ปัญหาเรื่อง การให้นมมื้อดึก

Alternative Textaccount_circle
event

• หากลูกกินนมผง ควรฝึกให้เลิกกินนมกลางคืนได้แล้ว โดยให้ลูกกินข้าว 2 มื้อ นมปริมาณ20 – 28 ออนซ์ต่อวัน เฉลี่ยคือ 24 ออนซ์ต่อวันโดยแบ่งให้เป็น 4 ครั้ง แล้วแปรงฟันหรือเช็ดปากให้สะอาดก่อนเข้านอน การกินนมแล้วหลับไปพร้อมขวดคาปากหรือให้น้ำตามเพียงเล็กน้อย รวมถึงการตื่นกลางดึกแล้วได้กินนมเพื่อทำให้หลับต่อจะทำให้มีปัญหาฟันผุ ลูกได้รับนมมากเกินไป เป็นโรคอ้วน หรือเกิดปัญหากินข้าวได้น้อยในมื้อเช้า

 
• หากกินนมแม่ใส่ขวดก็เช่นเดียวกัน ควรฝึกให้เลิกกินนมกลางคืน เนื่องจากไม่มีประโยชน์ทำให้สิ้นเปลืองนมแม่ที่สะสมไว้ในสต๊อก หากเป็นการกินนมแม่จากเต้า ในกรณีที่คุณแม่ทำงานนอกบ้าน หากดูดนมคืนละ 2 – 3ครั้ง ข้อดีคือ ได้กระตุ้นให้คุณแม่สร้างน้ำนมเพราะถ้าลูกหลับยาว แล้วคุณแม่ไม่ได้ลุกขึ้นมาปั๊มนม จะทำให้น้ำนมลดลง งานวิจัยพบว่ากลุ่มเด็กที่ตื่นกินนมแม่กลางคืนไม่ได้มีปัญหาฟันผุหรือขาดโกร๊ธฮอร์โมนมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ตื่นกินนมแม่ ถ้าตื่นบ่อยแทบทุกชั่วโมงก็ทำให้คุณแม่เหนื่อยมากเกินไป ควรฝึกให้ลูกหลับยาว แล้วคุณแม่ใช้วิธีตื่นขึ้นมาปั๊มนมออกแทนลูกดูดหากต้องการรักษาระดับการสร้างน้ำนมเอาไว้

 
• ถ้าลูกอยู่กับแม่ตลอดเวลา ได้ดูดเต้าเต็มที่ในช่วงกลางวัน แม่สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกกินไปได้เรื่อยๆ การกระตุ้นกลางคืนก็ไม่จำเป็นฝึกให้ลูกหลับยาวได้เลย และคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมาปั๊มนมออกด้วย มีบางกรณีที่ลูกอยู่กับแม่ตลอดเวลา กลางวันลูกดูดเต้าไม่เต็มที่ เนื่องจากแม่มีปัญหานมพุ่งไหลแรง กลางวันดูดท่านั่ง ลูกกลัวสำลักจึงดูดเบาๆ และมาอาศัยกินหนักช่วงกลางคืน เพราะได้ดูดท่านอน ซึ่งช่วยให้ไม่สำลักนมที่พุ่งแรงหากคุณแม่ไม่ทราบ แล้วจับลูกฝึกให้หลับยาวกลางคืน อาจทำให้มีปัญหาลูกน้ำหนักขึ้นไม่ดีเพราะลูกได้นมช่วงกลางวันไม่พอ จึงควรปรับการกินนมช่วงกลางวันให้ได้รับนมเต็มที่ โดยจัดท่าดูดที่ช่วยให้น้ำนมไม่พุ่งแรงเกินไป

 
สำหรับ การฝึกให้ลูกหลับยาว ควรจัดสภาพห้องให้อบอุ่น ไม่มีเสียงดังรบกวน มีกิจวัตรประจำวันแบบเดิม เช่น กินนม เข้านอนตรงเวลากันทุกวัน กล่าวราตรีสวัสดิ์แล้วบอกลูกว่าไม่มีนมกลางคืนแล้วนะจ๊ะ กินอีกครั้งตอนสว่าง ถ้าหนูตื่น แม่จะอยู่เป็นเพื่อนเฉยๆหรือให้กินน้ำเปล่า พูดทุกวัน ถึงลูกยังฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร โดยทั่วไปจะร้องอยู่นาน1 – 2 ชั่วโมงในวันแรกๆ แต่จะร้องน้อยลง และหยุดร้องภายใน 3 – 7 วัน

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up