อาหาร อารมณ์ พัฒนาสมองลูก ไตรมาสแรก

อาหาร+อารมณ์แม่ท้อง พัฒนาสมองลูกน้อยช่วงไตรมาสแรก

Alternative Textaccount_circle
event
อาหาร อารมณ์ พัฒนาสมองลูก ไตรมาสแรก
อาหาร อารมณ์ พัฒนาสมองลูก ไตรมาสแรก

แม่ท้องเสริมลูกน้อยฉลาดรายไตรมาส

“ความฉลาดของเด็กเกิดได้จาก 3 ปัจจัยหลักประกอบกัน ได้แก่ พันธุกรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อมหรือการกระตุ้นพัฒนาการจากคุณพ่อคุณแม่ แม้พันธุกรรมจะเป็นปัจจัยที่ทั้งคุณหมอและคุณแม่ควบคุมไม่ได้ แต่ 2 ปัจจัยหลังคุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมเพื่อเสริมความฉลาดให้ลูกน้อยได้ค่ะ” คุณหมอจิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวเปิดประเด็นเพื่อแนะนำวิธีกระตุ้นความฉลาดของลูกน้อยในครรภ์ให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ

“ไตรมาสแรกเป็นช่วงสร้างอวัยวะ เซลล์สมอง เส้นใยประสาท และพัฒนาตัวอ่อน ปัจจัยภายนอกมีผลต่อการยับยั้งพัฒนาการได้มาก นอกจากนี้อวัยวะที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้ลูกไม่สามารถรับรู้การกระตุ้นพัฒนาการจากคุณพ่อคุณแม่ได้ สิ่งสำคัญในไตรมาสแรกจึงเป็นอาหารการกินและอารมณ์ของคุณแม่ที่จะช่วยพัฒนาตัวอ่อนอย่างเหมาะสมค่ะ”

อาหารแม่ท้องพัฒนาสมองลูกน้อย

•  อาหารหลัก 5 หมู่สำคัญที่สุด

“จริงๆ แล้วอาหารของคนท้องไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าอาหารของคนทั่วไป หลักการสำคัญเพียงแค่กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินบี 6 2 12 ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบประสาท และกินในปริมาณที่เหมาะสม ให้ทุกหมู่เฉลี่ยเท่าๆ กัน เพียงเท่านี้เซลล์ประสาทและสมองของลูกก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องหาวิตามินเสริมมากินเลยค่ะ”

•  โฟเลต พระเอกของไตรมาสแรก

“กลุ่มอาหารที่มีโฟเลต เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน ถั่ว ธัญพืชและผักใบเขียว ซึ่งช่วยสร้างเซลล์ประสาทและป้องกันความผิดปกติบางอย่าง เช่น กะโหลกเปิด ท่อประสาทไม่ปิดสนิท รวมถึงอาจช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดอื่นๆ ได้ด้วย หากเป็นไปได้หมอแนะนำให้กินโฟเลตมากกว่า 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ควรกินต่อไปอีก 3 เดือนค่ะ

•  อาหารควรเลี่ยงเพื่อลูกน้อย

“แม้จะกินของดี แต่หากไม่เลี่ยงของที่ควรเลี่ยงด้วยก็ส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งของแม่และลูกได้เช่นกันค่ะ เช่น อาหารที่มีแอลกอฮอล์ สารเสพติดต่างๆ อาหารหมักดอง อาหารที่ไม่สุกและไม่สะอาด ยาหรือการใช้สารเคมี รวมถึงอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น เนื่องจากอาจมีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งไประงับพัฒนาการที่เหมาะสมของลูกและอาจก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้ค่ะ”

คุณแม่อารมณ์ดี ลูกน้อยก็เติบโต

“การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของคุณแม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารชีวเคมีบางตัวในเลือดซึ่งส่งผลต่อลูกได้ค่ะ เช่น หากคุณแม่อารมณ์ดีจะหลั่งสารเอ็นโดรฟินและเซโรโทนินออกมา แต่ถ้าเวลาอารมณ์เสียก็จะมีสารอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีฤทธิ์คล้ายๆ สเตียรอยด์ ซึ่งสารกลุ่มนี้อาจไปยับยั้งอวัยวะบางอย่างให้เกิดความผิดปกติได้ค่ะ คุณแม่จึงควรตั้งสติให้ดี ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เข้าใจสรีระและความเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ คนรอบข้างก็มีส่วนช่วยในเรื่องของการปรับสภาพแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ให้คุณแม่ไม่อารมณ์เสียและไม่มีภาวะซึมเศร้าได้ง่าย อารมณ์ของคุณแม่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความร่วมมือกันของคนในครอบครัวค่ะ”

แม่ท้องไม่ควรลืมฝากครรภ์ประเมินความเสี่ยงในไตรมาสแรก

คุณหมอจิตรนพินแนะนำแม่ท้องไตรมาสแรกให้รีบฝากครรภ์ เพื่อประเมินโรคประจำตัวและความเสี่ยงต่างๆ ค่ะ เนื่องจากโรคประจำตัวและยาที่คุณแม่กินประจำบางอย่างมีผลต่อความฉลาดและพัฒนาการของลูก คุณหมอจึงอาจปรับเปลี่ยนการรักษาหรือปรับเปลี่ยนยา เพื่อคุมโรคให้สงบโดยไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยค่ะ

 

อ่านเพิ่มเติม  ไตรมาส 2 | ไตรมาส 3

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ. จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up