แนะลูกรับมือเพื่อนซี้จอมเกเร

Alternative Textaccount_circle
event

บางครั้งเด็กวัยนี้ก็สนใจเพื่อนที่ดู นิสัยแย่ž หรือ เกเรž มากกว่าเพื่อนๆ นิสัยดีเรียบร้อย นั่นเพราะพวกเขาถึงวัยที่เริ่มมองหาความแปลกใหม่และหลงใหลการเป็นจุดเด่นŽ แต่การมีเพื่อนเฮี้ยวๆ ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะกลายเป็นเด็กนิสัยเสียไปด้วย ลองเปลี่ยนมุมมองเพื่อทดสอบว่าเพื่อนมีอิทธิพลจนทำให้ลูกก้าวล้ำเส้นไปหรือเปล่า

 
หาจุดเริ่มต้นของมิตรภาพ ลูกของคุณอาจไม่ได้คลั่งไคล้ความเกเร เขาเพียงแต่อยากหาใครที่น่าสนใจŽ เล่นด้วยแล้วสนุกกว่าปกติเท่านั้น เพื่อนใหม่คนนี้อาจมีข้อดีด้านอื่นๆ เช่น ชอบเล่นกีฬาอย่างเดียวกัน หรืออ่านการ์ตูนเรื่องเดียวกันอยู่ ถ้าหากว่ากิจกรรมที่เขาทำร่วมกันไม่ใช่เรื่องเสียหาย ก็พอจะวางใจได้

 
ขอดูตัว ถ้าคุณได้ยินเพียงกิตติศัพท์ของเพื่อนจากปากลูกหรือจากคุณครู ลองให้ลูกชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน พ่อแม่จะได้แอบดูตัว บางทีเด็กที่แก่นแสนแก่นในกลุ่มเพื่อน พอมาอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่อาจเรียบร้อยกว่าที่คิดก็ได้นะ

 
คนที่สนิทกับลูกไม่ได้มีแค่เพื่อน การที่พ่อแม่ให้เวลาและพูดคุยกับลูก โดยเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันในครอบครัวจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับอิทธิพลแง่ลบจากเพื่อน นอกจากนี้ยังทำให้ลูกวางใจในตัวพ่อแม่และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังโดยไม่ปิดบัง คุณจะได้ระวังภัยได้ทัน หากเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น

 
หนักแน่นในตัวเอง เมื่อลูกเอาพฤติกรรมไม่ดีของเพื่อนมาเล่าให้คุณฟัง อย่าด่วนบอกให้ลูกเลิกคบเพื่อนคนนั้น แต่ควรค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การกระทำของเพื่อนนั้นผิดและก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรบ้าง อาจลองถามกลับว่าลูกคิดอย่างไรและคิดว่าจะช่วยเตือนเพื่อนได้อย่างไรบ้าง

 
มิตรภาพต้องมีขอบเขต อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมองเห็นว่ามิตรภาพของลูกนำมาซึ่งพฤติกรรมในแง่ลบที่อันตราย เช่น การสูบบุหรี่หรือขโมยของ ตอนนี้คงต้องถึงจุดจบของความเป็นเพื่อน และควรจับเข่าคุยกับลูกอย่างใจเย็นและมีสติด้วยนะ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up