โรคปอดอักเสบ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

Alternative Textaccount_circle
event

ช่วงฤดูฝนใกล้ฤดูหนาวเป็นช่วงที่มักจะมีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงความรู้ทั่วไปของปอดอักเสบในแง่ของการสังเกตอาการเบื้องต้น การรักษา และวิธีป้องกันโรคเพื่อเป็นประโยชน์ในการลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ตามมาได้

ปอดอักเสบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยที่อาการของโรคจะมีความรุนแรงในผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) และในผู้มีโรคประจำตัวผู้สูบบุหรี่ มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีภาวะขาดอาหาร หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคไต มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยา สเตียรอยด์ ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง มีภาวะสำลักง่ายจากการเป็นโรคเส้นเลือดสมอง ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดโรคปอดอักเสบแล้ว มักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน

สาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบ

เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยการติดเชื้อมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด ซึ่งสาเหตุของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้

การรักษา

แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. การรักษาจำเพาะ

ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ควรให้การรักษาแบบประคับประคอง ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

2. การรักษาทั่วไป

เช่น

  1. ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ
  2. ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ พิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก
  3. ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการเขียวหายใจเร็ว หอบชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม
  4. ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบ
  5. ให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ ในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แต่เสมหะยังเหนียวอยู่
  6. นอกจากนี้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้ และถ้าหากผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ จะพิจารณาใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ

การป้องกันโรคปอดอักเสบ

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆ ไปในสถานที่ดังกล่าว

2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะทุพโภชนาการ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

3. ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย และผู้ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

4. ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล

5. ให้วัคซีนป้องกันโรคในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยวัคซีนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในชุมชน คือวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ มีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส จึงควรฉีดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี), ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่ได้ไม่ดี, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง, พิษสุราเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมีความปลอดภัยสูงมาก หากจำเป็นต้องฉีดทั้งสองชนิดสามารถฉีดพร้อมกันได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้แก่ อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งสามารถรักษาตามอาการได้ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนนั้นถือว่าคุ้มค่ามากและแนะนำว่าผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นสมควรมารับการฉีดวัคซีนทุกคนค่ะ

 

บทความโดย : พญ. ชญาณิศา เมฆพัฒน์ อายุรแพทย์โรคระบบทางดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up