ถึงจะหย่าแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังช่วยกันดูแลลูกได้เหมือนเดิม ด้วยหลัก Co-Parenting (มีคลิป)

Alternative Textaccount_circle
event

ต้องยอมรับว่าครอบครัวในปัจจุบันนั้นมีลักษณะต่างจากเมื่อก่อนมาก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าครอบครัวไทยในปัจจุบันหย่าร้างสูงเกินปีละแสนคู่ โดยมีอัตราการหย่าเพิ่มขึ้น 27% ในรอบ 9 ปี

ด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงสามารถทำงานได้รายได้สูงๆ และพึ่งพาตัวเองได้ เราจึงพบเห็นครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การที่เด็กๆ มีพ่อหรือแม่เป็นผู้ดูแลเพียงคนเดียวนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อาจจะดีกับเด็กๆ มากกว่าหรือไม่ หากพ่อกับแม่ที่เลิกรากันไปสามารถคงความเป็นเพื่อนต่อกัน และแบ่งหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทั้งพ่อและแม่

แน่นอนว่าหลังการหย่าร้างใหม่ๆ คงเป็นเรื่องยากที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง เมื่อพ่อและแม่ต่างเอาความรู้สึกของลูกเป็นที่ตั้ง เรื่องที่คิดว่ายากจะกลับกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงทำตามหลักการที่ถูกต้องของการดูแลลูกร่วมกัน (Co-Parenting) บวกกับความรักที่พ่อและแม่ต่างมีให้กับลูกอย่างสุดหัวใจ ลูกๆ ก็จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพค่ะ เรามาดูคลิปของครอบครัวหนึ่งที่สหรัฐฯ กันค่ะ ว่าพวกเขาดูแลลูกร่วมกันอย่างไร

หลักการดูแลลูกร่วมกัน (Co-Parenting) สำหรับครอบครัวที่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่นั้นต้องยึดเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองมาเปรียบเทียบวิธีการ Co-Parenting ที่ผิดกับวิธีที่ถูกกันดีกว่าค่ะ

      Co-Parenting แบบผิดๆ

  • ไม่ยอมให้อีกฝ่ายพบหน้าลูก
  • พาลูกไปโดยไม่แจ้งให้อีกฝ่ายรู้ล่วงหน้า
  • ไม่ให้อีกฝ่ายเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับลูก

 

      Co-Parenting ที่ถูกวิธี

  • ผู้ปกครองที่สนับสนุนให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอีกฝ่าย รวมทั้งคู่สมรสใหม่ของอีกฝ่ายด้วย
  • ผู้ปกครองที่ให้อีกฝ่ายติดต่อและพบปะกับลูกอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ปกครองที่คำนึงถึงสิทธิ์และความรู้สึกของลูกมาเป็นอันดับแรก

เมื่อพ่อกับแม่เปิดใจและยอมรับความเป็นเพื่อน ลูกๆ ก็คือผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดค่ะ เด็กๆ จะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ไม่รู้สึกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้คุกคามและเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องของการรู้จักให้อภัย การเสียสละ และความประนีประนอมยอมความกัน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังได้แบ่งเบาภาระของการเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวอีกด้วยค่ะ

ความรักไม่มีรูปแบบตายตัว กำหนดไม่ได้ว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบของครอบครัวที่มีครบทั้งพ่อแม่และลูกอย่างเดียวเท่านั้น ลูกๆ ยังสามารถเติบโตด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักจากทั้งพ่อและแม่แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันค่ะ

ที่มา:http://www.marketingoops.com/media-ads/social-media/

http://www.thaihealth.or.th/Content/23853

Co-Parenting

https://strongstepmomawarenesscampaign.wordpress.com/category/strong-stepmom-awareness-campaign/

http://articles.familylobby.com/608-five-reasons-why-co-parenting-is-the-best-opt.htm

คลิปจาก: CBS Channel

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up