เด็กชอบอ่านจนเป็นกิจวัตรสำคัญอย่างไร

ประโยชน์ 8 อย่างที่ลูกจะได้หากชอบอ่านหนังสือ

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กชอบอ่านจนเป็นกิจวัตรสำคัญอย่างไร
เด็กชอบอ่านจนเป็นกิจวัตรสำคัญอย่างไร

มาดูในรายละเอียดกันว่า ประโยชน์ของ “การอ่าน” ที่ไม่ใช่แค่การ “อ่านออก” แต่เป็นประโยชน์ของการ “ชอบอ่าน” และ “อ่านได้มากพอ” จนเป็นกิจวัตร นั้นคืออะไร ซึ่งหมอเชื่อว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้รู้ ก็จะได้คำตอบว่า การส่งเสริมให้ลูกหลานให้อ่านนั้น จำเป็นแค่ไหน

1. กระตุ้นการทำงานของสมอง

ในเวลาแค่ช่วงสั้น ๆ ที่เด็กอ่านคำ 1 คำ สมองของเด็กจะถูกกระตุ้นให้ทำงานหลายบริเวณ ทั้งส่วนที่ทำหน้าที่รับภาพ แปลตัวอักษรให้เป็นหน่วยเสียง ถอดรหัสตัวสะกด ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการตีความ.. เรียกได้ว่าการอ่านหนังสือแต่ละคำ แต่ละประโยคนั้น กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองไปในบริเวณกว้าง

จากการศึกษาการทำงานของสมองที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่า สมองของ “คนที่ได้เรียนรู้การอ่าน” จะมีรูปแบบการทำงานและมีโครงสร้างของสมองบางส่วนแตกต่างออกไปจากคนที่ไม่รู้หนังสือ หรืออาจเรียกได้ว่า “การอ่าน” มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานและโครงสร้างของสมอง และ “สร้างสมอง” ที่พร้อมต่อการเรียนรู้

การเตรียมสมองนี้สำคัญมากในเด็กเล็ก (ภายใน 10 ปีแรก) เพราะสมองของเด็กยังอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต และเพิ่มสายใยประสาทเชื่อมระหว่างเซลล์ ซึ่งถ้าเซลล์ประสาทเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม สมองก็อาจจะสูญเสียการการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเซลล์นั้น ๆ ไปได้ (Neural pruning)

2. พัฒนาทักษะทางภาษา

นอกจากการอ่านหนังสือจะช่วยเพิ่มจำนวน “คำศัพท์” ในคลังสมองของเด็กให้มากขึ้นแล้ว การอ่านยังเป็นผลดีต่อการใช้ภาษาในด้านอื่น ๆ ทั้งในด้าน “การพูด” และ “การเขียน” ของเด็กอีกด้วย เพราะเมื่อเด็กได้อ่านหนังสือบ่อย ๆ ความคุ้นเคยกับคำศัพท์และภาษาในหนังสือก็จะส่งอิทธิพลต่อการใช้ภาษาของตัวเด็กเอง และนำไปสู่การใช้ภาษาที่คล่องแคล่วและสละสลวยมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศ หนังสือจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับภาษาและเรียนรู้การใช้ภาษาที่สองในบรรยากาศสนุกสนาน

3. สร้างความจำที่ดี

การอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในอ่านหนังสือ นั้นดูเหมือนว่าจะมีเรื่องให้ต้องจำเยอะแยะไปหมด ไหนจะตัวละคร ไหนจะฉาก แถมบางทีเนื้อหาก็แสนจะซับซ้อน แต่ด้วยความอัศจรรย์ของสมอง เด็กที่สนุกกับการอ่านก็กลับจำข้อมูลมากมายเหล่านั้นได้ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลและต่อยอดความจำไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะกระบวนการที่ได้ฝึกบ่อย ๆ นี่ก็เป็นได้

ที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายฉบับนำเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจว่า การอ่านหนังสือส่งผลดีต่อความจำ และการอ่านหนังสือเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเยาว์จะช่วยถนอมความจำในเวลาที่เข้าสู่วัยชรา ช่วยทำให้นักอ่านมีความจำถดถอยน้อยกว่าคนทั่วไป และเป็นปัจจัยป้องกันการเกิดอาการของโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ได้

4. เป็นแหล่งเรียนรู้และจุดประกายความคิดวิเคราะห์

โดยธรรมชาติของคนนั้น เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่พบเจอ แต่เมื่ออยู่ในโลกที่แสนกว้างใหญ่นี้ “เด็กตัวน้อย ๆ จะออกไปเรียนรู้ยังไงไหว” โชคดีที่เรามีหนังสือทำหน้าที่ย่อโลกลงมาไว้ในฝ่ามือ และนำเด็กไปสู่ประสบการณ์ที่หลากหลายในหน้ากระดาษ ให้เด็กได้หัดคิดวิเคราะห์ เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเด็กจะได้ลองผิดลองถูกไปในโลกของความคิด เพื่อเก็บเกี่ยวเอาบทเรียนและแง่คิดกลับมาใช้ประโยชน์ในโลกความเป็นจริง

read-daily2

ความคิดของเด็กจะแตกออกไปอีก ถ้าผู้ปกครองหาโอกาสชวนเด็กร่วมพูดคุย อภิปรายถึงเรื่องราวและแง่คิดที่เด็กเรียนรู้มาจากในหนังสือ และจูงใจให้เด็กได้สนุกกับการค้นคว้าหาแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

5. เพิ่มพลังจินตนาการ

หนึ่งในเสน่ห์พิเศษที่ทำให้นักอ่านหลงรัก “หนังสือ” ก็คือ หนังสือจะพานักอ่านเข้าสู่โลกแห่งจินตภาพ (การคิดเป็นภาพ) ที่แตกต่างกันไปตามความคิดฝันของแต่ละคน จินตนาการของเด็กจึงถูกปลุกให้โลดแล่นไปอย่างอิสระผ่านการร้อยเรียงของตัวหนังสือ

6. รู้จักที่จะมองในมุมของคนอื่น

ความเข้าใจในมุมมองและความรู้สึกของบุคคลอื่น (ซึ่งอาจคิดเห็นหรือรู้สึกไม่ตรงกับเรา) เป็นพัฒนาการด้านจิตใจที่สำคัญและเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ขณะที่ได้อ่านนั้น เด็กจะได้สัมผัสเรียนรู้ความคิดและจิตใจของตัวละครต่าง ๆ ที่อาจมีมุมมองความเห็นแตกต่างไปจากตน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการศึกษาระบุว่าการอ่านหนังสือจะช่วยให้เด็กละเอียดอ่อนกับความรู้สึกและต้องการของคนอื่น และรู้จัก “ใจเขาใจเรา” มากขึ้น

7. ผ่อนคลายความตึงเครียด

หลายคนอาจมองว่าการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดเลยไม่นึกอยากหยิบหนังสือมาเป็นเครื่องมือคลายเครียด แต่ความจริงแล้ว เคยมีการศึกษาโดย Consultancy Mindlab International ใน มหาวิทยาลัยซูสเซสพบไว้ว่า การอ่านหนังสือนี่แหละเป็นกิจกรรมที่ใช้ลดระดับความเครียด (ซึ่งวัดจากความตึงกล้ามเนื้อและอัตราการเต้นของหัวใจ) ที่ได้ผลดียิ่งกว่าการฟังเพลง จิบชา เดินเล่น หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์เสียอีก เพราะหนังสือจะช่วยให้ผู้อ่านได้พักพิงอยู่กับเรื่องราวในหน้ากระดาษ พักหลบออกจากความเครียดในโลกความจริง และการอ่านหนังสือดี ๆ ก่อนนอนสักเล่ม ก็จะช่วยให้จิตใจสงบและหลับสบาย

8. ช่วยสานสัมพันธภาพ

ผู้ปกครองบางคนอาจจะกังวลว่า เด็กที่เป็นหนอนหนังสืออาจจะกลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่สนใจจะสร้างปฏิสัมพันธ์อะไรกับใคร.. เพราะมองในมุมว่าการอ่านนั้นเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้..แต่ความจริงแล้ว หากเรานำ “การอ่านหนังสือ” มาใช้ให้ถูกทาง กิจกรรมนี้จะเป็นสื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี

การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ชวนเด็กมาอ่านหนังสือด้วยกัน หรือแม้แต่ชวนเด็กพูดคุยถึงเรื่องที่ได้เรียนรู้มาจากหนังสือ เหล่านี้ล้วนทำให้เด็กและผู้ใหญ่ได้แบ่งปันเรื่องราวกัน ได้รู้ว่าต่างคนต่างคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เกิดความเข้าอกเข้าใจกันอย่างเป็นธรรมชาติ และบ่อยครั้งเด็กๆ ก็มักจะพูดถึงเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึกสุข ทุกข์อึดอัดคับข้องใจที่เกิดขึ้นกับเขาในชีวิตประจำวัน จากการพูดคุยเรื่องราวในหนังสือนี่เอง และการใช้เวลาพูดคุยร่วมกันในครอบครัว (quality time) นี้ ก็จะนำไปสู่บรรยากาศในบ้านที่อบอุ่นและเป็นสุข

 

จากบทความเรื่อง : รู้ให้ถูก! การอ่าน…แท้จริงคืออะไร ช่วยเด็กไทย (ไม่) เอียนอ่าน (เด็ก “ชอบอ่าน” จนอ่านได้เป็น “กิจวัตร” สำคัญอย่างไร) นิตยสารเรียลพาเรนติ้งฉบับเดือนมีนาคม 2558

บทความโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้เขียนหนังสือ “อ่านสร้างสมอง”

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up