กลไกการหลั่งน้ำนมที่แม่มือใหม่ควรรู้!

event

ph3309_03

กลไกการหลั่งน้ำนม

กลไกการหลั่งน้ำนมหรือ Let-down Reflex เป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายหลั่งน้ำนมออกมา  คุณแม่อาจจะรู้สึกจี๊ดๆที่เต้านมก่อนที่น้ำนมจะพุ่งออกมา  หรือการที่ลูกดูดข้างหนึ่งแล้วน้ำนมนมอีกข้างก็ไหลออกมาเอง กลไกการหลั่งน้ำนมเป็นสิ่งสำคัญในการปั๊มนม ถ้ากลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงานจะทำให้ปั๊มน้ำนมไม่ออก

  • การดูดที่มีประสิทธิภาพของลูกเป็นตัวกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมที่ดีที่สุด
  • ช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ฮอร์โมนโปรแล็คตินจะสูงมากทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมทำงานได้ดี
  • การกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมก่อนการปั๊มนมจะช่วยให้ปั๊มนมได้ง่ายและเร็วขึ้น คนที่อารมณ์ดี ๆ มีความสุขกับการปั๊มนมฝึกจนชำนาญแล้วแค่เอากรวยมาครอบเต้ากลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ทันที  สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญก็สามารถหัดกระตุ้นได้ด้วยการใช้มือนวดคลึงหัวนมเบาๆ คิดถึงลูกน้อยมากๆ เล่นอินเทอร์เน็ต เปิดเฟซบุ๊ค ดูทีวีเพลินๆในขณะที่ปั๊มนม อย่าเอาแต่นั่งจ้องว่าน้ำนมไหลหรือยัง ได้แค่ไหนแล้ว เพราะจะยิ่งเครียดน้ำนมจะยิ่งไหลน้อย
  • วิธีฝึกที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมคือ ใช้ลูกเป็นตัวช่วยให้ลูกดูดข้างนึงแล้วปั๊มอีกข้างนึงไปพร้อมๆกัน  เพราะเวลาที่ลูกดูดนั้นกลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ดี  เนื่องจากเรามีความรักต่อลูกบางคนไปทำงานแค่นึกถึงลูกน้ำนมก็พุ่งเลย   บางทีเสื้อเปียกไม่ทันรู้ตัวฝึกบ่อยๆก็จะรู้จังหวะแล้วก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วไม่ยากเลย
  • ความเครียดและความกังวลทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงาน  การนวดหลังไหล่และเต้านมก่อนปั๊มนมช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

การเข้าเต้า

การเข้าเต้ามีความสำคัญมาก ถ้าคุณแม่ใช้ท่าที่ถูกต้อง ลูกก็จะดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำนมที่ออกจากเต้าก็จะเกลี้ยงเต้าได้ไว ความเสี่ยงเรื่องการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เต้านมคัด ก็จะลดลงไปมาก

√ วิธีเข้าเต้าแบบง่ายๆ

  1. อุ้มลูกตะแคง ท้องลูกแนบท้องแม่ วางลูกบนท่อนแขน พยายามให้จมูกของลูกตรงกับหัวนมแม่
  2. ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากลูก จากริมฝีปากบนลงล่าง จะช่วยให้ปากของลูกเปิดแบะบานออก
  3. เมื่อลูกอ้าปากแล้ว ค่อยๆ ใช้มือหรือข้อศอกประคองส่งตัวลูก ให้เข้าอมหัวนมของคุณแม่ในจังหวะที่ยังอ้าปากกว้างอยู่ (ลูกจะอ้าประมาณ 20-30 วินาที) ข้อสำคัญที่ห้ามลืมคือ ต้องให้ลูกอมลึกที่สุดถึงลานนมของคุณแม่ สังเกตเวลาลูกดูดนม ริมฝีปากของเขาต้องบานบน บานล่าง ระหว่างนั้นจับเต้าประคองไว้จนมั่นใจว่าลูกอมได้ลึกแล้ว จึงปล่อยมือที่ประคองเต้านมออก
  4. อย่าลืมหาหมอนมารองแขนให้มั่นคง กระชับ เพราะหากหมอนที่มารองไม่กระชับพอ เมื่อคุณแม่เมื่อย จะเผลอผ่อนมือลง ทำให้ปากลูกรูดลงมา ลูกก็จะอมหัวนมได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมตามมา
Must readท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเต็มที่

รู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม

เริ่มแรกให้ดูว่าเขาได้น้ำนมหรือเปล่า โดยดูว่าเขาดูดนมอย่างต่อเนื่องหรือไม่ คล้ายกับเวลาเราดื่มน้ำเอื๊อกๆ แบบนั้น พอเขาดูดสัก 20-30 นาที ก็มักจะอิ่มแล้ว ซึ่งธรรมชาติของเด็กเวลาอิ่ม เขาจะปล่อยเอง แต่บางคนจะชอบดูดแช่ไม่ยอมปล่อย วิธีคือให้ใช้นิ้วก้อยค่อยๆ แซะข้างมุมปากของลูก แต่หากลูกร้องไห้หลังเอาออกจากเต้า ให้คุณแม่อุ้มโอ๋ต่อสักครู่ เขาก็จะหลับต่อได้เอง

การเก็บน้ำนม

น้ำนมแม่ หากตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่มีแอร์ (25 องศา) – 6 ถึง 8 ชม ในตู้เย็นช่องธรรมดาเก็บได้สูงสุด 5 วัน ช่องฟรีซ ตู้เย็นประตูเดียว  เก็บได้ประมาณ 14-15 วัน   ช่องฟรีซ ตู้เย็นสองประตู  เก็บได้ประมาณ 3-6 เดือน และตู้แช่แบบแช่ไอศกรีม จะเก็บได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี  แต่คำแนะนำคือ ไม่ควรเก็บสต๊อกไว้นานจนเกินไป อย่างแรก เพราะนมแม่ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งมีกลิ่นหืน  เด็กบางคนไม่ชอบกลิ่นหืนก็จะไม่ยอมกินนมแม่ที่สต๊อกไว้เลย  อย่างที่สอง หากไฟดับ นมแม่ที่แช่ไว้ก็จะเสีย  ดังนั้นควรสต๊อกพอประมาณให้มีหมุนเวียนใช้ระยะหนึ่งก็พอ

Must readรับมือนมแม่สต็อกในตู้เย็นละลาย ขณะฝนตกไฟดับ
รู้หรือไม่
วัคซีนแรกของลูกไม่ใช่วัคซีนจากไหน แต่เป็นน้ำนมเหลืองที่หลั่งออกมาในช่วงแรกหลังคลอด
มีลักษณะสีเหลืองข้นซึ่งเด็กทุกคนควรจะได้รับน้ำนมนี้ เพราะเป็นน้ำนมที่มีภูมิต้านทานสูงมากๆ
มีงานวิจัยพบว่าน้ำนมเหลืองช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดหายป่วยเร็วขึ้น แข็งแรงเร็วขึ้น
อีกทั้งยังช่วงป้องกันการเกิดลำไส้เน่าในเด็กได้ดีอีกด้วย

อ่านต่อ >> Q&A แม่ถามหมอตอบ เรื่องนมแม่ ที่คุณควรรู้” คลิกหน้า 3

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up