เด็กแรกเกิดตัวเหลือง

เด็กแรกเกิดตัวเหลือง อันตรายหรือไม่? รักษาอย่างไร?

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กแรกเกิดตัวเหลือง
เด็กแรกเกิดตัวเหลือง

สาเหตุของเด็กแรกเกิดตัวเหลือง มีอะไรบ้าง?

เด็กแรกเกิดตัวเหลืองนั้นเป็นเพราะ ระดับสารบิลิรูบินในเลือดมีสูงมากเกินไป โดยสารนี้เกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายแตกตัว ในภาวะปกติ บิลิรูบินในกระแสเลือดจะถูกส่งไปที่ตับและขับออกทางอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิด ตับจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้รวดเร็วพอ ซึ่งภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะตัวเหลืองปกติ ซึ่งเด็กแรกเกิดที่เป็นภาวะนี้จะสามารถหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และไม่เป็นอันตรายกับสมองลูก แต่ภาวะตัวเหลืองก็อาจเกิดจากภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติได้ ดังสาเหตุต่อไปนี้

  1. ลูกเป็นโรค G6PD หรือภาวะการบกพร่องเอนไซม์ G6PD ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
  2. เกิดจากหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก หรือ แม่ที่มีหมู่เลือดโอกับลูกที่มีหมู่เลือดเอบี มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในลูกคนที่สอง เนื่องจากร่างกายแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันกับทารก
  3. เกิดมาจากนมแม่ ลูกได้รับนมแม่ปกติ พัฒนาการด้านน้ำหนักตัวขึ้นดี ส่วนมากจะพบภาวะตัวเหลืองชัดเจนในช่วงท้ายสัปดาห์แรกเป็นต้นไป
  4. การได้รับนมแม่หรือนมผงไม่เพียงพอ ทำให้ปัสสาวะหรืออุจาระน้อย ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับสารเหลืองออกทางปัสสาวะหรืออุจาระได้ จนน้ำหนักตัวน้อยไม่เป็นไปตามพัฒนาการ พบในทารกที่แม่ขาดประสบการณ์ในการให้นม เช่น ไม่รู้ว่าน้ำนมที่ลูกดูดจากเต้ามีปริมาณเท่าไร ทำให้ไม่รู้ว่าลูกดูดนมอิ่มหรือยัง หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวทารกเอง เช่น คลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะดูดนมยาก ภาวะลิ้นติด เป็นต้น
  5. ภาวะตับอักเสบ อาจพบอาการอื่นร่วมกับอาการตัวเหลืองด้วย เช่น อาการไข้ ไม่ดูดนม ซึม ท้องโตเนื่องจากตับโต
  6. เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาจพบอาการเหล่านี้ร่วมกับภาวะตัวเหลือง เช่น มีไข้ ชัก ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด
  7. ภาวะพร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุนี้จะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางครั้งอาจมีภาวะกระหม่อมกว้างกว่าปกติ สะดือจุ่น ลิ้นโตคับปาก แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ปกติแล้วทารกทุกรายจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด
  8. ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง จะแสดงอาการของโรคที่สำคัญคือ ตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม เนื่องจากไม่สามารถขับบิลิรูบินออกทางน้ำดีได้

ลูกตัวเหลืองทำไงดี

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด อันตรายแค่ไหน?

หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (kernicterus) ถ้าหากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรือ อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ วิธีการรักษาภาวะเด็กตัวเหลือง และพ่อแม่จะช่วยให้ค่าสารเหลืองลดลงได้อย่างไรบ้าง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up