[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 08] Craniosacral Therapy จัดกระดูกให้ลูกน้อยแฮปปี้

Alternative Textaccount_circle
event

“ลูกเราหันหน้าไปข้างเดียวนะ” คุณสามีตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตอนหนูเมตตาอายุได้แค่สองสามเดือน

 

ผู้เขียนนั่งดูลูกอย่างจริงจังอยู่หลายวัน แล้วก็เริ่มเห็นจริงตามนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราวางแกบนที่นอน หนูน้อยก็จะพลิกหันหน้าไปทางซ้ายโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะวางนอนหงายหรือนอนคว่ำ เมื่อมีโอกาสไปเข้ากลุ่มคุณแม่มือใหม่ (New Moms Group) ผู้เขียนเลยถามความเห็นของผู้นำกลุ่มและเพื่อนๆ คุณแม่คนอื่นๆ จนได้คำแนะนำว่า มีเด็กเล็กหลายคนเป็นแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะหันด้านใดด้านหนึ่งมากเป็นพิเศษตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พอคลอดออกมาก็เลยยังชินที่จะหันด้านนั้น พ่อแม่บางคนปล่อยไป ไม่ได้ทำอะไรก็หายได้เอง หรือถ้าเป็นห่วงกลัวลูกจะระเบียบร่างกายไม่ดี หรือมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างเช่นร้องไห้งอแง ดูท่าทางไม่สบายตัว ไม่ชอบ tummy time หรือไม่ยอมอ้าปากกว้างเวลาดูดนมอาจจะเป็นเพราะกะโหลกศีรษะไม่เข้าที่ จนบางรายเข้ารับการบำบัดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Craniosacral Therapy (เครนิโอเซครัลเธอราพี) ที่อาจจะช่วยให้ลูกสบายขึ้นได้

 

ฟังดูอาการต่างๆ ที่เล่ามา หนูเมตตาแกมีเกือบจะทุกข้อ โดยเฉพาะข้อที่ว่าร้องไห้งอแง ถึงใครจะบอกว่านี่เป็นช่วง “ร้องสามเดือน” โตกว่านี้ก็จะดีขึ้นเอง แต่ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นคุณแม่หมาดๆ แถมมีลูกร้องจ๊ากๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนได้ยินอย่างนี้ก็เหมือนมีคนมาส่องแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์ จึงรีบหาข้อมูลจนพบว่าที่พอร์ตแลนด์มี therapist ที่ดังมากชื่อ Carol Gray ถนัดทางบำบัดทารกแรกเกิดและคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกโดยเฉพาะ ออฟฟิศไม่ไกลจากบ้านผู้เขียนนัก (จริงๆ อะไรก็ไม่ไกลนักเพราะพอร์ตแลนด์เล็กนิดเดียว) แต่คิวแน่นมากจนกว่าจะนัดได้ก็ต้องรอไปอีกเป็นเดือน

 

ออฟฟิศของแครอลเป็นห้องสองคูหาบรรยากาศอบอุ่น เธอเป็นสาวใหญ่ใจดีวัยใกล้ห้าสิบ เคยเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ (midwife) ที่ไปศึกษาด้าน Craniosacral Therapy เพิ่มเติมจนได้ใบรับรองเป็นคนแรกๆ ของเมืองนี้ และตอนนี้เป็นครูที่มีลูกศิษย์จบไปแล้วหลายสิบรุ่น ผู้เขียนจึงค่อนข้างดีใจที่จะได้พิสูจน์ว่าการรักษาด้วยวิธีการชื่อยาวเรียกยากนี้จะได้ผลดีจริงอย่างที่หลายคนบอกมาไหม

 

การบำบัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่หมดไปกับการพูดคุยถามถึงประวัติและอาการต่างๆ ของลูกน้อย แครอลถามไปจดไปเต็มหน้ากระดาษ ในที่สุดก็บอกว่าได้เวลาลงมือบำบัดหนูเมตตา (เสียที) ว่าแล้วก็เริ่มต้นโดยให้ผู้เขียนเป็นคนอุ้มลูกไว้ แครอลใช้นิ้วมือแตะเบาๆ ไล่ไปตามกระโหลกศีรษะ คอ กระดูกสันหลัง และตามลำตัวของหนูน้อย ตลอดเวลาเด็กสามารถขยับตัวหรือกินนมแม่ไปด้วยได้ แครอลเองก็ยังพูดคุยตอบคำถามต่างๆ ของผู้เขียนโดยไม่ได้หยุดบำบัด หนูเมตตาซึ่งปกติไม่ชอบให้ใครจับใครอุ้ม กลับไม่ร้องแต่อย่างใด แถมพอแครอลขอเอาไปอุ้มไว้เพื่อจัดช่วงคอก็ยอมให้อุ้มจนหลับไปเสียอีก! ผู้เขียนมารู้ทีหลังว่าแครอลจับเด็กหลับคามือมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ คาดว่าเด็กคงจะสบายเลยหลับปุ๋ยกันไปเป็นแถว

 

ขั้นตอนที่แครอลลงมือนั้นสั้นมากเพียงไม่ถึงสิบนาที แต่ก็นานพอจะทำให้รู้ว่ากระโหลกศีรษะของเมตตายังเหลื่อมกันอยู่เล็กน้อย กระดูกคอบิดไปทางซ้าย ขณะที่กระดูกหน้าอกบิดไปทางขวา (อันนี้อธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียนเองนะคะ ไม่ขอยืนยันทางการแพทย์) แครอลเลยจัดการค่อยๆ ขยับให้เข้าที่ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างอ่อนโยนและเกิดขึ้นเร็วมากจนผู้เขียนเองยังสงสัยว่าจะได้ผลจริงหรือเปล่า แครอลบอกว่าให้กลับไปลองสังเกตดูความเปลี่ยนแปลง แล้วอีกเดือนสองเดือนค่อยพาเมตตากลับไปบำบัดอีกสักหนสองหนก็น่าจะเรียบร้อย

 

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะการบำบัด หรือเพราะผู้เขียนอุปาทานไปเอง หรือเพราะยังไงเสียหนูเมตตาแกก็จะหายเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทั้งผู้เขียนและสามีรู้สึกตรงกันก็คือ ลูกมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวมากขึ้นและหงุดหงิดน้อยลง (บ้าง) ดังนั้นสามสี่เดือนถัดมา ผู้เขียนจึงพาลูกไปบำบัดซ้ำอีก 2 ครั้ง จนแครอลบอกว่าไม่มีอะไรน่าห่วงแล้วละ จึงได้หยุดไป ตอนนี้ลูกสาวผู้เขียนอายุ 16 เดือน เริ่มเดินได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงขวบ และตอนนี้วิ่งอุตลุดหัวเราะร่าเริงทั้งวัน

 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงยังสงสัยว่า สรุปแล้วไอ้เจ้าการรักษาที่ว่านี่มันคืออะไรกันแน่ และดีจริงไหม จึงอยากจะเล่าเพิ่มเติมว่า Craniosacral Therapy (หรือ CST) นั้น คิดค้นขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูก John Upledger ซึ่งทำการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นเวลาสิบกว่าปี จนค้นพบว่าระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วยสมองและกระดูกสันหลังนั้น มีของเหลวซึ่งเคลื่อนตัวไปมาอยู่ในเยื่อหุ้มระหว่างกะโหลกศีรษะ/ใบหน้า/กราม (cranium) ลงไปจนถึงกระดูกก้นกบ (sacrum) ทำให้เกิดเป็นจังหวะบีบรัดและขยายตัวเบาๆ (craniosacral rhythm) ราว 6-12 รอบต่อนาที นักบำบัดที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี จะสามารถรับรู้ถึงจังหวะนี้ผ่านการสัมผัสตัวของผู้รับการบำบัด จนบอกได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่จุดใด และช่วยทำการบำบัดให้ craniosacral system กลับมาสู่ความสมดุล ผู้ได้รับการบำบัดจึงรู้สึกผ่อนคลายและมีการทำงานของร่างกายโดยรวมดีขึ้น สามารถบำบัดผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย แต่แครอลเน้นรักษาเด็กแรกเกิดเพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายยังอยู่ในการปรับตัว ถ้ามีความผิดปกติใดๆ จะได้รีบแก้ไขเสียตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนกระทั่งโต ผู้เขียนจึงรู้สึกดีใจที่พาลูกสาวไปจัดระเบียบร่างกายให้ถูกต้อง เรียกว่า off to a good start

 

แต่อย่างที่เล่าว่าการบำบัดแบบนี้มีความอ่อนโยนมาก (คือเบาเสียจนไม่แน่ใจว่าทำอะไรไปแล้วจริงๆ หรือ) และยังไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นหลายๆ คนจึงยังตั้งข้อสงสัย หรือถึงขั้นเรียกว่าเป็น pseudoscience กันทีเดียว ผู้เขียนคิดว่าก็คงเหมือนกับการแพทย์ทางเลือกหลายๆ อย่างที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจน ถามว่าลูกสาวผู้เขียนแข็งแรงสมบูรณ์ดีอย่างนี้เพราะไปบำบัดมาหรือเปล่า จะตอบว่าใช่ก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่ตอบว่าไม่ก็ยังลังเล เอาเป็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพลูกน้อยแบบองค์รวมที่อยากจะเอามาเล่าให้ฟังก็แล้วกันค่ะ

 

 

หมายเหตุ: ใครอยากเห็นแครอลทำการบำบัดทารกน้อย ลองเข้าไปเสิร์ชหาดูใน YouTube โดยพิมพ์คำว่า Carol Gray craniosacral therapy จะได้เห็นตัวอย่างหลายคลิปเลยค่ะ

 

ข้อมูล: www.upledger.com, www.carolgray.com

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up