เตือนภัย!! อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง

Alternative Textaccount_circle
event

แมงกะพรุนกล่อง (Chironex fleckeri, box jellyfish) เป็นประเด็นร้อนแรงที่ผู้คนให้ความสนใจ และเป็นที่พูดถึงมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ หลังจากเกิดเหตุกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเข้าที่แขนและขาขณะลงเล่นน้ำทะเลที่ อ.เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา  เราจึงควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องแมงกะพรุนกล่องว่ามันคืออะไร มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน  และสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันเด็กๆ เราเองและครอบครัว

ลักษณะโดยทั่วไปของแมงกะพรุนกล่อง
  1. อาศัยในแถบทะเลอินโดจีนและเอเชียแปซิฟิก พบมากที่สุดทางด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
  2. แมงกะพรุนกล่องจะเข้าใกล้ชายฝั่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในออสเตรเลียความเสี่ยงจะสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม
  3. มีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นในน้ำได้ยาก ลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง ขนาดโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-24 เซ็นติเมตร มีหนวดที่มุมทั้งสี่จำนวน  15 หนวดต่อมุม  ขณะว่ายน้ำหนวดจะหดตัวทำให้มีความยาวเพียง 15 เซ็นติเมตร แต่ขณะล่าเหยื่อหนวดจะยืดยาวได้ถึง 3 เมตร
  4. แมงกะพรุนกล่องสามารถว่ายน้ำล่าเหยื่อได้ด้วยความเร็วสูง ต่างจากแมงกะพรุนแท้ที่จะลอยไปมารอให้เหยื่อมาสัมผัสเอง
แมงกะพรุนกล่อง3แมงกะพรุนกล่อง1อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง 

เมื่อโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องจะปวดแสบอย่างรุนแรงทันทีในบริเวณที่โดน  ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการเพียงเล็กน้อย  แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

พิษจากแมงกะพรุนชนิดนี้มีความรุนแรงมาก  หากบริเวณสัมผัสเกินร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วตัวอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที หรืออาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 20 นาทีหลังจากการสัมผัส แต่หากเกิน 20 นาทีไปแล้วยังมีชีวิตอยู่แสดงว่าอาการไม่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต

สารพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถออกฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ  เช่น ทำให้ระบบหมุนเวียนของโลหิตและปอดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหนังแพ้หรือผิวหนังตายได้  จากสถิติในประเทศออสเตรเลียพบผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างน้อย 63 ราย ในระหว่างปี ค.ศ. 1884-1996  และเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด

แมงกะพรุนกล่อง7 แมงกะพรุนกล่อง2ลักษณะผิวบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุนกล่อง

การป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง
  1. ไม่ลงเล่นน้ำขณะที่มีแมงกะพรุน
  2. หากเจอะเจอแมงกะพรุนกล่อง ลอยขึ้นมาติดบนชายหาด ก็ห้ามใช้มือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสแมงกะพรุนกล่องเล่น เพราะอาจจะไปสัมผัสโดนหนวดแมงกะพรุนและได้รับสารพิษจนเกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  3. เมื่อลงเล่นน้ำทะเลควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น ชุดดำน้ำ หรือเอาถุงน่องบางๆ ที่สุภาพสตรีใส่มาใส่ปิดบริเวณแขนขาจะสามารถป้องกันการปล่อยพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ ในประเทศออสเตรเลียเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด จะใส่ถุงน่องเพื่อป้องกันตัวเองจากแมงกะพรุนกล่อง
  4. เมื่อไปเล่นน้ำทะเลควรจะมีน้ำส้มสายชูติดตัวไปที่ชายหาดด้วยเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากโดนหนวดของแมงกะพรุนกล่อง
  1. อย่าแตะ แกะ หรือขยี้ เนื่องจากหนวดยังสามารถปล่อยพิษต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง
  2. ให้ใช้น้ำส้มสายชูชะล้างบริเวณที่หนวดเกาะอยู่และบริเวณรอบ ๆ เป็นเวลา 30 วินาที ค่อยแกะเอาหนวดออกโดยใช้ผ้าปัดออก
  3. หากโดนในตา ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์หรือน้ำเปล่า  แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูแผลและสังเกตอาการ
  4. หากมีอาการระบบหัวใจและปอดล้มเหลว จะต้องปฏิบัติการกู้ชีพโดยด่วน

การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ ในประเทศออสเตรเลียมีการผลิตซีรั่มต้านพิษแมงกะพรุนกล่อง  แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าซีรั่มดังกล่าว  เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องยังมีไม่มากนัก  ตลอดจนการใช้ซีรั่มจะต้องใช้โดยด่วนที่สุดโดยตั้งแต่เริ่มโดนพิษใหม่ ๆ จึงจะได้ผลดี และการใช้ซีรั่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะล้มเหลวของระบบหลอดเลือดและปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด  นอกจากนี้การใช้ซีรั่มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเนื่องจากผลิตจากซีรั่มของวัว

 

แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์อันตรายที่แทบมองไม่เห็นในน้ำ  แต่การเตรียมตัวป้องกันอย่างดีก่อนลงเล่นน้ำตามชายทะเล  จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้  หากโดนพิษแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุน แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dst.or.th

 

บทความโดย: ดร. นพ. เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ www.realparents.tv

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up