“เถียงกับลูกไม่มีวันชนะหรอก” แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไรล่ะ เมื่อต้องกำราบเจ้าตัวป่วน

Alternative Textaccount_circle
event

คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าตัวแสบคงรู้ดีว่า เมื่อเจ้าหนูเล่นบทร้ายขึ้นมา จะเกลี้ยกล่อมหรือหลอกล่อยังไงก็มีแต่จะเพลี่ยงพล้ำเสียรู้เจ้าหนูเข้าจนได้ งั้นเรามาดูวิธีเจรจากับเจ้าตัวแสบจากผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่า ครั้งหน้าคุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่พลาดอีกค่ะ

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกรู้สึกอยู่ขณะนั้น บางครั้งพอลูกร้องโวยวาย คุณแม่ก็รีบขัดเจ้าหนูซะแล้ว ตัวอย่างเช่น “พอได้แล้วน่ะ หยุดร้องไห้ซะที ลูกยังไม่หิวตอนนี้หรอก เราเพิ่งกินข้าวกันไปเมื่อกี้เองนะ” คุณแม่ลองนีกดูสิว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร เมื่อลูกอยากกินขนมชิ้นนั้น แต่แม่ปฏิเสธสิ่งที่เขากำลังรู้สึก แถมยังบอกให้เค้าหยุดแสดงอารมณ์ออกมาอีก ขนาดผู้ใหญ่ที่ควบคุมตัวเองได้ยังโกรธเลย ถ้าโดนคนพูดด้วยแบบนี้ แล้วนับประสาอะไรกับเด็กน้อยที่ยังควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ล่ะคะ ครั้งต่อไปคุณพ่อคุณแม่จึงควรรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูกก่อน จากนั้นก็ทำตาม 4 ขั้นตอนนี้เลย

1. ตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด เมื่อลูกเหวี่ยงวีน และคุณแม่ก็ใกล้จะถึงจุดที่ปรี๊ดแตก คุณแม่มักจะเผลอหลุดคำพูดแบบนี้ออกมาบ่อยๆ

“เหล็กดัดฟันไม่เจ็บขนาดนั้นหรอกน่ะ แม่เสียค่าทำฟันไปเยอะแค่ไหนรู้มั้ย ยังไงลูกก็ต้องใส่ ห้ามถอดออก!”

“ทำไมลูกพูดแบบนั้น งานปาร์ตี้สนุกจะตาย ทั้งไอศกรีม เค้ก ลูกโป่ง ถ้างั้นปีหน้าไม่ต้องจัดอีกแล้ว!”

“ลูกไม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธครูเค้า ลูกผิดเองที่มาสาย!”

เมื่อพ่อแม่ไม่รับฟัง อารมณ์ต่อต้านของลูกจะยิ่งรุนแรงขึ้น ลองคิดดูสิ ถ้าหากคุณแม่บอกกับคุณพ่อว่า “ช่วงนี้ชั้นรู้สึกว่าคุณไม่สนใจชั้นเลย” แล้วคุณพ่อตอบกลับว่า “คุณน่ะคิดไปเอง ไม่มีอะไรซักหน่อย” คุณแม่จะโกรธคุณพ่อเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ดีงนั้นขั้นแรกของการกำราบตัวป่วนก็คือการฟังสิ่งที่เจ้าหนูรู้สึกอย่างตั้งใจก่อนค่ะ เมื่อเจ้าหนูรู้สึกว่าคุณแม่เข้าใจและรับฟัง อารมณ์ต่อต้านก็จะลดลง ทำให้เจ้าหนูสงบมากยิ่งขึ้นค่ะ

2. ตอบรับสิ่งที่ลูกรู้สึก เพียงพูดว่า “แม่เข้าใจความรู้สึกลูกจ้ะ” อย่างเดียวไม่พอค่ะ ลองนึกดูสิว่า หากมีใครคนหนึ่งมาบอกคุณว่า”ผมเป็นคนตลก” กับอีกคนที่ทำให้คุณหัวเราะท้องแข็งติดต่อกันอยู่เป็นครึ่งชั่วโมง ใครที่คุณจะคิดว่าตลกจริงๆ กันแน่ เวลาที่ลูกบอกความรู้สึกของตัวเองออกมา คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะสั่งสอนกลับไปทันทีค่ะ และนั่นจะยิ่งทำให้ลูกโมโหหนักขึ้น

เทคนิคง่ายๆ คือพูดประโยคที่มีความหมายเดียวกับสิ่งที่ลูกบอกมากลับไปค่ะ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องยอมทำตามใจของลูกไปหมดทุกอย่าง เพียงตอบกลับด้วยประโยคที่มีความหมายเดียวกัน แต่ให้อยู่ในขอบเขตที่คุณแม่เป็นคนกำหนด ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกบอกว่า “หนูเกลียดแม่!” คุณแม่อาจตอบว่า “แม่ไม่ชอบคำพูดของลูกเลย ถ้าลูกไม่ชอบอะไรที่แม่ทำ ลูกบอกแม่มาได้จ้ะ เราจะได้ปรับความเข้าใจกัน”

3. บอกลูกว่าความรู้สึกของเขาคืออะไร เพียงแค่คุณแม่บอกว่า “แม่ว่าลูกกำลังโกรธอยู่ใช่มั้ยจ้ะ” ก็ทำให้ลูกสงบลงได้แล้วค่ะ พ่อแม่บางคนไม่กล้าจะบอกออกไป เพราะคิดว่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแย่ลง แต่ความจริงแล้วการที่เราบอกลูกว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจ และยอมทำตามคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นค่ะ

4. ถามคำถาม เมื่อลูกสงบแล้ว ลองถามว่า “ลูกอยากให้แม่ทำยังไงจ้ะ” อย่างไรก็ตามถ้าสิ่งทึ่ลูกอยากได้ราคาแพงเกินไปหรือไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ค่อยอธิบายก็ได้ค่ะ ถ้าลูกยังดึงดันไม่ยอม คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบตั้งสติ แล้วย้อนไปทำตั้งแต่ข้อแรกใหม่ค่ะ ไม่นานลูกจะอารมณ์สงบลงได้ และบรรยากาศที่ตึงเครียดระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะลดลงค่ะ

ทดลองทำตามขั้นตอนนี้ดูนะคะ รับรองว่าจะช่วยกำราบเจ้าตัวป่วนได้แน่นอน ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและมีสติเสมอ ศึกครั้งหน้าอย่าลืมทดลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ดูนะคะ

ที่มา: http://truth2power-media.blogspot.com/2015/10/this-is-number-one-mistake-parents-make.html

ภาพจาก: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up