เด็กเล็กติดโควิด

วิกฤต! เด็กเล็กติดโควิด ทะลุหมื่นราย แรกเกิด-6ขวบ อาการหนักเฉียดพัน!

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กเล็กติดโควิด
เด็กเล็กติดโควิด

เด็กเล็กติดโควิด – สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง ในรอบเพียง 7 เดือน ที่ผ่านมามีเด็กปฐมวัยติดเชื้อไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นสามพันราย และมีเด็กที่มีอาการป่วยหนักเกือบแปดร้อยราย จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะคนในครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกเพราะการหาสถานที่รักษาสำหรับเด็กที่ติดเชื้อในปัจจุบันค่อนข้างทำได้ยาก

วิกฤต! เด็กเล็กติดโควิด ทะลุหมื่นราย แรกเกิด-6ขวบ อาการหนักเฉียดพัน!

สถิติที่เปิดเผยโดยกรมอนามัย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 25 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อโควิด-19  13,444 ราย โดยในจำนวนนี้ มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเด็กทั้ง 2 ราย ที่เสียชีวิต เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงและสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว

คำแนะนำในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาด จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

1. ยังไม่แนะนําวัคซีนโควิดสําหรับเด็กทั่วไป ที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิดในเด็กเพิ่มเติม

2. ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีเด็กที่มีโรคประจําตัว แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธรณสุขรับรอง ซึ่งโรคที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น

3. แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน

4. แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท

5. แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

เด็กเล็กติดโควิด
เด็กเล็กติดโควิด

​นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในปัจจุบันว่า ขณะนี้วัคซีนโรคโควิดที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

สำหรับวัคซีน Sinovac แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิดในเด็ก และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่างๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต

​ทั้งนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก เว้นห่างไว้ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัด ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนี้

1. เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

2. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหาร ผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร

3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ

4. ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณี และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน ‘ไทยเซฟไทย’ ทุกวัน หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก หายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที

เด็กเล็กติดโควิด

สำหรับประเทศในแถบอาเซียนที่มีเด็กปฐมวัยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดมีรายงานว่า มีเด็กปฐมวัยในอินโดนีเซียเสียชีวิตแล้ว กว่า 800 คน โดยสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเด็กอินโดนีเซียที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ต่อไปนี้

  • มะเร็ง
  • ไตเรื้อรัง
  • ขาดสารอาหาร
  • โรคอ้วน
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • วัณโรค
  • โรคแทรกซ้อนอื่นๆ

อาการเสี่ยงป่วยในเด็ก ที่ต้องรีบพาไปพบแพทย์

  • มีอาการหายใจหอบ ซึ่งในเด็กปกติ เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ควรหายใจ ประมาณ 50 ครั้งต่อนาที อายุ 2-12 เดือน ควรหายใจประมาณ 40 ครั้งต่อนาที อายุ 1-5 ปี ควรหายใจประมาณ 30 ครั้ง ต่อนาที และอายุ 5 ปี ขึ้นไป ควรหายใจ ประมาณ 20-24 ครั้งต่อนาที
  • มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส 
  • หายใจลำบาก ต้องใช้แรงในการหายใจ  หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย อกบุ๋ม ซี่โครงบานเวลาหายใจ
  • ระดับอ๊อกซิเจนปลายนิ้ว วัดได้ ต่ำกว่า 96%
  • มีอาการซึม ร้องไห้งอแง เบื่ออาหาร ทานอาหารไม่ค่อยได้

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรให้ความสำคัญ  ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว  แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ควรปฏิบัติตัวตามาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย ได้แก่สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งล่าสุด ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธ์เดลต้า แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ไม่ต่างจากคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดี CDC เผยว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ พูดคุยกับลูกให้เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน หรือใส่ใจสุขอนามัยส่วนตัวที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ เกิดทักษะความฉลาดที่รอบด้านด้วยด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQได้อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : thairath.co.th , Thai PBS , posttoday.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หมอสูติตอบชัด! คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดอย่างไรให้..ปลอดภัยทั้งแม่ลูก

ติดโควิด 5 วิธีกักตัวที่บ้าน ดูแลตัวเองและลูกๆ ระหว่างรอเตียง

เช็กสิทธิรับ เงินเยียวยาโควิด ม.33 ม.39-40 ต้องทำยังไง ได้เงินวันไหน?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up