ผิวไหม้แดด ดูแลอย่างไรดี

Alternative Textaccount_circle
event

แสงแดดอ่อนๆ มีประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีที่ทำให้กระดูกแข็งแรง แต่ถ้ามากไปก็ทำให้เกิดอันตรายได้หลายอย่าง เช่น

 
–                 น้ำระเหยออกทางผิวหนังหรือขับออกทางเหงื่อ ซึ่งเด็กเล็กจะได้รับผลเสียมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีพื้นที่ผิวหนังเทียบกับน้ำหนักตัวมากกว่า จึงเสียน้ำออกไปได้มากกว่า ทำให้มีปัญหาอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นหรือเป็นไข้ หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 
วิธีป้องกัน คือ ต้องกินน้ำให้เพียงพอโดยการจิบบ่อยๆ ไม่ออกกำลังกายหนักๆในช่วงที่อากาศร้อนจัด ไม่อยู่ในที่ที่อากาศอุดอู้ ไม่ถ่ายเท เช่น ในรถที่จอดอยู่กลางแดดและปิดประตูหน้าต่าง แม้เพียงชˆวงเวลาสั้นๆ ก็อาจเสียชีวิตได้

 
นอกจากนี้ต‰้องไม่ห่อตัวทารกให‰หนาแน่นเกินไป ให้ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

 
–                 รังสียูวีเอและยูวีบีเป็นอันตรายต่อผิวหนังและกระจกตา ทำให้ผิวไหม้ตั้งแต่ระดับน้อยๆ ถึงรุนแรงมาก เซลล์ผิวเสียหรือแก่ก่อนวัย เกิดริ้วรอย เป็นฝ้า ตกกระ กระตุ้นการเติบโตของไฝ เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง และอาจทำให้โรคผิวหนังบางอย่างมีอาการกำเริบได้ เช่น เริม และโรค porphyria

 
อีกทั้งการกินหรือใช้ยาบางอย่างอาจทำให้ผิวไวต่อแสงและได้รับอันตรายจากแสงมากขึ้น เช่น ยาปฏิชีวนะ และยาทาแก้สิวบางชนิด จึงต้องระวังเรื่องการออกแดดเป็นพิเศษ

 
วิธีป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วง 11.00 น. – 15.00 น. ใส่เสื้อผ้าแขนขายาว (แต่ระบายอากาศได้ดี) สวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นกันแดด ทาครีมกันแดดที่มี SPF 15 เป็นอย่างน้อย (มีหลายชนิดที่ใช้ได้ในเด็ก) โดยควรทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก 2 – 3 ชั่วโมง

 
–                 ในกรณีที่มีปัญหาผิวไหม้แบบไม่รุนแรงจะมีเพียงรอยแดงและอาการคัน ถ้ารุนแรงปานกลาง จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน และถ้ารุนแรงมาก จะเป็นตุ่มน้ำพองและปวดมาก มักเริ่มแสดงอาการหลังออกแดดประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง และแสดงอาการมากที่สุดในช่วง 12 – 24 ชั่วโมง อาการมักดีขึ้นภายใน 4 – 7 วัน โดยผิวจะเริ่มแห้งและลอก

 
การรักษา ทำได้โดยการประคบเย็น นาน 15 – 20 นาที ทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมง (อาจใช้น้ำเปล่า น้ำผสมนมรสจืดครึ่งต่อครึ่ง ไม่ใช้นมรสหวานเพราะเดี๋ยวมดจะขึ้น หรือใช้น้ำยา Burow Solution ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยา) ไม่ใช้น้ำแข็งประคบโดยตรง

 
หลังจากประคบแล้วให้ทาครีม โลชั่นว่านหางจระเข้ หรือครีมซัลฟาไดอาซีนที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ห้ามถูแรงๆ และห้ามทาด้วยเกลือ น้ำมัน น้ำหอม หรือโลชั่นที่มียาชาเป็นส่วนผสม และห้ามโกนขนตรงบริเวณนั้นชั่วคราว เพราะจะทำให้ระคายเคืองผิวหนังมากยิ่งขึ้น

 
ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจใช้ยาสเตียรอยด์ทา และให้ยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน หรือยาแก้ปวดที่มีโคเดอีนหากอาการปวดรุนแรงมาก โดยคุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆ ไปค่ะ

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up