ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่

ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่ เป็นเพราะอะไร ควรรับมือแบบไหนดี?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่
ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่

ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่ – สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ในระหว่างทางอาจต้องพบเจอกับอุปสรรคและปัญหาการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบ้านได้ แต่หนึ่งในเรื่องที่พ่อแม่ทุกบ้านคงหนีไม่พ้น คือ เมื่อลูกเริ่มโตเข้าสู่วัยเป็นหนุ่มสาวช่วงก่อนวัยรุ่นหรือวัยรุ่น เป็นธรรมดาที่เด็กส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พวกเขาอาจพึ่งพาพ่อแม่น้อยลง และหันไปพึ่งพาเพื่อนฝูงมากขึ้น

หลายบ้านพบปัญหาลูกติดเพื่อน ลูกเชื่อเพื่อน ลูกแคร์ความรู้สึกเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ แน่นอนว่า การปล่อยวางกับปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม พ่อกับแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าการที่ลูกวัยรุ่นเลือกพึ่งพาเพื่อน มีท่าทีตีตัวออกห่างพ่อแม่ นั้นถือเป็นผลดีต่อการพัฒนาการของช่วงวัย ตลอดจนความรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของตัวเด็กเองค่ะ

ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่ เป็นเพราะอะไร ควรรับมือแบบไหนดี?

เนื่องจากมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Murdoch และ Griffith ได้ลงมือทำการศึกษาและติดตามชีวิตของวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง พวกเขาพบความจริงว่า หลังจากเหตุการณ์ชวนเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเด็กวัยรุ่นแต่ละคน เช่น การสอบตก ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจชีวิตวัยรุ่นแบบเรียลไทม์ตลอดทั้งวัน และพบว่าหลังจากเกิดเรื่องแย่ๆ ในชีวิต เด็กวัยรุ่นจะสามารถรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าเมื่ออยู่กับเพื่อนๆ แทนที่จะเป็นพ่อหรือแม่ของพวกเขา

จากการศึกษาพบว่ามิตรภาพของวัยรุ่นไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองควรรู้เกี่ยวกับสิ่งที่บรรดาวัยรุ่นทั้งหลายต้องการ พ่อแม่ส่วนใหญ่มองว่าการเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ พร้อมเกิดขึ้นมากมายให้ต้องรับมือ เพียงไม่กี่ปีที่แล้วอาจดูเหมือนว่าคุณและลูกๆ ได้ร่วมกันทำทุกอย่างด้วยกันชีวิตของลูกมีแค่พ่อแม่ที่เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง  แต่กลับกันในวันที่ลูกเติบโตกลายเป็นวัยรุ่น คุณอาจรู้สึกราวกับว่าไม่รู้จักลูกหรือเข้าไม่ถึงโลกของพวกเขาเหมือนเช่นเคยอีกต่อไป  นั่นเป็นเพราะโลกของพวกเขาหมุนอยู่รอบตัวเองและเพื่อน ๆ  ของเขา จนดูเหมือนว่าจะไม่สนใจในครอบครัวอีกต่อไป

แต่ความจริงแล้วในฐานะผู้ปกครอง คุณไม่ควรพยายามจำกัดหรือกีดกันลูกวัยรุ่นจากเพื่อนๆ  เพราะจากผลการศึกษาวิจัย พบว่า มิตรภาพของวัยรุ่นกับเพื่อนฝูง นั้นไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกสนานตามประสาเด็ก แต่เมื่อลูกของคุณได้ร่วมใช้เวลาชีวิตกับเพื่อน ๆ มันให้อะไรกับตัวเด็กได้มากกว่าที่คิดด้วยมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กวัยรุ่นมักส่งผลกระทบได้อย่างลึกซึ้งต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาในอนาคต

การอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงในช่วงเวลาที่มีความเครียดทำให้วัยรุ่นมีพื้นที่เปิดกว้าง ช่วยลดความสับสนปั่นป่วนทางอารมณ์ของวัยรุ่นได้  ทั้งนี้นักวิจัยรวบรวมข้อมูลจากเด็กชาย และเด็กหญิงจำนวน  108 คน ที่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 16 ปี ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย  โดยผลการศึกษาได้ขอสรุปหนึ่งที่ชัดเจนว่า  “เพื่อนนั้นเป็นเหมือน ‘ยาชูกำลังทางอารมณ์’ สำหรับเด็กวัยรุ่นได้อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

 

ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่
ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่

 

เหตุผลที่มิตรภาพระหว่างเพื่อนมีความสำคัญต่อวัยรุ่น

  1. วัยรุ่นรู้จักตัวเองมากขึ้นจากกันและกัน เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มักดึงดูดผู้อื่นที่มีความสนใจเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับโลกของวัยรุ่นด้วย วัยรุ่นต้องการอยู่กับเพื่อนๆ เมื่อพวกเขารู้สึกวิตกกังวล เกิดความกลัว หรือความไม่มั่นคงในชีวิต ตลอดจนเวลาเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ร่วมกัน  มิตรภาพที่ดีช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก และช่วยให้สิ่งที่พวกเขารู้สึกกลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ
  2. การมีเพื่อนช่วยให้วัยรุ่นรับมือกับความเครียดได้ดี โดยธรรมชาติแล้ว ผู้ปกครองทุกคนต้องการช่วยเหลือลูกๆ ในทุกย่างก้าวของชีวิตในขณะที่พวกเขาเติบโตขึ้น คุณจะทำทุกอย่างเพื่อลูกของคุณถ้าเขามีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ค้นพบจากการศึกษา คือ เพื่อนวัยรุ่นสามารถช่วยลูกวัยรุ่นของคุณให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากได้มากเกินกว่าที่คุณจะทำได้ หลังจากเหตุการณ์ที่ตึงเครียดวัยรุ่นมักจะใช้เวลากับเพื่อน ๆ เพราะมันช่วยให้พวกเขารับมือกับอารมณ์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง
  3. ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยผู้ใหญ่ การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นที่หล่อเลี้ยงมิตรภาพที่ใกล้ชิด มีโอกาสที่จะทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าน้อยในช่วงอายุยี่สิบกลางๆ เมื่อลูกวัยรุ่นของคุณมีเพื่อนสนิทที่เป็นเพื่อนร่วมวัย การปรากฏตัวของเพื่อนๆ ในชีวิตของเขา มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มิตรภาพที่ใกล้ชิดของวัยรุ่นยังช่วยสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กๆ ได้อีกด้วย

กล่าวคือ วัยรุ่นที่มีเพื่อนสนิท ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จะมีเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ อย่างไรก็ตามในขีอดีก็ใช่จะไม่มีข้อเสีย เมื่อลูกของคุณมีเพื่อนมากเกินความจำเป็น สามารถเพิ่มความวิตกกังวลทางสังคมของบุตรหลานของคุณได้ ดังนั้นควรสอนลูกว่าการมีเพื่อนสนิทเพียงสักสองสามคนที่ดี และไว้ใจ ระบายทุกข์ได้ ย่อมดีกว่าการมีเพื่อนมากมายหลายคนแต่ค่อนข้างฉาบฉวย

วิธีสร้างสมดุลระหว่างมิตรภาพกับเพื่อน และพ่อแม่

แม้ว่าในช่วงวัยรุ่น คนหนุ่มสาวมักใช้เวลากับเพื่อน ๆ วัยเดียวกันมากขึ้น และเลือกใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่น้อยลง  แต่อย่างไรก็ตามแต่ ลูกของคุณยังคงต้องการพ่อและแม่เสมอ พวกเขายังต้องการความปลอดภัย และความใส่ใจจากพ่อแม่ ดังนั้นเราควรให้ความสนใจและใส่ใจลูกๆ พร้อมทำให้พวกเขารับรู้ว่าอยู่เสมอว่าพวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากคุณได้ทุกเมื่อถ้าจำเป็น ซึ่งหากคุณมอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้นี้ให้ลูกๆ ได้ เมื่อลูกของคุณเติบโตและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น คุณอาจจะสังเกตเห็นได้ว่าลูกของคุณให้การสนับสนุนคุณเมื่อคุณพบเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตเช่นเดียวกัน

ด้วยปกติของวัยรุ่นนั้นมักจะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ระหว่างกัน ทั้งเลือกปฏิบัติตามแนวทางเดียวกันกับเพื่อน ๆ  ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นอาจเปลี่ยนพฤติกรรม รูปลักษณ์ การแสดงออก หรือความสนใจเพื่อแสดงว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งตราบใดที่ลูกของคุณไม่ได้ทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดจากการคบเพื่อน จะแสดงให้เห็นว่าลูกของคุณรู้สึกได้รับการสนับสนุนและมีความมั่นใจมากพอที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆในชีวิต ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่มิตรภาพกับเพื่อนบางคน หรือบางกลุ่มของลูกอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ โดยคุณอาจสังเกตเห็นว่าลูกของคุณห่างเหินจากเพื่อนเก่า และอาจต้องการความช่วยเหลือในการหาเพื่อนใหม่ๆ

 

ลูกแคร์เพื่อนมากกว่าแม่

 

เมื่อคุณเข้าใจถึงความสำคัญที่เด็กวัยรุ่นต้องมีเพื่อน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของเขา คุณไม่สามารถเลือกเพื่อนให้ลูกได้ และคุณไม่สามารถควบคุมมิตรภาพที่เกิดขึ้นของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับมิตรภาพที่ดีแก่ลูกของคุณได้ แทนที่จะเลือกเพื่อนให้ลูกจงช่วยให้ลูกเข้าใจวิธีและวิถีปฏิบัติที่จะเป็นเพื่อนที่ดี สิ่งสำคัญบางอย่างที่คุณควรพูดกับลูกในการเลือกคบเพื่อนและการเป็นเพื่อนที่ดี คือ

  • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับแรงผลักดันจากเพื่อน ให้พวกเขาเข้าใจว่าเพื่อนสามารถโน้มน้าวซึ่งกันและกัน และนำมาซึ่งผลลัพธ์ในเชิงบวกหรือเชิงลบ ลูกควรสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองในการทำสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง มากกว่าที่จะทำไปเพียงเพราะตามคนอื่น
  • มิตรภาพที่ดี ต้องใช้เวลาในการค้นหา น่าจะดีกว่าหากลูกจะมีเพื่อนหรือเลือกคบที่มีความสนใจเหมือนกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดมิตรภาพที่ดีและมีความหมายต่อตัวเอง
  • มิตรภาพไม่ควรมีด้านเดียว ต่างฝ่ายต้องเท่าเทียม ด้วยการให้ความห่วงใย ให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
  • วัยรุ่นจำเป็นต้องเข้าใจว่ามิตรภาพคือความสัมพันธ์ และในความสัมพันธ์ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติที่บางครั้งจะมีการไม่เห็นด้วย หรือไม่ลงรอยกันเพื่อการรักษามิตรภาพดีๆ ให้คงอยู่จำเป็นต้องหาความแตกต่างและจุดยืนของตัวเอง สอนลูกว่าเพื่อนที่ดี และการเป็นเพื่อนที่ดี ต้องไม่ทำให้เราหรือใครต้องสูญเสียความเป็นตัวของเอง
  • เตือนลูกวัยรุ่นว่าถึงแม้พ่อแม่จะไม่ก้าวก่ายในการเลือกคบเพื่อน  แต่เขาก็ยังควรที่จะต้องรักษาความใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเอาไว้

ลูกติดเพื่อนพ่อแม่ควรรับมืออย่างไร?

  • ยอมรับและเข้าใจว่าเป็นพัฒนาการปกติของเด็กวัยรุ่น  ดังนั้น พ่อแม่ควรรับฟังความคิดเห็นของลูก โดยไม่พยายามควบคุม หรือตัดสินมากเกินไป ลองใช้คำแนะนำต่างๆ ที่ ส่งเสริมให้เด็กคิดเองได้อย่างรอบคอบในหลายๆ ด้าน และเลือกวิธีการของตนเอง ตามวิจารณญาณของเด็กในหลายๆ วิธี ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ สามารถจัดการผลที่ตามมาจากการกระทำของตนเองได้
  • ส่งเสริมให้ลูกและกลุ่มเพื่อน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่เหมาะสมกับวัย สามารถใช้ความรู้และความสามารถของเด็กได้อย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกับผู้ปกครองเพื่อช่วยให้เด็กแสดงความสามารถของตน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเด็กอยู่กับกลุ่มเพื่อน
  • สอดส่องพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมั่วสุม โดดเรียน มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ  ยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรือทะเลาะวิวาท ผู้ปกครองควรติดตามเด็กสม่ำเสมอ พยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและเปิดใจรับฟังลูก การมีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กๆ จะช่วยให้ลูกยังนึกถึงพ่อแม่ สามารถยั้งคิดก่อนทำสิ่งที่ไม่ดีและจดจำสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอนและว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีภายในบ้าน ถ้าหากความสัมพันธ์ในบ้านมีปัญหา ทะเลาะกัน ต่างคนต่างพูดจาไม่ดีใส่กันใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด อาจทำให้เด็กอยากออกจากบ้านไปพบเจอเพื่อนมากขึ้น เพราะต้องการแสวงความสุข ความสงบ ความสบายใจ ตลอดจนการยอมรับจากเพื่อน หรือบุคคลภายนอกเพราะเห็นว่าบ้านไม่น่าอยู่ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องรักษาบรรยากาศในบ้านให้น่าอยู่ ลดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่  สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกไม่ติดเพื่อนหรือพึ่งพาเพื่อนๆ มากเกินไปได้ค่ะ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up