คุมกำเนิด ผู้ชาย ทำหมันชาย

การคุมกำเนิดแบบใหม่สำหรับผู้ชาย มีสวิตช์ปิด-เปิดได้ตามใจ!

Alternative Textaccount_circle
event
คุมกำเนิด ผู้ชาย ทำหมันชาย
คุมกำเนิด ผู้ชาย ทำหมันชาย

ถือเป็นข่าวดีสำหรับทั้งโลกวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เมื่อมีการเปิดตัววิธีคุมกำเนิดแบบใหม่สำหรับผู้ชายในรูปแบบสวิตช์ปิด-เปิดได้ นั่นหมายถึง เมื่อคุณอยากมีลูก ก็แค่เปิดสวิตช์ และหากต้องการคุมกำเนิด ก็ปิดสวิตช์ ง่ายจนไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะ

ผู้ปิ๊งไอเดียนี้คือ Clemens Bimek ช่างไม้ชาวเยอรมัน และเขาได้นำความคิดนี้ไปเสนอกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างมาเป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้ว และเขาก็เป็นผู้ร่วมทดสอบอุปกรณ์นี้เองด้วย “สวิตช์” คุมกำเนิดที่ว่านี้จะปิด-เปิดการหลั่งอสุจิทางท่อปัสสาวะ ผลิตภัณฑ์นี้จดสิทธิบัตรในชื่อ Bimek SLV มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบแล้ว และกำลังจะทดสอบทางการแพทย์กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 25 คนในปีนี้ เพื่อประเมินทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพของอุปกรณ์

สวิตช์ Bimek SLV ขนาดจิ๋วนี้ทำจากวัสดุชื่อ PEEK-OPTIMA ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ใช้ทำอวัยวะเทียม มีความยาวแค่ 1.8 เซนติเมตร น้ำหนักเบาเพียง 2 กรัมเท่านั้น แพทย์จะผ่าตัดอุปกรณ์นี้ติดเข้ากับหลอดนำอสุจิโดยใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง เมื่อฝังเข้าไปแล้ว คุณผู้ชายจะ “สัมผัส” สวิตช์ได้บริเวณผิวของถุงอัณฑะ และเปิด-ปิดเพื่อควบคุมการหลั่งอสุจิได้ตามต้องการ ซึ่งในขณะปิดสวิตช์ไม่ให้อสุจิหลั่งออกมาได้นั้นแปลว่า โอกาสในการตั้งครรภ์จะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ Hartwig Bauer ผู้ที่ผ่าตัดฝังสวิตช์ให้กับคุณ Bimek แสดงความคิดว่าสวิตช์นี้น่าสนใจกว่าการผ่าตัดทำหมันชายโดยการตัดและผูกหลอดนำอสุจิ (Vasectomy) นพ. Bauer กล่าวว่า “หนึ่งในสามของผู้ที่ผ่าตัดทำหมันมักจะต้องการให้ผ่าตัดแก้กลับ แต่ก็ไม่ได้ผลเสมอไป”

แต่แพทย์บางส่วนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อยู่บ้าง โฆษกของสมาคมศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะเยอรมัน นพ. Wolfgang Bühmann บอกว่า “คาดว่าการฝังอุปกรณ์นี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตรงจุดที่สัมผัสกับหลอดนำอสุจิ และแผลเป็นดังกล่าวอาจอุดกั้นการหลั่งของอสุจิแม้สวิตช์จะเปิดอยู่ หรือหากปิดสวิตช์ไว้นานเกินไปอาจมีปัญหาการอุดตันของหลอดนำอสุจิได้”

ส่วนประเด็นการแพ้วัสดุที่นำมาทำสวิตช์นั้น คุณ Anneke Loss หัวหน้าหน่วยทดสอบของศูนย์ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในเมืองฮันโนเวอร์กล่าวว่า “พื้นที่อื่นๆ ของร่างกายเรายอมรับอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์อื่นที่ทำจากวัสดุนี้ได้ดี ปัญหามีเพียงว่าอุปกรณ์นี้จะก่อให้เกิดปัญหาเมื่อถูกฝังไว้ตรงจุดนี้หรือไม่”

 

ที่มา

  1. IFLScience.com
  2. telegraph.co.uk

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ: bimek.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up