สธ.คาดพบผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย จากยุงก้นปล่องเพิ่มขึ้น

Alternative Textaccount_circle
event

สธ.คาดพบผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย จากยุงก้นปล่องเพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชนบทชายป่า หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ทำให้มีโอกาสเกิดโรค และมีผลกระทบต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนได้

สถานการณ์ โรคไข้มาลาเรีย ในไทย 2565

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ไข้มาลาเรียในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 13 ก.ค. 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 4,765 ราย มากกว่าจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อในปี 2564 ถึง 2.6 เท่า

กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 25-44 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี  และอายุ 5-14 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ตาก 2,724 ราย  แม่ฮ่องสอน 757 ราย และกาญจนบุรี 429 ราย ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 48.0)  รับจ้าง (ร้อยละ 25.0) และเด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 24.0)

ชนิดเชื้อส่วนใหญ่ คือ P.vivax (ร้อยละ 93.8) รองลงมา P.falciparum (ร้อยละ 3.0)  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเชื้อ P.vivax จะเป็นเชื้อชนิดรุนแรงน้อยกว่า P.falciparum แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี ทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียแบบเป็น ๆ หายๆ

โรคไข้มาลาเรีย
สธ.คาดพบผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย จากยุงก้นปล่องเพิ่มขึ้น

โรคไข้มาลาเรีย คืออะไร

ไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน

อาการของมาลาเรีย

อาการของมาลาเรียจะแตกต่างกันไป ระยะเวลาที่เกิดจะขึ้นอยู่กับชนิดของโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุ โดยอาการของมาลาเรียที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • เหงื่อออกมาก
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ท้องเสีย
  • ภาวะโลหิตจาง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อาการหมดสติไม่รับรู้ต่อการกระตุ้นต่าง ๆ หรือโคม่า

การรักษามาลาเรีย

มาลาเรียรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์จะรักษาด้วยการดูแลประคับประคองอาการ รวมทั้งบำบัดรักษาภาวะแทรกซ้อน และให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย (Antimalarial) ซึ่งการเลือกชนิดของยา หรือรูปแบบการให้ยา จะประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชนิดของโปรโตซัว ความรุนแรงของอาการ อายุของผู้ป่วย การตั้งครรภ์ รวมไปถึงการดื้อยา

การป้องกันโรค

ผู้ที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดได้ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อน และปกปิดร่างกายได้อย่างมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว
  • ใช้ยาที่มีสารไล่แมลงทาผิวหนัง ซึ่งสารไล่แมลงที่มีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่ สาร Diethyltoluamide: DEET ซึ่งมีจำหน่ายทั้งรูปแบบสเปรย์ โรลออน แบบแท่งและครีม โดยอาจต้องทาซ้ำบ่อย ๆ เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก
  • นอนในมุ้ง หรือบริเวณที่ปลอดจากยุง อาจใช้มุ้งชุบยาไล่ยุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
  • หากสงสัย หรือต้องการตรวจสอบการระบาดของมาลาเรีย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบและหาข้อมูลได้จากกรมควบคุมโรค โทร. 1422 เพื่อการป้องกัน

มาลาเรียป้องกัน และ รักษาได้ ขอเพียงคุณพ่อุณแม่ระมัดระวัง ปฏิบัติตัวตามำแนะนำด้านการป้องกัน เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงของการระบาดมายังลูกน้อยได้แล้วค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

The Coverage, pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 สติ๊กเกอร์กันยุง สำหรับเด็ก ติดแน่น ปลอดภัย ไล่ยุง

รวม 15 สเปรย์กันยุง สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็ก ฉีดกันไว้ก่อนยุงกัด ยี่ห้อไหนดี

ลูกแพ้ยุง โดนยุงกัดทีไร เป็นผื่นแพ้ยุง ทำยังไงดี?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up