พฤติกรรมเด็กวัยเตาะแตะ

3 ขวบแล้ว ทำไมยังขี้อาย

Alternative Textaccount_circle
event
พฤติกรรมเด็กวัยเตาะแตะ
พฤติกรรมเด็กวัยเตาะแตะ

Q : ลูกชายคุณแม่อายุ 3 ขวบแล้ว เขาดูไม่ค่อยชอบเข้าสังคม ไม่ชอบเล่นกับเด็กคนอื่น หรือถ้าชวนไปสนามเด็กเล่น เขาก็อิดๆ ออดๆ พอถามทำไมไม่ไป ก็บอกว่า ‘เด็กคนอื่นๆ ไม่ชอบผม’ หรือไม่ก็ว่า ‘ผมไม่ชอบพวกเขา’ แต่ถ้าแม่บังคับเอาตัวไปด้วยจริงๆ เขาจะเกาะแม่แจ ไม่ยอมเข้าใกล้เด็กอื่นๆ เลย ส่วนที่โรงเรียน ลูกก็ไม่ชอบไป และพยายามหนีทุกครั้งที่ทำได้ ความจริงแล้ว ตอนอายุน้อยกว่านี้ ลูกก็ไปเนิร์สเซอร์รี่นะคะ ตอนนั้นไม่มีปัญหาอะไร เลยสงสัยจริงๆ ค่ะว่าเป็นเพราะอะไร
สำหรับเด็กเล็กบางคนการเข้าสังคมถือเป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกกังวลและไม่สบายใจ หากเขาติดจะขี้อายอยู่ด้วยแล้ว การเข้าสังคมก็จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าเด็กที่แอ็คทีฟหรือพอจะมีทักษะทางสังคมบ้างแล้ว
อาการขี้อายและต้องใช้เวลาในการปรับตัวมักพบได้ในเด็กวัยนี้ เด็กขี้อายจะรู้สึกอ่อนไหวง่ายกับคนรอบข้างเป็นพิเศษ พวกเขามักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบสถานการณ์ใหม่ๆ เพราะทำให้รู้สึกกังวล รวมถึงกังวลกับการอยู่ใกล้ชิดกับคนไม่คุ้นเคย
เด็กขี้อายแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวต่างกันไป แทนที่คุณแม่จะกังวลไป ลองมาดูวิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยค่อยๆ มั่นใจขึ้นทีละนิด กันดีกว่าค่ะ
1. เข้าใจและไม่เร่งความเป็นเด็กขี้อายไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ความเข้าใจ ใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไปกับการพัฒนาทักษะสังคมของลูกจะดีกว่าการผลักดัน
2. ใส่ใจสังเกตและค่อยเป็นค่อยไป ก่อนเริ่มต้นสร้างความมั่นใจ ควรใส่ใจสังเกตว่าลูกรู้สึกสบายใจ มั่นใจเมื่ออยู่กับเด็กแบบไหน อายุน้อยกว่า มากกว่าหรือวัยเดียวกัน ผู้หญิงหรือผู้ชาย ในบ้านหรือนอกบ้าน และเริ่มจากตรงนั้น
3. ไม่ปฏิเสธสิ่งที่ลูกเป็น หากลูกมีท่าทางอึดอัด หรือบอกไม่อยากไปโรงเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ว่า ‘ไม่มีอะไรน่ากลัว ลูกคิดมากไปเอง’ ขอให้รับฟังลูกจากใจ
4. ถามคำถาม เช่น “อึดอัดหรือไม่สบายใจอะไรที่โรงเรียน” “ที่ลูกว่าเพื่อนไม่ชอบ รู้มั้ยว่าเพื่อนไม่ชอบอะไรลูก”
5. เป็นกำลังใจและช่วยกันหาวิธีการคิดว่าหากยอมรับหรือให้กำลังใจจะยิ่งทำให้ลูกเป็นเด็กอ่อนแอ ขี้อายมากขึ้นเป็นความเข้าใจผิด ตรงกันข้ามการแสดงออกด้วยคำพูดและท่าทางจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจขึ้นว่ามีคนเข้าใจเขา และการช่วยกันหาทางออก จะทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจว่าเขากำลังเจอเรื่องยากและพยายามที่จะผ่านไป เช่น “ลูกไม่สบายใจ แม่เข้าใจนะ แต่เราก็ต้องไปโรงเรียนกัน งั้นเราจะทำยังไงดีให้ลูกหายอึดอัดเวลาอยู่ในห้อง ลูกอยากนั่งห่างเพื่อนอีกหน่อย หรืออยากนั่งตรงไหนถึงจะรู้สึกสบายใจขึ้นจ๊ะ”
6. รอ อย่างเชื่อมั่นและเข้าใจหากความขี้อายที่ลูกเป็นอยู่ ไม่ได้สร้างปัญหาอื่นๆ ในชีวิตเขา นั่นก็อาจเป็นเพราะเขาเป็นของเขาอย่างนั้นเอง หากคุณเข้าใจ สร้างโอกาสเสริมความมั่นใจให้เขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ลูกจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่สังคมในแบบของเขาได้ในไม่ช้า แต่หากคุณแม่รู้สึกไม่แน่ใจ อาจขอคำปรึกษาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมค่ะ

 

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up