคจิตหลังคลอดมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจรบกวนทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง โดยปกติแล้วอาการของโรคจิตหลังคลอดจะปรากฏภายในสองสัปดาห์แรกหลังคลอดบุตรและในบางรายอาจปรากฏได้ภายในสองสามวันแรกหลังการคลอด

สัญญาณเริ่มต้นของโรคจิตหลังคลอดอาจรวมถึงการรู้สึกกระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ ซึ่งในไม่ช้าอาการที่คล้ายกับไบโพลาร์จะปรากฏขึ้น : ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน หลงผิด และมีพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือคาดไม่ถึง

แม่ที่เป็นโรคจิตในระยะหลังคลอดอาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้อย่างฉับพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรคจิตหลังคลอด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษา

สัญญาณเตือน และอาการของโรคจิตหลังคลอด

  • รู้สึกอิ่มเอมใจ หรือมีความสุขอย่างมาก
  • มีช่วงเวลาที่รู้สึกไม่อยากรับรู้อะไร รู้สึกซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยครั้ง
  • ความรู้สึกวิตกกังวล
  • รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียว
  • อารมณ์แกว่งไปมาอย่างรวดเร็ว จากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง
  • กระวนกระวายใจได้ง่ายมาก
  • รู้สึกกระสับกระส่าย สับสน
  • ช่างพูด เป็นพิเศษ
  • มีช่วงเวลาที่ดูเหมือนเข้าสังคมมากกว่าปกติ ตามด้วยช่วงเวลาของการถอนตัวจากสังคมอย่างสิ้นเชิง
  • มีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง
  • หวาดระแวง
  • สูญเสียความยับยั้งชั่งใจ
  • หลงผิด อาจเชื่อในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่เป็นความจริง
  • เห็นภาพหลอน : อาจเห็นสิ่งต่างๆที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน
  • ไม่สามารถดูแลตัวเองหรือลูกน้อยได้

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอาการของโรคจิตในระยะหลังคลอดทรุดหนัก เนื่องจาก บ่อยครั้งที่ผู้ที่ประสบกับอาการเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่าพวกเขากำลังป่วยอยู่ ด้วยเหตุนี้ การดูแลคุณแม่ที่มีอาการเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และควรรีบพาไปพบแพทย์

โรคจิตหลังคลอด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจิตหลังคลอด

หากคุณป่วยด้วยโรคจิตหลังคลอด อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับคุณ และไม่ควรรู้สึกผิดกับตัวเอง ภาวะสุขภาพจิตหลายอย่างถูกปกปิดไว้ด้วยความกังวลไม่กล้าบอกให้ใครรู้ซึ่งอาจทำให้อาการหนักขึ้น โดยสาเหตุของการเกิดโรคจิตหลังคลอดมักมีมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย

  • เคยมีประวัติการป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคจิตเภทอื่นๆ
  • มีญาติใกล้ชิดที่เคยป่วยด้วยโรคจิตหลังคลอดมาก่อน
  • มีการใช้ยาบางชนิดที่มีผลกระทบระหว่างตั้งครรภ์
  • มีภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหารุนแรง ระหว่างการคลอดบุตร ส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมาเสียชีวิต

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อความเสี่ยงของคุณในการเป็นโรคจิตเภทอาจรวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมประวัติครอบครัว ความไม่สมดุลของฮอร์โมนและการอดนอน

การรักษาโรคจิตหลังคลอด

การได้รับการรักษาโรคจิตหลังคลอดอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากอาการหนักคุณอาจต้องถูกนำตัวส่งห้องฉุกเฉินอย่างกระทันหันโดยไม่มีเวลาเตรียมตัวมากนัก คุณอาจถูกแยกออกจากลูกน้อยของคุณ และต้องเข้ารับการทดสอบและการวินิจฉัยอาการ ที่อาจดูน่าวิตก ประสบการณ์ในการได้รับการรักษาโรคจิตหลังคลอดดอาจกระทบกระเทือนจิตใจและความรู้สึกของคุณ แต่สิ่งสำคัญ คือต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ดูแลคุณ ต้องการช่วยเหลือคุณ พวกเขาต้องการที่จะปฏิบัติต่อคุณและปกป้องคุณเพื่อให้คุณหายเป็นปกติ และกลับมาทำหน้าที่แม่ที่ดีของลูกน้อยได้เหมือนเดิมอย่างเร็วที่สุด

การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต หรือโรคจิตหลังคลอด อาจเป็นเรื่องที่ดูน่าวิตก แต่การรักษาโรคนี้ มักประสบความสำเร็จ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจิตหลังคลอด ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการปรับความเสถียรของจิตใจเพื่อที่จะไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือทารก การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอาจมีความยาวแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความรุนแรงของโรค บางครั้งคุณอาจได้รับอนุญาตให้อยู่ในห้องกับลูกน้อยของคุณ ในบางครั้งคุณอาจไม่ทำเช่นนั้น

  • การรักษาด้วยยา และการช็อตไฟฟ้า

ผู้ป่วยโรคจิตหลังคลอดต้องเข้าสู่แผนการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา หรืออาจได้รับการพิจารณารับการรักษาด้วยวิธี ช็อตไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy) หรือ ECT โดยใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก ซึ่งจะส่งผลให้อาการทางจิตดีขึ้น

  • บำบัดอาการด้วยการพบนักจิตวิทยา

ไม่ว่าคุณจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม คุณจะต้องได้รับการประเมินทางจิต จากนักจิตวิทยา

  • การรักษาระหว่างการให้นมบุตร

หากคุณเป็นแม่ที่ให้นมบุตร คุณอาจกังวลเกี่ยวกับการใช้ยา ยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคจิตเภท อาจไม่ส่งผลกระทบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยาบางชนิดก็อาจเป็นอันตราย อาจแจ้งความจำนงขอยาที่เป็นมิตรกับนมแม่ถ้าเป็นไปได้ คุณสามารถปรึกษาที่ปรึกษาด้านการให้นมบุตรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่ายาชนิดใดที่ปลอดภัย หรือ เป็นอันตรายต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

  • การติดตามอาการหลังจากออกจากโรงพยาบาล

หลังจากอาการของคุณคงที่และพร้อมที่จะออกจากโรงพยาบาล จะมีรายการยาที่คุณต้องใช้ตลอดแผนการรักษาและดูแลติดตามผล จะมีการนัดหมายเพื่อติดตามผลกับทีมจิตเวชเป็นประจำ ซึ่งสำหรับผู้ป่วยบางคนอาจต้องได้รับการดูแลด้านจิตเวชทุกวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือมากกว่านั้น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคจิตหลังคลอด

  • โรคจิตหลังคลอดมีแนวโน้มที่จะหายขาดได้ ด้วยการดูแลที่เหมาะสม คุณแม่ส่วนใหญ่จะสามารถหายจากอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคภายใน 2-12 สัปดาห์หลังจากเริ่มการรักษา อย่างไรก็ตามอาจใช้เวลา 6-12 เดือนเต็มในการฟื้นตัวจากโรคจิตหลังคลอด
  • อย่างไรก็ตามอัตราการกลับไปเป็นซ้ำเกิดขึ้นได้ โดยมีคุณแม่มากถึง 31% ที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นโรคนี้ซ้ำ นี่คือเหตุผลที่การดำเนินการเชิงรุกระหว่างการตั้งครรภ์ในอนาคตจึงมีความสำคัญมาก
  • หากตรวจพบว่าป่วย คุณอาจมีแนวโน้มที่จะรู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวล ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณประสบนั้นทำให้อารมณ์เสียและกระทบกระเทือนจิตใจ คุณอาจรู้สึกเสียใจและผิดหวังกับตัวเองเพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ  อย่าลืมให้เวลาตัวเองเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่ามันไม่ใช่ความผิดของคุณ
  • ในขณะที่คุณกำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือผู้เป็นผู้ป่วยใน คุณจะต้องได้รับความช่วยเหลือในการดูแลลูกน้อยของคุณ คุณอาจต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในการดูแลทารกหลังจากออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่คุณจะสามารถกลับมาเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่และดีเหมือนเดิม

ข้อแนะนำสำหรับคนใกล้ชิดผู้ป่วย หากคุณเป็นคู่สมรส เพื่อนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ในตอนแรกหากคุณไม่แน่ใจว่าจะช่วยอะไรผู้ป่วยได้บ้าง ก่อนอื่นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำได้ คือการพาคนที่คุณรักไปรับการรักษาอย่างปลอดภัย  สิ่งสำคัญที่สุดคือจงเป็นผู้ฟังที่ดี และไม่ใช้วิจารณญาณ หรือมีอคติ ผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึก และอารมณ์ด้านลบต่างๆ มากมายจากสิ่งนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา หน้าที่ของคุณคือช่วยทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา คอยให้กำลังใจ และสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่าพวกเขาแข็งแกร่งพอที่จะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ ซึ่งนี่เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะสามารถมอบให้ผู้ป่วยได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : verywellfamily.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม่ต้องรู้เท่าทัน!

ซึมเศร้าหลังคลอด Baby Blue อยากตาย ทำไงดี?

ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม ความจำสั้น หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up