จินตนาการสำคัญ…ขนาดนี้…

Alternative Textaccount_circle
event

Q. มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องจินตนาการครับ ผมรู้ว่าจินตนาการสำคัญและเป็นเรื่องที่ส่งเสริมกันมากโดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ แต่ผมก็ยังเห็นว่า จินตนาการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่ดี ผมยังมองไม่ค่อยออกว่าจะมีผลกับชีวิตในอนาคตมากขนาดไหน

  • ผมมีลูก 2 คน 5 ขวบ กับ 3 ขวบครับ เขาจะเล่นสมมติ จินตนาการอะไรเราไม่ไปห้ามในส่วนนั้น แต่เขาก็ซน จะทำหรือเล่นอะไรให้ผาดโผน วุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ต้องห้ามกันไม่ใช่หรือครับ คนรอบๆ ตัวผมทั้งเตือน แนะนำ ต่อว่าอยู่บ่อยๆ ว่าผมไม่ควรทำอย่างนั้น
  • การห้ามบ่อยๆ มีผลถึงกับปิดกั้นจินตนาการเลยหรือครับ ถึงไม่ห้ามตรงๆ ผมก็คิดว่าอาจมีคำพูดหรือการกระทำอื่นที่ให้ผลเหมือนการบอกห้าม โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัวอยู่ดี ใช่หรือไม่ครับ

 

ผมเชื่อว่าเราแปลคำว่า “จินตนาการ” ไม่ตรงกันหรอกครับ   เราในที่นี้หมายถึงสังคมไทยทั้งหมด

ข้ามคำแปลมาที่คำถามแรก “เขาจะเล่นสมมติ จินตนาการอะไรเราก็ไม่ไปห้ามในส่วนนั้น แต่เขาก็ซน จะทำหรือเล่นอะไรก็ให้ผาดโผน วุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ เลยต้องหยุด ต้องห้ามกัน หลายครั้งก็มีคำเตือน แนะนำ ต่อว่า ไม่ควรทำอย่างนั้น”  อันนี้ขอตอบว่า “การเล่นสมมติ” เป็นเรื่องดีที่สุดเรื่องหนึ่งของพัฒนาการเด็ก การเล่นสมมติทำให้เกิดผลต่อสมอง 2 ข้อครับ

หนึ่งคือช่วยให้พัฒนาการทางภาษารุดหน้า ผมอยากเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่นั่งลงกับพื้นชวนลูกเล็กเล่นทำกับข้าวหรือเล่นเป็นคุณหมอด้วยมือเปล่า หรือหยิบฉวยวัสดุรอบตัวมาสมมติเป็นอุปกรณ์ครัวหรืออุปกรณ์ของคุณหมอนั่นนี่ไปเรื่อยๆ ผมรับประกันว่าท่านจะสนุกมาก ลูกจะสนุกที่สุด และภายในไม่กี่เดือนเขาจะพูดคำศัพท์ใหม่ๆ ที่คุณตะลึง

ตอนที่เราลงนั่งเล่นสมมติ เราต่างหากที่ต้องมีจินตนาการ มิเช่นนั้นเราเองจะไม่สนุกและเลิกเล่น แต่ลูกนั้นพร้อมเต็มร้อยที่จะตามเราไปไหนๆ หากผมหยิบเศษไม้สักชิ้นมาแล้วว่าเป็นเข็มฉีดยา ไม้นั่นคือเข็มฉีดยาทั้งในสมองและในใจของเขา โดยทั่วไปผมไม่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยาพลาสติกมาเล่นก็ได้แต่ใครจะใช้ก็ไม่ผิดกติกา

 

ผลต่อสมองข้อสอง คือสมองเกิดการเชื่อมโยงของข่ายใยประสาทจำนวนมากมาย เป็นร่างแหและวงจรประสาทที่จะช่วยให้ลูกของเรากลายเป็นคนที่สามารถคิดนอกกรอบได้ง่ายกว่า และกลายเป็นนักแก้ปัญหาแม้ว่าปัญหานั้นจะแก้ไม่ได้

ร่างแหและวงจรประสาทที่มากมายซับซ้อนในสมองของเขาเปรียบเสมือนตรอกซอกซอยในเมืองใหญ่ เวลาเราพบทางตันเราหลบซ้ายขวาไปถึงจุดหมายจนได้อย่างไร ลูกของเราก็จะสามารถหลบหลีก พลิกแพลง และค้นหาทางเลือกของชีวิตได้เสมอๆ

การเล่นสมมติยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจมากมาย   ที่มากที่สุดคือทำให้เขาเรียนรู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมายด้วยการคิดนอกกรอบ   แน่นอนว่าตอนนี้ทำได้สารพัดเพราะเป็นการเล่นสมมติ   แต่ลองเชื่อเสียแล้วว่าตนเองเก่งขนาดนั้น   อะไรที่เป็นอุปสรรคในภายภาคหน้าก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง

การเล่นสมมติต้องการเสรีภาพ ไม่มีเสรีภาพจะสมมติอะไรกันออกได้เล่า เมื่อมีเสรีภาพเสียแล้วย่อมเป็นธรรมดาที่เด็กทุกคนจะสนุกจนเกินเลย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราต้องคอยดูแล สั่งสอน วางกติกา และมีข้อห้ามบางประการ เหล่านี้เป็น “หน้าที่” ของผู้ใหญ่   อยากได้ลูกฉลาดเราก็ต้องลงแรงไปเล่นด้วย เล่นแล้วก็ต้องเหนื่อยยากคอยดูแลคอยห้ามปราม แต่ถ้าไม่อยากได้ลูกฉลาด อยากให้ลูกไม่ซนอยู่นิ่งๆ ไม่ผาดโผน ก็สอนเขาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เขาก็จะอยู่นิ่งๆ ได้หลายชั่วโมง ผู้ใหญ่ก็สบายดี สรุปในขั้นต้นนี้ว่าอยากได้ของดีก็ต้องลงทุน

 

คำถามถัดมา “การห้ามบ่อยๆ มีผลถึงกับปิดกั้นจินตนาการเลยหรือครับ ถึงไม่ห้ามตรงๆ แต่ก็คิดว่าอาจมีคำพูดหรือการกระทำอื่นที่ให้ผลเหมือนการบอกห้าม โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัวใช่หรือไม่ครับ”

ใช่ครับ การห้ามบ่อยๆ ย่อมปิดกั้นเสรีภาพในการเล่น ดังนั้นเราก็ควรมีข้อห้ามที่น้อยที่สุด อะไรปล่อยได้รอได้เราเสียสละนั่งเฝ้าดูเขา ได้ก็ควรปล่อย เขาจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างสนุกสนาน เร็ว และนอกกรอบ

เช่นกันถ้าไม่อยากเหนื่อยยากกับการต้องมานั่งคอยห้ามหรือนั่งเฝ้าระวัง ก็ซื้อเกมคอมพิวเตอร์ให้เขาเล่นเขาก็จะนิ่งจนเราไม่ต้องห้ามอะไรเลย นอกจากห้ามเล่นนานเกินไป

 

กลับไปที่ข้อความ “ผมยังมองไม่ค่อยออกว่าจะมีผลกับชีวิตในอนาคตมากขนาดไหน” เรื่องนี้ผมยืนยันกับคุณพ่อได้ว่าการคิดนอกกรอบได้จึงจะนำไปสู่จินตนาการ การคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เด็กที่คิดนอกกรอบไม่เป็นเลยจะพบปัญหาในอนาคตว่าตนเองไร้จินตนาการ ไม่สามารถสร้างงาน และไม่มีนวัตกรรม ซึ่งไม่เป็นผลดี

ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นยุคอุตสาหกรรม   เรารู้เท่าที่รู้แล้วทำงานตรงหน้าให้เสร็จก็พอ แต่ศตวรรษนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ลูกของเราไม่สามารถรู้เท่าที่รู้   เขาต้องมีทักษะที่จะเสพข้อมูลมหาศาล ประเมินและคิดวิเคราะห์   แล้วสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับงานตรงหน้า   จะไม่มีงานอะไรที่อยู่นิ่งๆ ให้ลูกของเราทำง่ายๆ อีกต่อไปครับ

 

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up