ทักษะพูดของเด็กนิวซีแลนด์ด้อยลง เหตุจากสื่อไอที และพ่อแม่ไม่มีเวลา!

ทักษะพูดของเด็กนิวซีแลนด์ด้อยลง เหตุจากสื่อไอที และพ่อแม่ไม่มีเวลา!

Alternative Textaccount_circle
event
ทักษะพูดของเด็กนิวซีแลนด์ด้อยลง เหตุจากสื่อไอที และพ่อแม่ไม่มีเวลา!
ทักษะพูดของเด็กนิวซีแลนด์ด้อยลง เหตุจากสื่อไอที และพ่อแม่ไม่มีเวลา!

ความสามารถในการสื่อสารความคิดของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่เด็กจะพัฒนาการรับรู้และนำไปใช้ในการเรียนต่อไปในอนาคต

ที่ประเทศนิวซีแลนด์พบว่าในกลุ่มเด็กที่เข้าเรียนชั้นประถม มีจำนวนเด็กที่สามารถพูดเป็นประโยคได้น้อยลง ผู้บริหารโรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสงสัยกันว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาแย่ลงอาจเป็นเพราะเด็กๆ อยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์บ่อยเกินไป และพ่อแม่ยุ่งกับงานจนไม่ค่อยมีเวลาคุยกับลูกมากพอ

จากการสำรวจในโรงเรียนบางแห่งพบว่ามีเด็กจำนวนมากพอควรเลยทีเดียวที่ไม่สามารถถามคำถามเกี่ยวกับรูปภาพได้ หรือทำตามคำสั่งเวลาจับกลุ่มให้พูดคุยกับเด็กคนอื่นไม่ได้ เด็กเข้าชั้นประถมใหม่ๆ อาจมีความสามารถในการพูดเท่ากับเด็ก 2-3 ขวบ และแม้แต่เด็กที่ครูประเมินว่า “ปานกลาง” ก็มักมีความสามารถเท่ากับเด็กวัย 5 ขวบเท่านั้น

คุณจูลี โคแวน รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งเชื่อว่ามีหลายสาเหตุ “อาจมีส่วนจากการที่เด็กใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์ต่างๆ และดูโทรทัศน์มากขึ้น ถ้าพูดในแง่พ่อแม่ คุณอาจจะยุ่งมาก ต้องไปทำงานและพาลูกไปส่งที่นั่นที่นี่ เราใช้เวลาพูดกับลูกมาก แต่เราอาจไม่ได้ “คุย” กับลูกเสมอไป”

ดร.แจนนีส์ แวน ฮีส์ จากมหาวิทยาลัยแห่งโอ๊คแลนด์ ได้วิจัยเรื่องภาษาพูดในชั้นเรียนของเด็กวัย 5 และ 6 ขวบ เธอพบว่าเด็กในชุมชนที่โอกาสน้อยจะเข้าโรงเรียนโดยมีคำศัพท์ในการสื่อสารน้อยกว่า 3,000 คำ ในขณะที่เด็กในชุมชนที่มีโอกาสดีกว่ามีคลังศัพท์อย่างน้อย 6,000 คำ แตกต่างกันถึงสองเท่า! แต่ ดร.แจนนีส์กล่าวว่าหากจะระบุสาเหตุที่ชัดเจนและแนวโน้มในอนาคตคงต้องศึกษาเพิ่มเติม

การพูดคุยกับลูกเป็นเรื่องง่ายมาก แถมไม่เสียเงินด้วย สิ่งสำคัญคือ อย่า “พูด” กับลูก แต่ให้ “คุย” กับลูก ค่ะ

ช่วยลูกฝึกพูดได้ ง่ายนิดเดียว!

  • ทำกิจกรรมง่ายๆ กับลูก และคุยกับลูกไปด้วย คุยเยอะๆ
  • บอกคำและวลีง่ายๆ กับลูก แต่ต้องให้ได้ลูกลองใช้คำใหม่บ่อยๆ ด้วย
  • อ่านออกเสียงให้ลูกฟังและให้เวลาลูกได้คิดว่าเขาได้ยินอะไรไปบ้าง ถามคำถามปลายปิด (มีคำตอบเดียว) และคำถามปลายเปิด (คำตอบหลากหลาย) หลายๆ คำถาม
  • พยายามคุยกับลูก ไม่ใช่พูดกับลูก
  • ชักชวนให้ลูกเล่าเรื่องที่ชอบจากหนังสือ หรือเล่าสิ่งที่เขาพบเจอมาด้วยคำพูดของเขาเอง

 

ที่มา: NZ pupils struggling to speak – National – NZ Herald News

แปลและเรียบเรียง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up