แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กับทนายสาวในซีรี่เกาหลี

Alternative Textaccount_circle
event
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กับทนายสาวในซีรี่เกาหลี

ในช่วงนี้มีซีรีส์เกาหลีเรื่อง Extraordinary Attorney Woo กำลังมาแรงค่ะคุณพ่อคุณแม่ หากได้ดู คุณพ่อคุณแม่อาจจะชื่นชอบในบุคลิกของนางเอกในเรื่องซึ่งเป็นทนายสาว เพราะสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เธอเป็นทนายสาวที่มีอาการ แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคในกลุ่ม ‘Autism Spectrum Disorder’  แต่เธอก็มีไอคิวที่สูงมากด้วย ซีรีย์เรื่องนี้เผยให้เราได้เห็นอีกหนึ่งแง่มุมของความเป็นออทิสติกที่ “แตกต่าง” จากคนอื่น แต่ไม่ใช่ “ความผิดปกติ” สิ่งสำคัญของการดูแลคนกลุ่มนี้ คือความเข้าใจ เหมือนอย่างที่พ่อของอูยองอยู่ อุทิศตัวเองเลี้ยงดูลูกสาวของเขาให้เติบโตมาอย่างดี

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าผู้ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมจะประกอบอาชีพเป็นถึงทนายได้อย่างไร ต้องดูแลอย่างไรหากลูก หรือคนใกล้ชิดประสบภาวะนี้ ลองมาหาคำตอบจากบทความนี้กันค่ะ

เรื่องราวในซีรี่

อูยองอู เป็นทนายความหญิง วัย 27 ปี ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับออทิสติก แต่เธอเป็นอัจฉริยะที่มีไอคิวสูงถึง 164 มีความทรงจำที่ดีเลิศ และกระบวนการความคิดที่เยี่ยมกว่าคนปกติ เธอเรียนจบเป็นที่ 1 ในชั้นเรียน ทั้งสถาบันนิติศาสตร์ชื่อดัง และสาขาวิชากฎหมายมหาวิทยาลัยแห่งชาติของโซล อย่างไรก็ตาม เธอก็พบว่าตัวเองกำลังมีปัญหาอย่างหนักเกี่ยวกับการเข้าสังคม

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กับทนายสาวในซีรี่เกาหลี

ขอบคุณภาพจาก asianwiki.com

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม คืออะไร

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ว่าแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวรูปแบบหนึ่ง โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำ ๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลก มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดี แต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้

เดิมจัดเป็นกลุ่มอาการที่คล้ายกับออทิสติก อยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยที่เรียกว่า Pervasive Developmental Disorders (PDDs) เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือพัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติหรือสูงกว่าปกติ หลังปรับเกณฑ์การวินิจฉัยออทิสติกใหม่ ไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มย่อย จึงเรียกรวมกันอยู่ในชื่อ ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) เหมือนกัน แต่มีบางคนที่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยออทิสติกในปัจจุบัน ก็อาจจัดอยู่ในอีกกลุ่มการวินิจฉัยที่เรียกว่า Social (Pragmatic) Communication Disorder

สาเหตุของการเกิดอาการแอสเพอร์เกอร์

ในปัจจุบันไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุที่ชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้ง

  • การทำงานที่ผิดปกติทางสมอง
  • พันธุกรรม
  • สิ่งแวดล้อม

แต่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด และในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ

แต่พบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะนำแก่พ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็ช่วยให้เด็กเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จได้ดี

พฤติกรรมที่สังเกตได้ของ แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

พฤติกรรมและลักษณะอาการของเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านภาษา 

การพูดและทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เด็กอาจพูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้งหรือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ เช่น มุกตลก คำเปรียบเปรย และคำประชดประชันต่างๆ เป็นต้น

2. ด้านสังคม 

เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ดูแปลกกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น

  • ไม่ค่อยมองหน้าหรือสบตาเวลาพูดคุย
  • แยกตัวอยู่คนเดียว
  • ไม่ค่อยสนใจบุคคลรอบข้าง
  • เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น
  • ไม่รู้จักการทักทาย
  • พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไรก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการเกริ่นนำ ถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา และไม่ค่อยรู้จักกาลเทศะ
  • เรื่องที่พูดคุยมักเป็นเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่นๆ
  • ไม่แสดงความใส่ใจหรือสนใจเรื่องราวของคนอื่น
  • ขาดความเข้าใจหรือเห็นใจผู้อื่น
  • มักชอบพูดซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ที่ตนเองสนใจ

3. ด้านพฤติกรรม 

มีความสนใจเฉพาะเรื่องและชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น

  • ถ้าสนใจอะไรก็สนใจมากจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ ดนตรีคลาสสิค ไดโนเสาร์ ระบบสุริยจักรวาล เป็นต้น โดยความสนใจเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา
  • บางรายไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกค่อนข้างมากกว่าคนทั่วไป
  • โดยทั่วไปแล้ว เด็กเหล่านี้มักมีสติปัญญาดี
  • มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน
  • บางคนอาจมีปัญหาเรื่องที่ไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานนัก หรือมีปัญหาในการจัดลำดับเรื่องต่างๆ
  • มีทักษะในบางเรื่องที่อาจจะดูดีกว่าเด็กอื่น

แต่โดยรวมแล้วเด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญาที่เป็นปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วยซ้ำ

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
ทนายสาวในซีรี่เกาหลี ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

ขอบคุณภาพจาก The Korea Times

จะช่วยเด็กแอสเพอร์เกอร์ได้อย่างไร

ทุกคนในครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล ต้องทำความเข้าใจกับปัญหาและศึกษาวิธีแก้ไขปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. เล่นกับเด็กโดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยๆ ขยายความสนใจเหล่านั้นไปในแง่มุมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะแบ่งปันความสนใจ และอารมณ์ซึ่งกันและกัน

2. สนทนากับเด็กด้วยคำง่ายๆ ชัดเจน และถ้าเป็นตัวอย่างก็ควรเป็นสิ่งของในสถานการณ์จริงหรือรูปภาพ จะทำให้เด็กเข้าใจง่ายและเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว

3. สร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมให้รู้สึกสบายๆ ไม่เครียด มีความอบอุ่นและเป็นกันเอง

4. ในการเล่นหรือการเรียนของเด็ก ควรจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับกฎระเบียบของกลุ่มเล็กก่อน ก่อนให้เด็กเข้าในกลุ่มใหญ่

5. การใช้คำสั่งกับเด็กต้องมีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย

6. สนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนร่วม ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

7. สนับสนุนกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความสนใจและความเคยชินที่ซ้ำซาก

หากเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทั้งในการพัฒนาด้านสังคมและพฤติกรรม เด็กจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและเติบโตได้อย่างดีและเป้นปกติ

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลมนารมย์, ศูนย์วิชาการแฮปปี้โฮม, The Standard

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แม่เตือน ลูกไม่สบตา เรียกไม่หัน อาการออทิสติกเทียม เหตุเพราะมือถือ!

แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก รู้ก่อนรักษาได้เร็ว

14 ข้อสำคัญ เพื่อรับมือกับลูกน้อยที่เป็น “เด็กออทิสติก”

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up