ได้เพิ่ม ค่าฝากครรภ์

แม่ท้องรับเพิ่ม ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคม เริ่ม 1 พฤษภาคมนี้

Alternative Textaccount_circle
event
ได้เพิ่ม ค่าฝากครรภ์
ได้เพิ่ม ค่าฝากครรภ์

ความสำคัญของการฝากครรภ์

การฝากครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญสิ่งแรกที่คุณแม่ต้องนึกถึงค่ะ เพราะเป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด โดยคุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันที และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง และตอบข้อสงสัยของคุณแม่ท้องได้ดี

ประโยชน์ของการฝากครรภ์

  1. เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติหรือไม่ เพราะแพทย์จะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส ติดเชื้อเอดส์ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อื่นๆ รวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของลูกน้อยในครรภ์ดูผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะได้ป้องกันแก้ไขได้ทัน หรือถ้าพบว่าภาวะโลหิตจาง จะได้ทำการหาสาเหตุ และใช้ยาบำรุงเลือดให้เข้มข้นมากขึ้น หรือเตรียมการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  2. ฝากครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์  การฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด และลูกเสียชีวิตในท้อง รวมถึงยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้ด้วย
  3. ป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์  ถ้าหากมีโรคแทรกซ้อนแพทย์จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เพื่อให้การตั้งครรภ์ จนถึงการคลอดเป็นไปอย่างปกติมากที่สุด เป็นต้น
  4. ช่วยดูแลทารกในครรภ์  ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
  5. ช่วยในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่   แพทย์ที่รับฝากครรภ์จะให้คำแนะนำ และตอบคำถามเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการปฏิบัติตน ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามหรือให้แพทย์ตรวจได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ คุณแม่ก็จะได้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากขึ้นค่ะ

ฝากครรภ์ คุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

การฝากครรภ์ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนการมีบุตรอย่างปลอดภัย โดยผู้ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ความดันโลหิตสูง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาการแพ้ต่างๆ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือซึมเศร้า รวมทั้งผู้ที่มีคู่ครองหรือบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมและมีเชื้อพาหะ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ โดยแพทย์ที่ควรไปพบเพื่อให้ช่วยดูแลสุขภาพตลอดการตั้งครรภ์นั้น ได้แก่

  • สูติแพทย์  คือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพครรภ์และคลอดบุตร โดยสูติแพทย์จะช่วยดูแลผู้ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพรวมทั้งผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ สตรีตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
  • พยาบาลผดุงครรภ์  คือ ผู้ที่ช่วยดูแลระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร โดยพยาบาลผดุงครรภ์นั้นต้องได้รับการฝึกฝนและขึ้นทะเบียนรับรอง นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสตรีมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำในการเกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลอดบุตร  คือ ผู้ที่ช่วยให้สตรีมีครรภ์คลอดบุตรได้ง่าย โดยจะทำงานร่วมกับพยาบาลผดุงครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลอดบุตรจะแนะนำเรื่องการหายใจ การผ่อนคลายร่างกาย การขยับร่างกาย และตำแหน่งของร่างกาย

ฝากครรภ์ ประกันสังคม

การตรวจครรภ์ตามนัด

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์กับแพทย์ โดยแพทย์จะนัดตรวจครรภ์ตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงตอนก่อนคลอด ซึ่งการนัดตรวจแต่ละครั้งมีรายละเอียด ดังนี้

  • นัดตรวจครั้งแรก  เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์ โดยแพทย์จะนัดตรวจครั้งต่อไปตามตารางนัดที่ให้แก่คุณแม่ การตรวจครรภ์ครั้งแรกมีรายละเอียด เช่น

          ♦ ให้ข้อมูลและประวัติการรักษา เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย ได้แก่ วันแรกของการมีรอบเดือน ครั้งล่าสุด ประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว การใช้ยาหรือรับประทานอาหารเสริมของผู้ตั้งครรภ์ ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ตั้งครรภ์เอง ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับวันที่รอบเดือนมานั้นจะช่วยคำนวณวันคลอดบุตรได้ โดยแพทย์จะนำวันแรกของรอบเดือนครั้งล่าสุดมาบวกเพิ่มอีก 7 วัน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 3 เดือน ซึ่งวันครบกำหนดคลอด จะกินเวลาประมาณ 40 สัปดาห์นับตั้งแต่วันสุดท้ายที่มีประจำเดือน

          ♦ ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเริ่มจากชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เพื่อประเมินระดับความยากง่ายในการคลอดธรรมชาติ ทั้งนี้ แพทย์ยังนำน้ำหนักมาเปรียบเทียบดูว่า คุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมหรือไม่ และต่อมาแพทย์จะวัดสัญญาณชีพจร รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปากและฟัน เต้านมและหัวนม หรือตรวจคลำหน้าท้อง เพื่อดูปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจช่องคลอดและปากมดลูก การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกและขนาดมดลูกจะช่วยระบุอายุครรภ์ให้ชัดเจนมากขึ้น สตรีมีครรภ์อาจต้องรับการตรวจภายใน เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย

          ♦ ตรวจเลือด เมื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อนำไปวินิจฉัยหมู่โลหิตระบบอาร์เอช ฮีโมโกลบิน, การติดเชื้อของระบบภูมิคุ้มกัน, ตรวจคัดกรองภาวะซีดและพาหะโรคธาลัสซีเมีย, ไวรัสตับอักเสบบี, ซิฟิลิส, เชื้อเอชไอวี, ตรวจปัสสาวะ และการติดเชื้ออื่นๆ 

ค่าฝากท้อง ประกันสังคม

  • นัดตรวจครั้งต่อไป หลังจากเข้ารับการตรวจครรภ์ครั้งแรกแล้ว แพทย์จะนัดตรวจครั้งต่อไป โดยการตรวจครรภ์แต่ละครั้ง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงอายุครรภ์ 4 – 28 สัปดาห์ ช่วงอายุครรภ์ 28 – 36 สัปดาห์ และช่วงอายุครรภ์ 36 ไปจนถึงครบกำหนดคลอด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

          ♦  4-28 สัปดาห์ ของอายุครรภ์  แพทย์จะนัดตรวจครรภ์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จะชั่งน้ำหนัก และวัดสัญญาณชีพจร ตรวจร่างกาย เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และทำอัลตราซาวน์ เพื่อประเมินอายุครรภ์ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่สามารถจำรอบเดือนครั้งล่าสุดได้ชัดเจน ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถซักถามข้อสงสัย หรือปรึกษาปัญหาต่างๆ กับแพทย์ได้ เมื่ออายุครรภ์ครบ 18-20 สัปดาห์ แพทย์จะอัลตราซาวน์อีกครั้งเพื่อประเมินความผิดปกติของทารก

          ♦ 28-36 สัปดาห์ ของอายุครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมาพบแพทย์เดือนละ 2 ครั้ง แพทย์จะตรวจความดันโลหิต และสัญญาณชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง รวมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนให้ด้วย

          ♦ 36 สัปดาห์ ไปจนถึงครบกำหนดคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์มาพบแพทย์สัปดาห์ละครั้ง  หากผู้ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี หรือมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพครรภ์สูง อาจจำเป็นต้องมารับการตรวจบ่อยกว่านั้น เบื้องต้น แพทย์จะตรวจความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ฟังการเต้นของหัวใจทารก และดูอาการดิ้น ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ควรบันทึกความถี่เมื่อรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นด้วย และแพทย์จะตรวจภายในให้คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อถึงวันกำหนดคลอด เพื่อดูว่าลักษณะของปากมดลูกเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับคลอดบุตรหรือไม่ โดยปากมดลูกจะอ่อนนุ่มขึ้น และค่อย ๆ ขยายออกกว้างและบางลง ปากมดลูกจะขยายกว้างถึง 10 เซนติเมตร และหดลงเมื่อคลอดทารกแล้ว

คุณแม่ๆจะเห็นได้ว่า การฝากครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณแม่ท้องมากๆเลยค่ะ เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ยิ่งตอนนี้มีการเพิ่ม ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคม แล้วเพราะฉะนั้น คุณแม่ๆเมื่อรู้ว่ากำลังตั้งท้อง ก็อย่าลือไปฝากครรภ์กันไว้ด้วยนะคะ 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก pptvhd36 / medthai / สำนักงานประกันสังคม

 

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

แม่ท้องระวัง ไข้มาลาเรีย เป็นแล้วอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูก

รวม 5 เมนูสตรอเบอรี่ สูตรเด็ดเพื่อแม่ท้อง

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในสตรีมีครรภ์ เรื่องที่คุณแม่ท้อง ต้องระวัง

คนท้องกินช็อกโกแลตได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือไม่

คนท้องดื่มชาเขียวได้ไหม? ดื่มมากไป เสี่ยงแท้ง จริงหรือ?

คนท้องดื่มน้ำขิงได้ไหม? เสี่ยงแท้งจริงหรือ?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up