ลูกชอบเล่นเกม แต่เรียนดีไม่มีตก มีอะไรต้องห่วงไหม?

Alternative Textaccount_circle
event

Q : ลูกเริ่มเล่นเกมตั้งแต่อนุบาล 2 ตอนนี้อยู่ป.5 แล้ว ยังเล่นเป็นประจำ เรื่องการเรียนก็ไม่เสีย และไม่ได้กระทบกับชีวิตด้านอื่น แต่พ่อแม่ยังต้องเตือนให้หยุดตามเวลาที่ตกลงกัน ส่วนใหญ่ก็หยุด แต่มีขอต่อเวลาเสมอ หลายคนบอกว่า อย่างนี้ก็ไม่น่าห่วงอะไร แต่บอกตรงๆ ผมไม่มั่นใจครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป จะหวังได้หรือไม่ครับว่าลูกจะรอดจากผลกระทบของการเล่นเกม

หากมั่นใจว่าไม่เสียการเรียนและไม่กระทบชีวิตด้านอื่นๆ ก็น่าจะสบายใจได้ แต่ผมมีคำถามว่า “จริงหรือเปล่า” หากการเรียน มีความหมายเพียงว่าทำเกรดได้ดีก็พอ ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่ในศตวรรษใหม่ที่ลูกของเราจะเติบโตขึ้นอยู่ร่วมสังคมและแย่งงานกับคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันทั่วทั้งอาเซียน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงคนจีนอีกเศษหนึ่งส่วนสี่ของโลก กำลังจ่อปากประตูบ้านเราเช่นนี้ การเรียนแล้วทำเกรดได้ดีไม่มีความหมายอะไรเลย

เราควรทำให้มั่นใจได้ว่าลูกของเราเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนรู้ และมีความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนตลอดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี หากเด็กเสียเวลากับการเรียนตามหลักสูตรบ้านเราที่ไม่มีประโยชน์และหมดเวลาอีกส่วนหนึ่งไปกับเกมที่แม้จะกระตุ้นทักษะบางอย่างอยู่บ้างแต่ก็ไม่รอบด้าน เวลาที่เหลืออยู่ในแต่ละวันก็น่าจะลดลง นั่นคือเวลาที่เราควรพาเด็กไปเรียนรู้ด้วยตนเองในสถานที่ต่างๆ ที่โรงเรียนและเกมให้ไม่ได้ หากปล่อยไปจนจบมหาวิทยาลัยก็จะสายเกินไป

ส่วนชีวิตด้านอื่นๆ แปลว่าอะไร หากแปลว่ายังคงเป็นเด็กดี สุภาพเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ก้าวร้าวกับพ่อแม่เมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม ไม่พัวพันกับอบายมุขอื่นๆ ที่แฝงมาในเครื่องและในเกม เพียงเท่านี้ผมก็จะเตือนว่ายังไม่พออีกครั้งหนึ่ง ชีวิตด้านอื่นๆ ควรหมายถึงการมีทักษะชีวิตที่ดีด้วย

ทักษะชีวิตที่ดีเป็นคำกว้างๆ หมายถึงความสามารถที่จะกำหนดเป้าหมายของชีวิตหรือเป้าหมายระยะสั้น เช่น อยากสอบชิงทุนไปไหนสักที่ เป็นต้น เมื่อกำหนดแล้วก็รู้จักวางแผนไปสู่เป้าหมายนั้น ตัดสินใจว่าจะเดินเส้นทางใดหรือทำอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น หากตัดสินใจแล้วยังไม่ดีพอหรือผิดพลาดก็เรียนรู้ที่จะยอมรับผลลัพธ์ของการตัดสินใจของตนเอง ไม่เอาแต่ตีโพยตีพายหรือกล่าวโทษผู้อื่น แต่กลับมีความสามารถที่จะพิเคราะห์การกระทำของตนเองแล้วปรับปรุงใหม่ ชีวิตที่ดีคือวงจรที่ดีเช่นนี้เรื่อยๆ ไป

คำถามคือเด็กของเรามีโอกาสฝึกทักษะชีวิตที่ดีที่โรงเรียนหรือในเกมมากน้อยเพียงไร คำตอบคือน้อย ดังนั้นเวลาที่มีไม่มากนักของพ่อ ของแม่ ของลูกในแต่ละวันจึงควรใช้ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมอะไรบางอย่างอย่างแท้จริง จะเป็นกิจกรรมระยะสั้นหรือระยะยาวได้ทั้งนั้น แต่ให้เป็นกิจกรรมที่เขาได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา ข้อเสียของเกมที่สำคัญคือเสียเวลาดังที่บรรยายมา เกมบางชนิดเป็นโทษในตัวเองและล้ำเส้นการพนัน ซึ่งคุณพ่อก็คงดูแลอยู่แล้ว ผมจะชวนคุยเรื่องการติดเกมต่อ

การติดเกม เป็นปรากฏการณ์ที่เวลาเกิดขึ้นมักไม่มีใครตั้งตัวทัน เช่น “แต่มีขอต่อเวลาเสมอ” ซึ่ง ณ วันนี้ไม่มีปัญหาอะไร ผมได้แต่ภาวนาว่าจะไม่มีสักวันที่จู่ๆ เขาไม่ขอต่อเวลาเหมือนเช่นเดิม แต่หันมาตวาดพ่อแม่ว่าอย่ายุ่ง ดังเช่นเด็กดีๆ หลายคนที่พ่อแม่พามาให้ผมบำบัดในที่สุด เพราะเขาไม่สามารถหยุดผรุสวาทใส่พ่อแม่ด้วยตนเองได้อีก

เด็กต้องการพัฒนาการรอบด้านอย่างมากเพื่อให้สมองทุกส่วนถูกกระตุ้นอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง จึงจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใฝ่เรียนรู้และใช้ชีวิตเป็น เกมจะมีประโยชน์อย่างไรก็กระตุ้นสมองแค่หย่อมเดียวครับ

 

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up